คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2892/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 20 วรรคสองบัญญัติไว้ว่า คดีใดซึ่งศาลฎีกาได้พิจารณาพิพากษาแล้วคู่ความหามีสิทธิที่จะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาคัดค้านคดีนั้นต่อไปอีกไม่ ดังนั้น คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีนี้จึงเป็นอันถึงที่สุดแล้ว จะร้องคัดค้านหรือขอให้เพิกถอนหาได้ไม่ ผู้พิพากษาศาลฎีกาอีก 2 คนที่ได้ลงนามในต้นร่างคำพิพากษาแล้วแต่ได้เกษียณอายุราชการ 1 คน และย้ายไปดำรงตำแหน่งอื่น 1 คน ก่อนที่จะลงลายมือชื่อในคำพิพากษาดังบันทึกของประธานศาลฎีกาต่อท้ายคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวการที่องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาลงลายมือชื่อไว้ในต้นร่างคำพิพากษาย่อมแสดงแจ้งชัดแล้วว่าองค์คณะดังกล่าวมีความเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษานั้น เมื่อประธานศาลฎีกาจดแจ้งเหตุที่พิพากษาคนนั้นมิได้ลงลายมือชื่อโดยอ้างถึงการลงลายมือชื่อในต้นร่างคำพิพากษาเป็นสำคัญ จึงเป็นการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141 วรรคสองถือได้ว่ามีการร่วมปรึกษาครบองค์คณะตามกฎหมายและเป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยทั้งแปดโอนขายที่ดินแก่โจทก์ทั้งสองคนละ 25 ไร่ ในราคาไร่ละ 10,000 บาท หากไม่โอนให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งแปด
จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องคัดค้านคำพิพากษาศาลฎีกา และขอทุเลาการบังคับคดีหรืองดการบังคับไว้ก่อนจนกว่าจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยคดีนี้ตามที่ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาไว้แล้ว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ไม่มีเหตุตามกฎหมายให้ยื่นคำร้องได้ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดี และงดการบังคับคดีมาด้วยนั้น ปรากฏว่า ศาลฎีกาได้ทำคำพิพากษาในคดีที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์มาเสร็จแล้ว จึงไม่จำต้องสั่งคำร้องดังกล่าวอีก ส่วนที่จำเลยที่ 3 ขอให้พิจารณาเพิกถอนคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีนี้นั้น เห็นว่า ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 20 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า คดีใดซึ่งศาลฎีกาได้พิจารณาพิพากษาแล้ว คู่ความหามีสิทธิที่จะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาคัดค้านคดีนั้นต่อไปอีกไม่ ดังนั้น คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีนี้จึงเป็นอันถึงที่สุดแล้ว จะร้องคัดค้านหรือขอให้เพิกถอนหาได้ไม่และที่จำเลยที่ 3 คัดค้านอ้างว่าคำพิพากษาศาลฎีกามีผู้พิพากษาลงนามไม่ครบองค์คณะผู้พิพากษาสามคนเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 นั้น เห็นว่า ผู้พิพากษาศาลฎีกาอีก 2 คนนั้นได้ลงนามในต้นร่างคำพิพากษาแล้วแต่ได้เกษียณอายุราชการ 1 คน และย้ายไปดำรงตำแหน่งอื่น 1 คนก่อนที่จะลงลายมือชื่อในคำพิพากษาฉบับนี้ ดังบันทึกของประธานศาลฎีกาต่อท้ายคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว และการที่องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาลงลายมือชื่อไว้ในต้นร่างคำพิพากษาย่อมแสดงแจ้งชัดแล้วว่าองค์คณะดังกล่าวมีความเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษานั้นเมื่อประธานศาลฎีกาจดแจ้งเหตุที่ผู้พิพากษาคนนั้นมิได้ลงลายมือชื่อโดยอ้างถึงการลงลายมือชื่อในต้นร่างคำพิพากษาเป็นสำคัญจึงเป็นการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 141 วรรคสอง ถือได้ว่ามีการร่วมปรึกษาครบองค์คณะตามกฎหมายและเป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พิพากษายืน

Share