คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2890/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยท้ากันว่าถ้าที่ดินตาม ส.ค. 1 เลขที่ 64 อยู่ตรงที่ตั้งของที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 1949 โจทก์ยอมแพ้ หากตั้งอยู่ที่อื่นจำเลยยอมแพ้ โดยให้เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอเป็นผู้รังวัดตามหลักวิชา แต่การรังวัดตรวจสอบของเจ้าพนักงานที่ดินมิได้รังวัดด้านทิศเหนือ ทิศใต้และการรังวัดด้านทิศตะวันออกและตะวันตกก็ไม่มีเจ้าของที่ดินข้างเคียงมาระวังแนวเขต ดังนี้แม้เจ้าพนักงานที่ดินจะลงความเห็นว่าที่ดินตาม ส.ค.1 เลขที่ 64กับที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 1949 เป็นคนละแปลงกันก็มิใช่ความเห็นที่ได้มาโดยวิธีการรังวัดตรวจสอบที่ถูกต้องตามหลักวิชาตามคำท้า ถือว่ามิได้เป็นไปตามคำท้า จึงต้องดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไป.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินอยู่ที่หมู่ที่ 5 ตำบลเนินฆ้อ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ ต่อมาจำเลยนำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดเพื่อออก น.ส.3 และเจ้าพนักงานที่ดินได้ออก น.ส.3 ให้จำเลย ทับที่ดินส่วนหนึ่งของโจทก์ประมาณ14 ไร่ ขอให้ศาลสั่งแสดงว่าที่พิพาทที่จำเลยออกน.ส.3 เป็นของโจทก์
จำเลยให้การว่าจำเลยได้ที่พิพาทมาโดยทางพินัยกรรม เจ้าพนักงานได้ออกหนังสือ น.ส.3 ก. ให้จำเลยโดยถูกต้องตามกฎหมาย
ก่อนสืบพยานโจทก์ ทนายโจทก์แถลงว่าที่พิพาทคดีนี้ได้ออกน.ส.3 ก. เลขที่ 1949 โดยจำเลยอ้างเอา ส.ค.1 เลขที่ 64 ไปขอออกเป็นการออกผิดที่ จึงขอท้าว่าที่ดินตาม ส.ค.1 เลขที่ 64 อยู่ที่ใด ถ้าอยู่ตรงที่ตั้งของที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 1949 นี้ถูกต้อง โจทก์ยอมแพ้ หากตั้งอยู่ที่อื่น จำเลยยอมแพ้ โดยให้เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอเป็นผู้ทำการรังวัดตามหลักวิชา จำเลยยอมตกลง โจทก์จำเลยไม่ติดใจสืบพยานและสละประเด็นข้ออื่นทั้งหมด
เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอแกลง จังหวัดระยองได้รังวัดและตรวจสอบที่ดินตาม ส.ค.1 เลขที่ 64 ตามคำท้าแล้ว เชื่อว่า ส.ค.1 เลขที่ 64กับ น.ส.3 ก. เลขที่ 1949 เป็นคนละแปลงกัน ได้ทำหนังสือแจ้งผลการรังวัดให้ศาลทราบ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยเข้ามาเกี่ยวข้องและโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในที่ดินพิพาท ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) เลขที่ 1949 เลขที่ดิน 110ตำบลเนินฆ้อ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เสียเกินไปให้จำเลย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่าเจ้าพนักงานที่ดินทำตามหลักวิชาการในการรังวัดตรวจสอบที่ดินตามคำท้าของคู่ความทั้งสองฝ่ายหรือไม่ ศาลฎีกาได้ตรวจหนังสือที่ รย0220/3582 ลงวันที่ – สิงหาคม 2527 ของนายอำเภอแกลงแล้วอำเภอแกลงได้จัดให้นายนิธิพัฒน์ กาญจนกันติ เจ้าหน้าที่ที่ดิน 2ออกไปทำการรังวัดตรวจสอบที่ดินพร้อมทั้งคู่ความและทนายของทั้งสองฝ่ายรายงานว่าตามหลักฐานส.ค.1 เลขที่ 64 หมู่ที่ 5 แสดงเขตข้างเคียงทั้งสี่ทิศว่า
ทิศเหนือจดทางเกวียน ยาว 3 เส้น 5 วา เจ้าพนักงานที่ดินไม่สามารถทำการรังวัดได้ เพราะคู่ความมิได้สับถางแนวเขตไว้ให้สภาพเป็นป่าใหญ่สวนยางพาราเก่า
ทิศใต้จดคลองยาว 3 เส้น 5 วา ปัจจุบันเป็นสวนทุเรียนของโจทก์ซึ่งไม่ปรากฏสภาพคลองหรือลำรางแต่อย่างใด มิได้รังวัดเพราะคู่ความมิได้สับถางแนวเขตไว้ให้
ทิศตะวันออกจดนายสายยาว 7 เส้น ทางด้านนี้ดูแล้วน่าจะเป็นที่แปลงเดียวกับน.ส.3 ก. เลขที่ 1949 แต่เมื่อพิจารณาด้านทิศใต้ส.ค.1 แจ้งติดคลองขณะตรวจสอบไม่มีสภาพคลอง คลองจะอยู่เลยจากที่พิพาทไปอีกประมาณ 7-8 เส้น ถ้าวัดระยะจากทางเกวียนลงไปถึงคลองยาวประมาณ 15 เส้น ซึ่ง ส.ค.1 ระบุไว้เพียง 7 เส้น เท่านั้นขณะทำการรังวัดเจ้าของที่ดินข้างเคียงไม่อยู่บ้าน เพราะมิได้มีหมายแจ้งให้ทราบ จึงไม่สามารถทำการสอบสวนและบันทึกถ้อยคำว่าได้ครอบครองต่อเนื่องมาจากใคร
ทิศตะวันตกจดนายแช่ม ยาว 7 เส้น ปัจจุบันติดทางสาธารณประโยชน์ฝั่งคนละฟากทาง ปัจจุบันเป็นที่ดินของนายเฉลิม ตั้งเจริญสุทธิชัยและนางนารีไม่ทราบนามสกุล ไม่สามารถบันทึกปากคำได้ เนื่องจากมิได้มีหมายแจ้งให้ทราบว่าจะไปทำการรังวัดเพื่อให้มาระวังแนวเขตและสอบปากคำว่าซื้อมาจากนายแช่มหรือผู้ใดเพราะจะต้องสอบสวนถึงการครอบครองต่อเนื่องด้วย เมื่อพิจารณาตามหลักฐานส.ค.1 เลขที่ 64 ในการระบุข้างเคียงและระยะประกอบกับได้ตรวจสภาพที่ดินซึ่งใน ส.ค.1 ระบุทิศใต้จดคลองซึ่งเป็นสภาพธรรมชาติปัจจุบันยังมีสภาพปรากฏอยู่ และอยู่ห่างจากที่ดินแปลงตามน.ส.3 ก. เลขที่ 1949 ประมาณ 7 เส้น จึงน่าเชื่อว่า ส.ค.1 เลขที่ 64กับ น.ส.3 ก. เลขที่ 1949 เป็นคนละแปลงกันเห็นว่าตามหนังสือของนายอำเภอแกลงดังกล่าวข้างต้นแสดงว่าการรังวัดตรวจสอบที่ดินให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ จะต้องทำการรังวัดที่ดินทั้งสี่ด้าน มีหมายแจ้งเจ้าของที่ดินข้างเคียงมาระวังแนวเขต ทำการสอบสวนและบันทึกถ้อยคำของเจ้าของที่ดินข้างเคียงนั้นไว้ด้วย แต่การรังวัดตรวจสอบของเจ้าพนักงานที่ดินตามคำท้าปรากฏว่ามิได้ทำการรังวัดด้านทิศเหนือ ทิศใต้ เพราะคู่ความมิได้สับถางแนวเขตไว้ให้ในการรังวัดด้านทิศตะวันออกและตะวันตกไม่มีเจ้าของที่ดินข้างเคียงมาระวังแนวเขต เพราะมิได้มีหมายแจ้งให้ทราบ ดังนี้แม้เจ้าพนักงานที่ดินจะลงความเห็นว่าที่ดินตาม ส.ค.1 เลขที่64 กับที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 1949 เป็นคนละแปลงกัน ก็มิใช่ความเห็นที่ได้มาดดยวิธีการรังวัดตรวจสอบที่ถูกต้องตามหลักวิชาตามคำท้า ถือว่าการมิได้เป็นไปตามคำท้าจึงต้องดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไป ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่.

Share