แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องระบุจำนวนหนี้เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยคิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนด จึงเป็นกรณีที่ต้องชำระหนี้เป็นเงินต่างประเทศ ซึ่งศาลจะพิพากษาให้ใช้เงินต่างประเทศหรือจะส่งใช้เป็นเงินไทยก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคหนึ่ง และที่วรรคสองระบุให้การเปลี่ยนเงินนี้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงินนั้น หมายถึงอัตราที่จะแลกเปลี่ยนกันได้โดยเสรีในเวลาที่จำเลยได้ใช้เงินจริง ซึ่งตามปกติจะคิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินโดยเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ที่ขายเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินตราไทยในกรุงเทพมหานครเป็นเกณฑ์ และเพื่อความสะดวกแก่การบังคับคดีจึงให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในวันที่มีคำพิพากษาของศาลฎีกา ถ้าไม่มีอัตราการขายในวันนั้นก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราขายเช่นว่านั้นก่อนวันพิพากษา แต่เมื่อโจทก์ขอใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในวันออกใบแจ้งหนี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 25.57 บาท โจทก์จึงไม่อาจรับชำระหนี้จากจำเลยเกินกว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินจำนวนดังกล่าวได้
แม้ตามสัญญาที่โจทก์กับจำเลยทำต่อกันจะกำหนดดอกเบี้ยที่เกิดจากการชำระราคาล่าช้าเท่ากับอัตราดอกเบี้ยไพรม์เรทของธนาคารแห่งอเมริกาบวกด้วยร้อยละ 5 ต่อปีแต่โจทก์ขอดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเพียงอัตราไพรม์เรทของธนาคารแห่งอเมริกาเท่านั้นโดยนำสืบไม่ชัดว่าดอกเบี้ยอัตราไพรม์เรทของธนาคารแห่งอเมริกาดังกล่าว ณ วันที่จำเลยผิดนัดมีอัตราเท่าไรและเปลี่ยนแปลงอย่างไร ถือว่าโจทก์นำสืบเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ตามที่อ้าง กรณีจึงเป็นหนี้เงินที่ต้องเรียกดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาซื้อเครื่องจักรพร้อมอุปกรณ์ในการผลิตกระดาษชนิดแซ็คคร๊าฟท์ รุ่น พี เอ็ม 4 จากโจทก์ โดยตกลงว่าจ้างให้โจทก์ควบคุมดูแลการติดตั้งและเปิดเดินเครื่องจักรให้ ณ โรงงานของจำเลย ในการนี้จำเลยตกลงจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์สำหรับผู้เชี่ยวชาญและวิศวกรที่โจทก์ส่งมาควบคุมงานในอัตราวันละ 750 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน ค่าทำงานล่วงเวลาชั่วโมงละ 120 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนและค่าทำงานวันหยุดชั่วโมงละ 160 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน ระหว่างวันที่ 11 มิถุนายน2533 ถึงวันที่ 20 เมษายน 2534 โจทก์จัดส่งผู้เชี่ยวชาญและวิศวกรของโจทก์จากประเทศสาธารณรัฐฟินแลนด์มาทำงานให้แก่จำเลยทั้งสิ้น 503 วันทำงาน คิดเป็นเงินค่าจ้าง623,550 ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์ทำงานให้จำเลยและส่งใบแจ้งหนี้ให้จำเลยชำระเงินค่าจ้างแก่โจทก์แล้ว จำเลยชำระเงินค่าจ้างแก่โจทก์เพียง 258,500 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 247วันทำงาน ยังค้างชำระอีก 365,050 ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์หักเงินค่าวัสดุอุปกรณ์ที่จำเลยมีสิทธิรับคืนจากโจทก์เป็นเงิน 76,122 ดอลลาร์สหรัฐ จึงเหลือหนี้ค้างชำระ 288,928ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2534 ซึ่งเป็นวันออกใบแจ้งหนี้ ในอัตรา 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 25.57 บาท เป็นเงิน 7,387,888.90บาท โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยแจ้งว่าจะชำระเงินให้โจทก์ 400 วันทำงาน โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราไพรม์เรท (ลูกค้าชั้นดี) ของธนาคารแห่งอเมริกาบวกด้วยร้อยละ 5ต่อปี จากหนี้ที่ค้างชำระนับแต่วันถึงกำหนดชำระตามใบแจ้งหนี้คือวันที่ 11 สิงหาคม2534 ถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 83,624.59 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย2,138,280.70 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 9,526,169.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราไพรม์เรทของธนาคารแห่งอเมริกาจากต้นเงิน 7,387,888.90 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยว่าจ้างโจทก์ให้ควบคุมดูแลการติดตั้งและเปิดเดินเครื่องจักร ไม่เคยตกลงจ่ายค่าจ้างวันละ 750 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน ค่าทำงานล่วงเวลาชั่วโมงละ 120 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน และค่าทำงานวันหยุดชั่วโมงละ 160 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน ไม่เคยได้รับใบแจ้งหนี้เลขที่ 200006/X, 120140 และ 200325 ของโจทก์ ไม่มีหนี้ใด ๆ ที่จำเลยต้องชำระให้โจทก์ โจทก์ฟ้องคดีเกิน 2 ปี จึงขาดอายุความแล้ว เมื่อปี2532 จำเลยกู้เงินจากรัฐบาลประเทศสาธารณรัฐฟินแลนด์จำนวน 10,736,000 ดอลลาร์สหรัฐ นำไปซื้อเครื่องจักรพร้อมอุปกรณ์จากโจทก์ภายในวงเงินดังกล่าว โดยโจทก์จัดส่งผู้เชี่ยวชาญมาติดตั้งและเปิดเดินเครื่องจักรด้วยค่าใช้จ่ายของโจทก์ หลังจากเปิดเดินเครื่องจักรแล้ว โจทก์ขอให้จำเลยช่วยออกค่าใช้จ่าย จำเลยตกลงจ่ายไม่เกิน400 วันทำงาน ซึ่งคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 300,000 ดอลลาร์สหรัฐ และโจทก์ได้เรียกเก็บไปจากธนาคารที่จำเลยกู้เงินเสร็จสิ้นแล้ว นอกจากนั้นโจทก์ยังต้องคืนค่าใช้จ่ายที่จำเลยออกทดรองไปจำนวน 76,122 ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์คิดคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาทไทยไม่ถูกต้องเพราะ 1 ดอลลาร์สหรัฐไม่ถึง 25 บาท และไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี จำเลยไม่เคยตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราสูงสุดของธนาคารแห่งอเมริกาและธนาคารแห่งอเมริกามิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 18.5 ต่อปี ดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องจึงเป็นโมฆะ จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือทวงถาม และไม่มีหนี้ต้องชำระ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,091,276.46 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2534 ถึงวันที่ 12 กันยายน 2534อัตราร้อยละ 13 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 กันยายน 2534 ถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2534 อัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2534 ถึงวันที่ 22 ธันวาคม 2534 อัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2534 ถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2535 อัตราร้อยละ 11 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2535 ถึงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2537 และอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2537 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 7,387,888.90 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2534 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2532 จำเลยตกลงทำสัญญาซื้อเครื่องจักรพร้อมอุปกรณ์ในการผลิตกระดาษจากโจทก์เพื่อนำไปติดตั้ง ณ โรงงานของจำเลยที่จังหวัดสมุทรสาครโดยโจทก์เป็นผู้ควบคุมดูแลการติดตั้งและเปิดเดินเครื่องจักร จำเลยมีหน้าที่ชำระค่าเครื่องจักรกับค่าควบคุมดูแลการติดตั้งและเปิดเดินเครื่องจักรแก่โจทก์ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3 ต่อมาโจทก์ดำเนินการติดตั้งเครื่องจักรเสร็จสิ้นและเปิดเดินเครื่องจักรได้ในวันที่ 29 มีนาคม 2534 จำเลยชำระค่าเครื่องจักรให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยยังค้างชำระค่าควบคุมดูแลการติดตั้งและเปิดเดินเครื่องจักรตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายวรชัย พิจารณ์จิตร ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ กับนายแอนทิโร ซัลมิแนน มาเป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า ในสัญญาตามเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 4.1.2 ระบุให้โจทก์เป็นผู้ดูแลติดตั้งเครื่องจักรจนกว่าจะเปิดดำเนินการได้ ส่วนค่าจ้างนั้นจะได้ตกลงกันภายหลัง ซึ่งต่อมาฝ่ายโจทก์และจำเลยได้ร่วมประชุมกันเกี่ยวกับระยะเวลาในการควบคุมดูแลติดตั้งเครื่องจักร ครั้งแรกกำหนดไว้มากกว่า 1,000 วันทำงาน ต่อมามีการเจรจาลดลงเหลือ 520 วันทำงานโดยงานบางส่วนจำเลยรับจะเป็นผู้ดูแลเอง แต่จำเลยก็ยังเจรจาต่อรองให้ลดการทำงานเหลือ 315 วันทำงานหรืออย่างสูงสุดไม่เกิน 400 วันทำงาน โจทก์ไม่ขอรับรองว่าระยะเวลา 315 วันทำงานจะเพียงพอต่อการตรวจสอบและการควบคุมงานให้ได้ผลสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ผลที่สุดโจทก์ใช้เวลาในการติดตั้งเครื่องจักรตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2533 จนถึงวันที่20 เมษายน 2534 รวมเป็นเวลา 503 วันทำงาน โดยโจทก์กำหนดอัตราค่าจ้าง 750ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อวัน ค่าทำงานล่วงเวลาชั่วโมงละ 120 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนค่าทำงานในวันหยุดชั่วโมงละ 160 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน ตามเอกสารหมาย จ.21 แผ่นที่ 2 สำหรับรายละเอียดในการทำงานปรากฏตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.8และ จ.21 ส่วนจำเลยนำสืบว่า ครั้งแรกตกลงระยะเวลาติดตั้งเครื่องจักรเป็นเวลา 315วันทำงาน ต่อมาโจทก์แจ้งว่าระยะเวลาดังกล่าวไม่พอ จำเลยจึงยอมให้เพิ่มเป็น 400วันทำงาน แต่จำเลยไม่ต้องรับผิดในค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุด เห็นว่า โจทก์มีรายละเอียดของการทำงานตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งสามารถเปิดเดินเครื่องจักรได้ตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.8 มาเป็นพยานหลักฐานยืนยันในเรื่องนี้ ซึ่งในเอกสารดังกล่าวจะระบุจำนวนวันทำงาน ค่าล่วงเวลาและวันทำงานในวันหยุดไว้อย่างครบถ้วนโดยเฉพาะรายการที่ทำงานตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 รวม 247 วันทำงานจำเลยก็ชำระให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว โดยจำเลยมิได้โต้แย้งเกี่ยวกับเรื่องค่าล่วงเวลาหรือค่าทำงานในวันหยุดและอัตราค่าจ้างแรงงานแต่อย่างใด ดังนั้น ที่จำเลยอ้างว่าได้ตกลงให้จำเลยรับผิดเพียง 400 วันทำงานโดยไม่รวมค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดนั้นจึงขัดต่อเหตุผล สำหรับยอดหนี้ตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.8 โจทก์ก็มีรายละเอียดของการทำงานซึ่งปรากฏตามเอกสารหมาย จ.27 ระบุเป็นเงินค่าจ้าง 365,050 ดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อหักเงินค่าวัสดุอุปกรณ์ที่จำเลยมีสิทธิได้รับคืนจากโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.10 จำนวน 76,122 ดอลลาร์สหรัฐแล้ว จำเลยยังคงค้างชำระค่าจ้างโจทก์เป็นเงิน 288,928 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 27 มิถุนายน2534 ซึ่งเป็นวันออกใบแจ้งหนี้เป็นเงิน 7,387,888.90 บาท แม้จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ได้มีหนังสือถึงจำเลยตามเอกสารหมาย จ.28 กำหนดให้จำเลยชำระเงินเพียงเท่าจำนวนวันทำงานจริง ซึ่งอาจจะเป็นจำนวนที่ต่ำหรือสูงกว่าจำนวน 315 วันทำงาน แต่ไม่เกินกว่า400 วันทำงานนั้น ในข้อนี้เมื่อพิเคราะห์ข้อความในเอกสารหมาย จ.28 แล้ว เห็นว่าข้อความในวรรคแรกถึงวรรคสี่ เป็นเรื่องที่นายไรโม ทูรูเนน ผู้จัดการฝ่ายขายของโจทก์ได้ยกเอาข้อกำหนดของจำเลยที่เคยเสนอต่อโจทก์มาเขียนเป็นอารัมภบทไว้หาใช่เป็นที่ตกลงของโจทก์ไม่ แต่ข้อความของโจทก์กลับระบุไว้ชัดแจ้งในวรรคห้ามีความว่า โจทก์ไม่ขอรับรองว่า วันทำงาน 315 วันจะเพียงพอต่อการตรวจสอบและการควบคุมงานให้ได้ผลสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ หากจะให้เพียงพอต่อการตรวจสอบและการควบคุมงานให้ได้ผลสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ต้องใช้วันทำงาน 520 วัน เห็นได้ชัดว่าโจทก์มิได้ตกลงที่จะคิดค่าจ้างเพียง 400 วันทำงานดังที่จำเลยอ้างทั้งเมื่อการทำงานเสร็จสิ้น ซึ่งโจทก์ใช้เวลาทำงานเพียง 503 วันทำงาน โจทก์ก็คงคิดตามจำนวนวันทำงานที่เป็นจริง ประกอบกับการดำเนินการติดตั้งเครื่องจักรโจทก์ได้กระทำ ณ สถานที่ของจำเลยเอง ดังนั้น จำเลยย่อมทราบดีถึงเรื่องการทำงานของโจทก์ว่าเป็นอย่างไร การทำงานในวันทำงานก็ดี การทำงานในวันหยุดก็ดีหรือการทำงานล่วงเวลาก็ดี หากโจทก์คิดคำนวณมาไม่ถูกต้องจำเลยก็ชอบที่จะโต้แย้งไว้แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้โต้แย้งในเรื่องนี้ สรุปแล้วโจทก์มีทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารมาสืบสอดคล้องต้องกัน พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยยังค้างชำระค่าควบคุมดูแลการติดตั้งและเปิดเดินเครื่องจักรตามที่โจทก์ฟ้อง
ที่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐจำนวน288,928 ดอลลาร์สหรัฐพร้อมดอกเบี้ย ถ้าจะให้ชำระเป็นเงินไทยก็ต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 25.57 บาท เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องระบุจำนวนหนี้เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยคิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนด เป็นกรณีที่ต้องชำระหนี้กันเป็นเงินต่างประเทศ ศาลจะพิพากษาให้ใช้เงินต่างประเทศหรือจะให้ส่งใช้เป็นเงินไทยก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคหนึ่งและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคสองบัญญัติว่าการเปลี่ยนเงินนี้ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน อัตราแลกเปลี่ยนเงินตามมาตรานี้หมายถึงอัตราที่จะแลกเปลี่ยนกันได้โดยเสรีในเวลาที่จำเลยได้ใช้เงินซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนเงินนี้ตามปกติจะคิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินโดยเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ที่ขายเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินตราไทยในกรุงเทพมหานครเป็นเกณฑ์และเพื่อความสะดวกแก่การบังคับคดีจึงให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในวันที่มีคำพิพากษาของศาลฎีกา ถ้าไม่มีอัตราการขายในวันนั้นก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราการขายเช่นว่านั้นก่อนวันพิพากษา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศในวันออกใบแจ้งหนี้ ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2534 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่เนื่องจากโจทก์ขอใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในวันออกใบแจ้งหนี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 25.57 บาท เป็นเงิน 7,387,888.90 บาท ในคำขอท้ายฟ้อง ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 7,387,888.90 บาท โจทก์จึงไม่อาจรับชำระหนี้จากจำเลยเกินกว่าจำนวนเงินดังกล่าวได้ ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราไพรม์เรท (ลูกค้าชั้นดี) ของธนาคารแห่งอเมริกาบวกด้วยร้อยละ5 ต่อปีเท่ากับอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี นั้น เห็นว่า ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 4.2วรรคท้าย กำหนดดอกเบี้ยที่เกิดจากการชำระราคาล่าช้าเท่ากับอัตราดอกเบี้ยไพรม์เรทของธนาคารแห่งอเมริกาบวกด้วยร้อยละ 5 ต่อปี ซึ่งโจทก์ได้ขอดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเพียงอัตราไพรม์เรท ของธนาคารแห่งอเมริกาเท่านั้น แต่โจทก์ก็นำสืบไม่ชัดแจ้งว่าดอกเบี้ยไพรม์เรทของธนาคารแห่งอเมริกาดังกล่าว ณ วันที่ 11 สิงหาคม 2534 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยผิดนัดมีอัตราเท่าไรและเปลี่ยนแปลงอย่างไร ถือว่าโจทก์นำสืบเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ความตามที่อ้าง กรณีเป็นหนี้เงินจึงให้เรียกดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่งศาลอุทธรณ์กำหนดอัตราดอกเบี้ยชอบแล้วและที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทนายความสองศาลให้จำเลยใช้แทนโจทก์ต่ำไปนั้น เห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทนายความสองศาลเป็นจำนวน 30,000 บาทนั้น นับว่าเป็นจำนวนมากพอสมควรและเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่จะต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไข ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยและมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 288,928 ดอลลาร์สหรัฐแก่โจทก์ โดยให้คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครในวันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวไม่มีก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันพิพากษา แต่ทั้งนี้อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐต้องไม่เกิน 25.57 บาท และเมื่อคิดเป็นต้นเงินต้องไม่เกินกว่า 7,387,88.90 บาทตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์