แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยขอถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธและขอให้การรับสารภาพตามฟ้องตลอดข้อกล่าวหา จำเลยจะฎีกาโต้เถียงว่าไม่มีประจักษ์พยานเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหาได้ไม่ เพราะไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15แม้จำเลยจะได้รับอนุญาตให้ฎีกาก็ตาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยกับพวกอีกหลายคนร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบริเวณบ้านเรือนอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของนายสนม เหล็กลอย ผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วร่วมกันลักเอาเครื่องยนต์รถไถนาของผู้เสียหายซึ่งเป็นเครื่องมืออันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมทำนา และได้เก็บรักษาไว้ในเคหสถานดังกล่าวไปโดยทุจริต ทั้งนี้ ในการลักทรัพย์ดังกล่าว จำเลยกับพวกร่วมกันใช้รถยนต์ตู้เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 335(1)(7)(8)(12), 336 ทวิ ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน จำนวน 22,000 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้วจำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(7)(8)(12) วรรคสอง,336 ทวิ, 83 ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน จำนวน 22,000 บาท แก่ผู้เสียหายพิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจแล้วเห็นสมควรไม่รอการลงโทษ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(7)(8) วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 336 ทวิ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานมายืนยันว่า จำเลยลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ในเคหสถาน และร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 นั้น เห็นว่า จำเลยขอถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธและขอให้การรับสารภาพตามฟ้องตลอดข้อกล่าวหา ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยจะฎีกาโต้เถียงว่าไม่มีประจักษ์พยานเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องดังกล่าวหาได้ไม่ เพราะไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แม้จำเลยจะได้รับอนุญาตให้ฎีกา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย…”
พิพากษายืน