คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2882/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เสียหายที่ 2 ได้ต่อเติมห้องน้ำที่บ้านของตนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมาย จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่นายตรวจอาคาร มีอำนาจหน้าที่ตรวจอาคารตามคำสั่งของสำนักงานเขตพญาไท จำเลยได้ข่มขู่เรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายที่ 2 ถ้าผู้เสียหายไม่ให้จำเลยจะดำเนินคดีในเรื่องต่อเติมอาคารผิดกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 2 ให้ยอมให้ตนได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพและชื่อเสียงของผู้ถูกขู่เข็ญ เป็นการลงมือกระทำความผิดฐานกรรโชกและกระทำไปตลอดแล้ว แต่ไม่บรรลุผล เพราะการที่ผู้เสียหายที่ 2 เจรจากับจำเลยแล้วขึ้นไปชั้น 2 โทรศัพท์เรียกเจ้าพนักงานตำรวจให้มาจับกุมจำเลยทันที แสดงว่าผู้เสียหายที่ 2ไม่ยอมให้เงิน เพียงแต่ทำทีเป็นยอมเพื่อวางแผนจับกุมจำเลยหาใช่ยอมให้เงินแก่จำเลยด้วยใจจริงไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 145, 337, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคหนึ่ง จำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่าผู้เสียหายที่ 2 ได้ต่อเติมห้องน้ำที่บ้านของตนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ต่อมาตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องจำเลยไปที่บ้านที่เกิดเหตุแสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตรวจอาคาร ขอดูการต่อเติมห้องน้ำดังกล่าวและบอกกับผู้เสียหายทั้งสองว่าเป็นการต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตจะต้องถูกดำเนินคดีและเสียค่าปรับปัญหาที่ขึ้นมาสู่ศาลฎีกามีเพียงว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานกรรโชกหรือไม่ สำหรับตำแหน่งหน้าที่ของจำเลย ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยยังเป็นเจ้าหน้าที่นายตรวจอาคาร และมีอำนาจหน้าที่ตรวจอาคารตามคำสั่งของสำนักงานเขตพญาไท ความข้อนี้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ข้อเท็จจริงจึงต้องถือตามที่ศาลชั้นต้นฟังมาโจทก์นำสืบว่าจำเลยไปที่บ้านที่เกิดเหตุ 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2532 พบผู้เสียหายที่ 1 จำเลยบอกกับผู้เสียหายที่ 1 ว่า ทำห้องน้ำจะต้องเสียเงิน 18,000 บาทผู้เสียหายที่ 1 ขอลดหย่อน จำเลยแจ้งว่าลดหย่อนไม่ได้ จากนั้นก็ถามหาเจ้าของบ้าน ผู้เสียหายที่ 1 ตอบว่าเจ้าของบ้านไม่อยู่ไปทำงานข้างนอก จำเลยบอกว่าพรุ่งนี้ 3 โมงเช้าจะมาหาอีก ขอให้บอกเจ้าของบ้านให้คอยอยู่และให้บอกด้วยว่าจำเลยเป็นข้าราชการรุ่งขึ้นจำเลยไปที่บ้านที่เกิดเหตุอีก ผู้เสียหายทั้งสองเบิกความต้องกันว่า ในการไปครั้งที่ 2 นี้จำเลยเข้าไปพูดคุยกับผู้เสียหายที่ 1 ในบ้านที่เกิดเหตุและเรียกเงินจากผู้เสียหายที่ 2มีการต่อรองกัน ผู้เสียหายเบิกความว่า หลังจากต่อรองกันแล้วผู้เสียหายที่ 2 ได้ขึ้นไปโทรศัพท์แจ้งเจ้าพนักงานตำรวจที่ชั้นสองเมื่อกลับลงมาเจ้าพนักงานตำรวจก็มาถึง ร้อยตำรวจเอกชาติชายเทียมฉัตร ผู้จับกุมจำเลยเบิกความว่า เมื่อไปถึงบ้านที่เกิดเหตุพบว่าจำเลยนั่งที่โต๊ะในบ้าน ขณะเดียวกันผู้เสียหายที่ 2 ได้ลงมาจากชั้น 2 และถือเงินมา 13,000 บาท ได้สอบถามผู้เสียหายที่ 2ก็ได้ความว่าผู้เสียหายที่ 2 ถูกจำเลยขู่ว่า หากไม่จ่ายเงินจำเลยจะดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องต่อเติมอาคารผิดกฎหมาย จึงจับกุมจำเลยและยึดเงิน 13,000 บาท ดังกล่าวเป็นของกลาง สำหรับเงินของกลางนี้แม้ในชั้นพิจารณาผู้เสียหายจะเบิกความสับสนไปว่าไม่ใช่เงินของตนตนไม่ได้ถือเตรียมมาให้จำเลย แต่ในชั้นสอบสวนผู้เสียหายที่ 2ได้ให้การไว้ชัดแจ้งตามเอกสารหมาย จ.13 ว่า เมื่อตกลงใจจะจ่ายเงินให้แก่จำเลย 13,000 บาท แล้ว ได้ขึ้นไปเอาเงินที่ชั้นบนขณะที่เดินถือเงินจำนวนดังกล่าวลงมา ก็เห็นเจ้าพนักงานตำรวจคุมตัวจำเลยอยู่ซึ่งตรงกับคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกชาติชายข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า เมื่อวันที่24 มิถุนายน 2532 จำเลยได้ข่มขู่เรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายที่ 2ถ้าผู้เสียหายไม่ให้จำเลยจะดำเนินคดีในเรื่องต่อเติมอาคารผิดกฎหมายจำเลยเองก็รับว่าได้ไปบ้านที่เกิดเหตุเกี่ยวกับเรื่องต่อเติมอาคาร2 ครั้ง ดังที่โจทก์นำสืบจริง แต่บ่ายเบี่ยงว่าไปเพื่อแจ้งแก่ผู้เสียหายที่ 2 ว่า ผู้เสียหายที่ 2 ต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต จะต้องไปเสียค่าปรับ ณ ที่ทำการเขต แต่ได้ความว่าวันที่ 24 มิถุนายน 2532 เป็นวันหยุดราชการวันเสาร์ เมื่อวันที่23 มิถุนายน 2532 จำเลยก็ได้ไปบ้านที่เกิดเหตุและพูดเรื่องต่อเติมอาคารพิพาทมาครั้งหนึ่งแล้ว หากเพียงเจตนาจะพบผู้เสียหายที่ 2 เพื่อพูดเรื่องเดิมด้วยเจตนาบริสุทธิ์ไม่เกี่ยวกับการข่มขู่เรียกเอาเงินก็น่าจะรอให้เป็นวันเปิดราชการเสียก่อนไม่มีเหตุผลอันใดต้องเร่งรีบไปในวันรุ่งขึ้นดังกล่าวพยานจำเลยจึงไม่อาจหักล้างพยานโจทก์ได้ การกระทำของจำเลยเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 2 ให้ยอมให้ตนได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพและชื่อเสียงของผู้ถูกขู่เข็ญเป็นการลงมือกระทำความผิดฐานกรรโชกและกระทำไปตลอดแล้วแต่ไม่บรรลุผลเพราะการที่ผู้เสียหายที่ 2 เจรจากับจำเลยแล้วขึ้นไปชั้น 2 โทรศัพท์เรียกเจ้าพนักงานตำรวจให้มาจับกุมจำเลยทันทีแสดงว่าผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยอมให้เงินเพียงแต่ทำทีเป็นยอมเพื่อวางแผนจับกุมจำเลย หาใช่ยอมให้เงินแก่จำเลยด้วยใจจริงไม่การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดขั้นพยายาม
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 337 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 80 ลงโทษจำคุก 1 ปี 4 เดือนนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share