คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2880/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ. ซึ่งเป็นอาและทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองดูแลผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขน แต่พนักงานสอบสวนไม่รับแจ้งความร้องทุกข์ เนื่องจาก พ. และผู้เสียหายพักอยู่ที่บ้านในเขตท้องที่สถานีตำรวจภูธรตำบลคูคต จึงเท่ากับไม่มีการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขน พ. จึงไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลคูคตว่าผู้เสียหายถูกจำเลยพรากตัวไป ต่อมาจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้ที่อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลคูคต จึงเป็นพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทำความผิดก่อน จึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามมาตรา 19 วรรคสาม (ข) มีอำนาจสรุปสำนวนและทำความเห็นควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปพร้อมสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตามมาตรา 140 และ 141 ได้ การสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย เมื่อพนักงานอัยการเห็นควรสั่งฟ้องจำเลยคำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคสาม จำคุก 6 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 4 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ผู้เสียหายพักอาศัยอยู่กับนางสาวพวงรัตน์ผู้เป็นอาที่บ้านเลขที่ 59/19 หมู่ที่ 6 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ซึ่งอยู่ในเขตท้องที่รับผิดชอบของสถานีตำรวจภูธรตำบลคูคต การที่ผู้เสียหายถูกพรากหายตัวไป และนางสาวพวงรัตน์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลคูคต ต่อมาจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้ที่บ้านไม่มีเลขที่ในเขตตำบลเขาดิน อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ ซึ่งอยู่ในเขตท้องที่รับผิดชอบของเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเขาพนม ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาหลายวันจำเลยพาผู้เสียหายและพักในหลายท้องที่ต่างกัน จึงเป็นกรณีไม่แน่ว่าการกระทำความผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่ และความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไปและเป็นความผิดเกิดขึ้นขณะผู้เสียหายกำลังเดินทาง พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (1) (3) (6) และวรรคสอง พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลคูคตจึงมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ได้ สำหรับพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 วรรคสาม บัญญัติให้พนักงานสอบสวนต่อไปนี้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคือ (ก) ถ้าจับผู้ต้องหาได้แล้วคือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับผู้ต้องหาได้อยู่ในเขตอำนาจ (ข) ถ้าจับผู้ต้องหายังไม่ได้คือ พนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทำความผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจ ข้อเท็จจริงได้ความว่า นางสาวพวงรัตน์ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขน แต่พนักงานสอบสวนไม่รับแจ้งความร้องทุกข์เนื่องจากนางสาวพวงรัตน์และผู้เสียหายพักอยู่ที่บ้านในเขตท้องที่สถานีตำรวจภูธรตำบลคูคต จึงเท่ากับไม่มีการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขน นางสาวพวงรัตน์จึงไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลคูคต เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2540 ว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นหลานสาวถูกจำเลยพรากตัวไป ต่อมาจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้ที่อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2540 ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลคูคตจึงเป็นพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทำความผิดก่อน จึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมาตรา 19 วรรคสาม (ข) มีอำนาจสรุปสำนวนและทำความเห็นควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปพร้อมสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตามมาตรา 140, 141 ได้ การสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย เมื่อพนักงานอัยการเห็นควรสั่งฟ้องจำเลยคำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย ศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ตามข้อเท็จจริงก่อนที่จำเลยจะพาผู้เสียหายไปที่อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ และพักอยู่ที่นั่นหลายวันจนถูกจับกุมตัว จำเลยพาผู้เสียหายไปที่บ้านพี่สาวของจำเลยที่บางแคก่อนและพักอยู่ 1 คืน จากนั้นจำเลยพาผู้เสียหายนั่งรถโดยสารเดินทางหลายร้อยกิโลเมตร และพักอยู่ที่จังหวัดกระบี่ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายร้องขอความช่วยเหลือจากบุคคลใดทั้งที่มีโอกาสทำได้ และร่วมประเวณีกันหลายครั้ง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก ไม่ใช่วรรคสาม เห็นว่า เป็นปัญหาข้อเท็จจริงนำไปสู่ข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งลงโทษจำคุกจำเลย 4 ปี คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง และไม่ปรากฏว่าผู้พิพากษาผู้นั่งพิจารณาคดีนี้หรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรืออัยการสูงสุดได้รับรองไว้ให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 221 ศาลฎีกาจึงไม่รับฎีกาของจำเลยข้อนี้ไว้วินิจฉัย”
พิพากษายืน

Share