คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2312/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยทำคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีการทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีหรือมีหลักประกันใดๆ ให้ไว้ต่อโจทก์ และเบิกเงินเกินบัญชีหลังจากยื่นคำขอเปิดบัญชีเพียง 3 วัน การที่ธนาคารโจทก์ยอมให้จำเลยใช้เช็คถอนเงินเกินบัญชีจากธนาคารโจทก์ได้ ทั้งๆ ที่ไม่ปรากฏว่าเคยรู้จักกันเป็นอย่างดีหรือจำเลยเป็นบุคคลพิเศษ แสดงว่าจำเลยมีความผูกพันกับ ช. ผู้จัดการธนาคารโจทก์สาขาสำโรง ที่เป็นคนเซ็นอนุมัติให้จำเลยถอนเงินเกินบัญชีได้ เจือสมกับข้อต่อสู้ของจำเลยว่าจำเลยทำสัญญารับเหมาก่อสร้างบ้านให้ ช. หลังจากเปิดบัญชีแล้วจำเลยสั่งจ่ายเช็ครับเงินไม่เกินจำนวนเงินค่าจ้างรับเหมาก่อสร้างบ้านให้ ช. หลังจากนั้นจำเลยก็หยุดใช้เช็คเบิกถอนเงินอีก และน่าเชื่อว่า ช. เป็นคนนำเงินเข้าบัญชีให้แก่จำเลยเป็นการชำระหนี้ค่าจ้างรับเหมาก่อสร้างบ้าน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเปิดบัญชีกระแสรายวันดังกล่าวก็เพื่อให้ ช. ผู้จัดการธนาคารโจทก์สาขาสำโรงนำเงินค่างวดในการจ้างเหมาก่อสร้างบ้านชำระหนี้แก่จำเลยโดยนำเงินเข้าบัญชีให้ และจำเลยจะใช้เช็คเบิกถอนเงินค่าจ้างรับเหมาก่อสร้างบ้านตามงวด จำเลยไม่มีเจตนาที่จะทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ ดังนั้น หาก ช. ไม่นำเงินเข้าบัญชีให้จำเลยเพื่อชำระหนี้ แสดงว่า ช. ผิดนัดชำระหนี้จำเลยย่อมจะใช้เช็คถอนเงินไม่ได้โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินให้จำเลยแทน ช. แต่อย่างใด แต่การที่ ช. ยอมอนุมัติจ่ายเงินตามเช็คให้จำเลยจึงเป็นเรื่องที่จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าเป็นการรับเงินค่างวดที่ ช. นำเงินค่าจ้างก่อสร้างบ้านเข้าบัญชีให้เพื่อชำระหนี้ จำเลยไม่มีเจตนาที่จะเบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ หาก ช. ไม่ใช่ผู้จัดการธนาคารโจทก์สาขาสำโรง จำเลยก็ย่อมไม่สามารถจะใช้เช็คถอนเงินตามที่ปรากฏในคดีนี้ได้ และหากเงินในบัญชีไม่มี ธนาคารก็ต้องปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คจำเลยจะได้รีบดำเนินการทวงถามหรือระงับการก่อสร้างบ้านตามสัญญาให้แก่ ช. ทันท่วงที หรือดำเนินการฟ้องร้องเรียกเงินค่าจ้างเหมาก่อสร้างจาก ช. โดยเร็ว ในขณะที่พยานหลักฐานยังอยู่ครบถ้วน การกระทำของ ช. ถือได้ว่าเป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในฐานะผู้จัดการธนาคารโจทก์สาขาสำโรงโดยไม่ชอบ โจทก์ในฐานะตัวการจึงต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวแทนของตน การที่จำเลยรับเงินไปจากธนาคารโจทก์โดยสำคัญผิดว่าเป็นเงินค่างวดที่จำเลยมีสิทธิได้รับ จำเลยจึงไม่มีเจตนาที่จะผูกนิติสัมพันธ์ทำนิติกรรมเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินจากจำเลยในฐานะเป็นลูกหนี้เบิกเงินเกินบัญชีไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกค้าธนาคารโจทก์ สาขาสำโรง โดยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเพื่อใช้เป็นบัญชีเดินสะพัด จำเลยใช้เช็คเบิกถอนเงินจากบัญชีเกินกว่าจำนวนเงินที่มีในบัญชี และโจทก์ผ่อนผันการจ่ายให้ อันถือเป็นการเบิกเงินเกินบัญชี โจทก์จึงคำนวณและลงรายการบัญชีของจำเลยตามวิธีการของธนาคารพาณิชย์ โจทก์หักทอนบัญชีเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2539 ปรากฏว่าจำเลยมีหนี้ค้างชำระเป็นเงิน 52,340.47 บาท หลังจากนั้นโจทก์คิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นปรับเปลี่ยนหลายช่วงหลายอัตรา โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แต่จำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 91,565.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 52,340.47 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2536 จำเลยทำสัญญารับเหมาก่อสร้างบ้านพักอาศัยกับนายชาญระวี ประภัสสร ผู้จัดการธนาคารโจทก์ สาขาสำโรง นายชาญระวีให้จำเลยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับธนาคาร เพื่อให้จำเลยใช้เช็คในการเบิกเงินค่าก่อสร้าง จำเลยไม่มีวัตถุประสงค์จะใช้บัญชีดังกล่าวเป็นบัญชีเดินสะพัด จำเลยไม่เคยเดินสะพัดทางบัญชีและไม่เคยเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ระหว่างพิจารณา จำเลยถึงแก่กรรม โจทก์ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนายสนทยา น้อยเจริญ ทายาทของจำเลยเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 91,565.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 52,340.47 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 13 มิถุนายน 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยเป็นลูกหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีตามฟ้อง หรือไม่ เห็นว่า ตามทางนำสืบของโจทก์ ไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นลูกค้าชั้นดีหรือเป็นลูกค้าพิเศษของโจทก์ จำเลยเพียงแต่ทำคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันกับโจทก์ตามธรรมดาของลูกค้าธนาคารโดยทั่วไป ดังนั้น หากจำเลยจะเบิกเงินเกินกว่าที่จำเลยมีอยู่ในบัญชี จำเลยควรจะต้องทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ระบุวงเงินให้ชัดเจนว่าจะกู้เบิกเงินเกินบัญชีในวงเงินเท่าใด เสียดอกเบี้ยอย่างไร จะชำระหนี้เมื่อใด และมีหลักประกันอะไรให้ไว้ต่อธนาคารโจทก์บ้าง แต่ตามบัญชีกระแสรายวันของจำเลย จำเลยทำคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันเพียงอย่างเดียว เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2537 จากนั้นจำเลยสามารถถอนเงินเกินกว่าที่มีอยู่ในบัญชีตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2537 ถึง 99,000 บาท และจำเลยยังถอนเงินเกินบัญชีเพิ่มอีก 1 ครั้ง ในเดือนมกราคม 2537 รวมแล้วจำเลยเบิกถอนเงินเกินบัญชีในเดือนมกราคม 2537 รวมเป็นเงิน 253,435.84 บาท โดยไม่มีการทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีหรือมีหลักประกันใดๆ ให้ไว้ต่อโจทก์ ปรากฏว่าตามบัญชีกระแสรายวันของจำเลยดังกล่าว จำเลยเบิกเงินเกินบัญชีหลังจากยื่นคำขอเปิดบัญชีเพียง 3 วัน โดยไม่มีเงินอยู่ในธนาคารเลยนอกจากเงินเปิดบัญชีครั้งแรก 1,000 บาท และจำเลยเป็นหนี้ธนาคารโจทก์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาโดยจำเลยเบิกถอนเงินโดยใช้เช็คอีกหลายครั้งจนถึงวันที่ 26 เมษายน 2537 เป็นครั้งสุดท้ายแล้วจำเลยก็ไม่ได้ถอนเงินจากโจทก์อีกเลย พฤติการณ์ดังกล่าวของธนาคารโจทก์ที่ยอมให้จำเลยใช้เช็คถอนเงินเกินบัญชีจากธนาคารโจทก์ได้ ทั้งๆ ที่ไม่ปรากฏว่าเคยรู้จักกันเป็นอย่างดีหรือจำเลยเป็นบุคคลพิเศษ แสดงว่าจำเลยมีความผูกพันกับนายชาญระวี ผู้จัดการธนาคารโจทก์สาขาสำโรงในขณะนั้น ที่เป็นคนเซ็นอนุมัติให้จำเลยถอนเงินเกินบัญชีได้ จึงเจือสมกับพยานหลักฐานและข้อต่อสู้ของฝ่ายจำเลยที่ว่าจำเลยทำสัญญารับเหมาก่อสร้างบ้านให้แก่นายชาญระวี จำเลยรับเงินค่ารับเหมาก่อสร้างเป็นรายงวด โดยนายชาญระวีบอกให้จำเลยเปิดบัญชีกระแสรายวันที่ธนาคารโจทก์สาขาสำโรงที่นายชาญระวีเป็นผู้จัดการสาขาอยู่ หลังจากเปิดบัญชีแล้ว จำเลยก็ได้สั่งจ่ายเช็ครับเงินค่าจ้างก่อสร้างบ้านเรื่อยมา จนกระทั่งฉบับสุดท้ายลงวันที่ 22 เมษายน 2537 รวมทั้งสิ้น 11 ฉบับ เป็นเงิน 723,821 บาท ซึ่งไม่เกินจำนวนเงินค่าจ้างรับเหมาก่อสร้างบ้านให้นายชาญระวี หลังจากนั้นจำเลยก็หยุดใช้เช็คเบิกถอนเงินอีกต่อไป การที่บัญชีกระแสรายวันของจำเลยมีการนำเงินเข้าบัญชีด้วย และในที่สุดเมื่อหักทอนบัญชีแล้วตามบัญชีกระแสรายวันของจำเลย ปรากฏว่าจำเลยถอนเกินจากบัญชีเพียง 34,805.88 บาท เท่านั้น น่าเชื่อว่านายชาญระวีเป็นคนนำเงินเข้าบัญชีให้แก่จำเลยเป็นการชำระหนี้ค่าจ้างรับเหมาก่อสร้างบ้าน พยานหลักฐานจำเลยมีเหตุผลและมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเปิดบัญชีกระแสรายวันเพื่อให้นายชาญระวีนำเงินค่างวดในการจ้างเหมาก่อสร้างบ้านชำระหนี้แก่จำเลยโดยนำเงินเข้าบัญชีให้ และจำเลยจะใช้เช็คเบิกถอนเงินค่าจ้างรับเหมาก่อสร้างบ้านตามงวด จำเลยไม่มีเจตนาที่จะทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ ดังนั้น หากนายชาญระวีไม่นำเงินเข้าบัญชีให้จำเลยเพื่อชำระหนี้ แสดงว่านายชาญระวีผิดนัดชำระหนี้จำเลยย่อมจะใช้เช็คถอนเงินไม่ได้ โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินให้จำเลยแทนนายชาญระวีแต่อย่างใด แต่การที่นายชาญระวียอมอนุมัติจ่ายเงินตามเช็คให้จำเลย จึงเป็นเรื่องที่จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าเป็นการรับเงินค่างวดที่นายชาญระวีนำเงินค่าจ้างก่อสร้างบ้านเข้าบัญชีให้เพื่อชำระหนี้ จำเลยไม่มีเจตนาที่จะเบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์หากนายชาญระวีไม่ใช่ผู้จัดการธนาคารโจทก์สาขาสำโรง จำเลยก็ย่อมไม่สามารถจะใช้เช็คถอนเงินตามที่ปรากฏในคดีนี้ได้ และหากเงินในบัญชีไม่มี ธนาคารก็ต้องปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จำเลยจะได้รีบดำเนินการทวงถามหรือระงับการก่อสร้างบ้านตามสัญญาให้แก่นายชาญระวีทันท่วงที หรือดำเนินการฟ้องร้องเรียกเงินค่าจ้างเหมาก่อสร้างจากนายชาญระวีโดยเร็วในขณะที่พยานหลักฐานยังอยู่ครบถ้วน การกระทำของนายชาญระวีถือได้ว่าเป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในฐานะผู้จัดการธนาคารโจทก์สาขาสำโรงโดยไม่ชอบ โจทก์ในฐานะเป็นตัวการจึงต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวแทนของตน การที่จำเลยรับเงินไปจากธนาคารโจทก์โดยสำคัญผิดว่าเป็นเงินค่างวดของจำเลยที่จำเลยมีสิทธิได้รับ จำเลยจึงไม่มีเจตนาที่จะผูกนิติสัมพันธ์ทำนิติกรรมเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินจากจำเลยในฐานะเป็นลูกหนี้เบิกเงินเกินบัญชีไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share