แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้เสียหายอยู่กับ พ. ที่อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ซึ่งอยู่ในเขตท้องที่สถานีตำรวจภูธรตำบลคูคต ผู้เสียหายถูกพรากหายตัวไป และ พ. ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลคูคต ต่อมาจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้ที่อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ ซึ่งอยู่ในเขตท้องที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเขาพนม จำเลยพาผู้เสียหายไปพักในหลายท้องที่ต่างกัน จึงเป็นกรณีไม่แน่ว่าการกระทำความผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดระหว่างหลายท้องที่ เป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่างๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไปและเป็นความผิดเกิดขึ้นขณะผู้เสียหายกำลังเดินทาง พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (1) (3) (6) และ วรรคสอง พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลคูคตจึงมีอำนาจสอบสวน
พ. ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขน แต่พนักงานสอบสวนไม่รับแจ้งความร้องทุกข์เนื่องจาก พ. และผู้เสียหายพักอยู่ที่บ้านในเขตท้องที่สถานีตำรวจภูธรตำบลคูคต จึงเท่ากับไม่มีการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขน พ. จึงไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลคูคต ว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นหลานสาวถูกจำเลยพรากตัวไป ต่อมาจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้ที่อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลคูคตจึงเป็นพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทำความผิดก่อน จึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามมาตรา 19 วรรคสาม (ข) มีอำนาจสรุปสำนวนและทำความเห็นควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง ส่งไปพร้อมสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 140, 141
ฎีกาของจำเลยที่ว่า ตามข้อเท็จจริงก่อนที่จำเลยจะพาผู้เสียหายไปที่อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ และพักอยู่ที่นั่นหลายวันจนถูกจับกุมตัว จำเลยพาผู้เสียหายไปที่บ้านพี่สาวของจำเลยที่บางแคก่อนและพักอยู่ 1 คืน จากนั้นจำเลยพาผู้เสียหายนั่งรถโดยสารเดินทางหลายร้อยกิโลเมตร และพักอยู่ที่จังหวัดกระบี่ ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายร้องขอความช่วยเหลือจากบุคคลใดทั้งที่มีโอกาสทำได้ และร่วมประเวณีกันหลายครั้ง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารย์โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก ไม่ใช่วรรคสามเป็นฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงนำไปสู่ข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งลงโทษจำคุกจำเลย 4 ปี จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 9 กันยายน 2540 เวลาประมาณ 6 นาฬิกา ถึงวันที่ 21 กันยายน 2540 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยพรากนางสาวป. ผู้เสียหาย อายุ 16 ปี ไปเสียจากนางสาวพวงรัตน์ หาญสกุล ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร โดยผู้เสียหายไม่เต็มใจไปด้วย เหตุเกิดที่ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ตำบลใดไม่ปรากฎชัด อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ แขวงใดไม่ปรากฏชัด เขตบางแค และแขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคสาม จำคุก 6 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสามคงจำคุก 4 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นางสาวป. ผู้เสียหายเกิดเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2524 ตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย จ.2 ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายเรียนอยู่ที่โรงเรียนส. เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร โดยพักอาศัยอยู่กับนางสาวพวงรัตน์ หาญสกุล ซึ่งเป็นอาและทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองดูแลผู้เสียหาย ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามคำฟ้อง จำเลยซึ่งเคยทำงานอยู่กับนางสาวพวงรัตน์ภายหลังถูกไล่ออกจากงานไปหาผู้เสียหายขณะยืนอยู่บริเวณป้ายรถโดยสารประจำทางหน้าโรงเรียน และฉุดกระชากดึงแขนผู้เสียหายขึ้นรถแท็กซี่พาผู้เสียหายไปและจำเลยได้ร่วมประเวณีกับผู้เสียหาย ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้ที่บ้านพี่ชายของจำเลยที่อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ มีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยว่า การสอบสวนคดีนี้ชอบหรือไม่ และศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ผู้เสียหายพักอาศัยอยู่กับนางสาวพวงรัตน์ผู้เป็นอา ที่ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ซึ่งอยู่ในเขตท้องที่รับผิดชอบของสถานีตำรวจภูธรตำบลคูคต การที่ผู้เสียหายถูกพรากหายตัวไป และนางสาวพวงรัตน์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลคูคต ต่อมาจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้ที่บ้านไม่มีเลขที่ในเขตตำบลเขาดิน อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ ซึ่งอยู่ในเขตท้องที่รับผิดชอบของเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเขาพนม ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาหลายวันจำเลยพาผู้เสียหายและพักในหลายท้องที่ต่างกัน จึงเป็นกรณีไม่แน่ว่าการกระทำความผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดระหว่างหลายท้องที่ และความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่างๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไปและเป็นความผิดเกิดขึ้นขณะผู้เสียหายกำลังเดินทาง พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (1) (3) (6) และ วรรคสอง พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลคูคตจึงมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ได้ สำหรับพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบนั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 วรรคสาม บัญญัติให้พนักงานสอบสวนต่อไปนี้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคือ (ก) ถ้าจับผู้ต้องหาได้แล้วคือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับผู้ต้องหาได้อยู่ในเขตอำนาจ (ข) ถ้าจับผู้ต้องหายังไม่ได้คือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทำความผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจข้อเท็จจริงได้ความว่า นางสาวพวงรัตน์ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขน แต่พนักงานสอบสวนไม่รับแจ้งความร้องทุกข์เนื่องจากนางสาวพวงรัตน์และผู้เสียหายพักอยู่ที่บ้านในเขตท้องที่สถานีตำรวจภูธรตำบลคูคต จึงเท่ากับไม่มีการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขน นางสาวพวงรัตน์จึงไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลคูคต เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2540 ว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นหลานสาวถูกจำเลยพรากตัวไป ต่อมาจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้ที่อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2540 ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลคูคตจึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามมาตรา 19 วรรคสาม (ข) มีอำนาจสรุปสำนวนและทำความเห็นควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง ส่งไปพร้อมสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตามมาตรา 140, 141 ได้ การสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย เมื่อพนักงานอัยการเห็นควรสั่งฟ้องจำเลย คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย ศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ตามข้อเท็จจริงก่อนที่จำเลยจะพาผู้เสียหายไปที่อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ และพักอยู่ที่นั่นหลายวันจนถูกจับกุมตัวจำเลยพาผู้เสียหายไปที่บ้านพี่สาวของจำเลยที่บางแคก่อนและพักอยู่ 1 คืน จากนั้นจำเลยพาผู้เสียหายนั่งรถโดยสารเดินทางหลายร้อยกิโลเมตร และพักอยู่ที่จังหวัดกระบี่ ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายร้องขอความช่วยเหลือจากบุคคลใดทั้งที่มีโอกาสทำได้ และร่วมประเวณีกันหลายครั้ง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก ไม่ใช่วรรคสาม เห็นว่า เป็นปัญหาข้อเท็จจริงนำไปสู่ข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งลงโทษจำคุกจำเลย 4 ปี คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง และไม่ปรากฎว่าผู้พิพากษาผู้นั่งพิจารณาคดีนี้หรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรืออัยการสูงสุดได้รับรองไว้ให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 221 ศาลฎีกาจึงไม่รับฎีกาของจำเลยข้อนี้ไว้วินิจฉัย”
พิพากษายืน