คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 288/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 65 มิได้บังคับว่าเมื่อทนายความยื่นคำขอต่อศาลให้สั่งถอนตนจากการเป็นทนายของคู่ความ ศาลจะต้องอนุญาตเสมอไป จึงอยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะมีคำสั่งตามควรแก่กรณี จำเลยได้ขอเลื่อนคดีมาแล้ว 4 ครั้ง ด้วยเหตุที่พยานป่วยหนึ่งครั้ง พยานมาศาลเพียงปากเดียวหนึ่งครั้ง จำเลยป่วยหนึ่งครั้งและพยานไม่มาศาลหนึ่งครั้ง สำหรับในวันนัดสืบพยานจำเลยก่อนที่ทนายจำเลยจะยื่นคำร้องขอถอนตัวนั้น ปรากฏว่าพยานจำเลยมีตัวจำเลยกับพยานอื่นหนึ่งปากมาศาล แต่โจทก์คัดค้านจึงต้องเลื่อนคดีไป โดยทนายจำเลยแถลงว่าจะนำพยานมาศาล 3 ปาก ขอหมายเรียกพยานหนึ่งปากหากไม่นำพยานมาศาลก็ไม่ติดใจสืบ ครั้นถึงวันนัดปรากฏว่าจำเลย ทนายจำเลยและพยานจำเลยไม่มาศาล คงมีแต่ผู้รับมอบฉันทะจากทนายจำเลยมาศาลและยื่นคำร้องที่ทนายจำเลยขอถอนตนจากการเป็นทนายต่อศาลและอ้างว่าติดว่าความในคดีอื่นจึงไม่อาจมาศาลได้ ซึ่งในกรณีเช่นนี้ตัวจำเลยจะต้องมาศาลและนำพยานจำเลยมาศาลด้วยตามที่ได้แถลงไว้ในนัดก่อนเพราะศาลอาจสั่งไม่อนุญาตให้ทนายจำเลยขอถอนตนจากการเป็นทนายและให้สืบพยานจำเลยไปก็ได้ พฤติการณ์ของจำเลยในการขอเลื่อนคดีถึง 4 ครั้ง และไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานครั้งสุดท้ายถือได้ว่าเป็นการประวิงคดี ศาลย่อมใช้ดุลพินิจไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและสั่งงดสืบพยานจำเลยแล้วพิพากษาไปตามรูปคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๘ นายอ่อนตา และนางมีได้ครอบครองก่นสร้างที่ดินรกร้างหนึ่งแปลงเนื้อที่ประมาณ ๑๐๐ ไร่ ต่อมาประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๓ นายอ่อนตาได้ขายที่ดินดังกล่าวบางส่วนประมาณ ๕๐ ไร่ให้นายพร้อมนางคำ ต่อมานายอ่อนตาได้ไปแจ้งการครอบครองลงชื่อนายพรม นางคำและนายอ่อนตารวม ๓ คนเป็นเจ้าของ แต่ด้วยความเข้าใจผิดนายอ่อนตาแจ้งว่าที่ดินดังกล่าวเนื้อที่ ๕๐ ไร่เศษ ต่อมานายอ่อนตาถึงแก่กรรม ที่ดินเฉพาะส่วนของนายอ่อนตาตกได้แก่นางมี ต่อมา พ.ศ. ๒๕๐๘ นางมีได้ยกที่ดินส่วนของตนและที่ดินแปลงดังกล่าวให้นางคำ ในปีเดียวกันนั้นเองนายพรมนางคำได้ขายที่ดินส่วนที่ซื้อจากนายอ่อนตาให้โจทก์ โจทก์ได้เข้าครอบครองโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ นางคำต้องการจะขอหนังสือ น.ส. ๓ สำหรับที่พิพาททั้งแปลงลงชื่อนางคำแล้วจะแบ่งแยกให้โจทก์ เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๑๐ นางมีได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้นางคำยื่นเรื่องราวต่อนายสุนทร พูลเกษ พนักงานที่ดินขอออก น.ส. ๓ สำหรับที่ดินดังกล่าวและขอรับมรดกนายอ่อนตา กับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ดินเฉพาะส่วนที่รับมรดกนายอ่อนตาแก่นางคำเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๑๑ นายพรม นางคำได้ยื่นคำขอต่อนายสุนทรขอแบ่งขายที่ดินเฉพาะส่วนแก่โจทก์ นายสุนทรได้ให้โจทก์นายพรมและนางคำลงชื่อและพิมพ์ลายนิ้วมือลงในแบบพิมพ์ของทางราชการหลายฉบับโดยบอกว่าจะจัดการเรื่องที่ขอให้ โจทก์นายพรมและนางคำหลงเชื่อจึงยอมลงชื่อให้ต่อมาวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๑๒ โจทก์ไปขอรับเอกสารสิทธิต่าง ๆ คืนจากนายสุนทร นายสุนทรแจ้งว่าได้มอบให้แก่จำเลย และ ร.ต.ท.มนัส เหมอยู่สามีจำเลยไป เพราะได้จดทะเบียนขายฝากให้จำเลยโจทก์ไม่ยอม ได้พูดขอคืนที่ดินจากจำเลยและสามี จำเลยและสามีไม่ยอมคืน โจทก์จึงไปร้องทุกข์ต่อทางราชการ ผลการสอบสวนของทางราชการปรากฏว่า ที่พิพาททั้งแปลงออกเป็น น.ส. ๓ เนื้อที่ ๑๐๒ ไร่เศษ โดยจำเลยกับสามีและนายสุนทรร่วมกันกรอกข้อความอันเป็นเท็จลงในหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ให้นางคำลงลายพิมพ์นิ้วมือไว้ นางคำมอบอำนาจให้นายพรมขายฝากที่ดินทั้งแปลงให้จำเลยและลงวันที่ย้อนหลังเป็นวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๑๐ และนายสุนทรยังได้กรอกข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารอื่น ๆ อีกปลอมลายมือชื่อนายพรม ต่อมานายสุนทรถูกทางราชการไล่ออกและหลบหนีไป ที่พิพาทส่วนของโจทก์จำเลยได้ไปโดยทุจริตขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องและเพิกถอนนิติกรรมจดทะเบียนขายฝากซึ่งมีชื่อจำเลยเป็นผู้รับซื้อฝาก
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่พิพาท และไม่เคยครอบครองที่พิพาท ที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินจำเลย เดิมที่ดินดังกล่าวเป็นของนายพรม นางคำเอามาขายฝากให้จำเลยแล้วไม่ไถ่ถอนจึงตกเป็นของจำเลย จำเลยได้ครอบครองที่พิพาทตลอดมาโจทก์ไม่เคยเข้าครอบครอง นางคำได้สมคบกับโจทก์อ้างว่าขายที่พิพาทให้โจทก์ซึ่งเป็นความเท็จ และแกล้งกล่าวหาว่าเจ้าพนักงานที่ดินไม่สุจริต จำเลยได้ที่พิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นสั่งให้มีการทำแผนที่พิพาท และเมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วในวันนัดสืบพยานจำเลย จำเลยและทนายจำเลยไม่มาศาล คงมีแต่นายบุญรอด ผู้รับมอบฉันทะจากทนายจำเลยนำคำร้องขอถอนตนจากการเป็นทนายจำเลยมายื่นต่อศาล ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยมีพฤติการณ์ประวิงคดี จึงสั่งงดสืบพยานจำเลยและฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาท พิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง ไม่จำต้องพิพากษาเรื่องที่ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝาก
จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานจำเลยไม่ถูกต้อง ขอให้ศาลชั้นต้นสืบพยานจำเลยแล้วพิพากษาใหม่
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๖๕ บัญญัติว่า “ทนายความที่ตัวความได้แต่งตั้งให้เป็นทนายในคดีจะมีคำขอต่อศาลให้สั่งถอนตนจากการตั้งแต่งนั้นก็ได้ เมื่อศาลได้รับคำขอเช่นว่านี้ ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตตามที่ขอได้ต่อเมื่อเป็นที่พอใจว่า ตัวความได้ทนายคำขอนั้นแล้วหรือหาตัวไม่พบ และให้ศาลส่งคำสั่งนั้นให้ตัวความโดยทางส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทนแล้วแต่จะเห็นสมควร” จะเห็นได้ว่าตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมิได้บังคับว่าเมื่อทนายความยื่นคำร้องต่อศาลให้สั่งถอนตนจากการเป็นทนายของคู่ความศาลจะต้องอนุญาตเสมอไป จึงอยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะมีคำสั่งตามควรแก่กรณี สำหรับกรณีนี้ปรากฏว่า ก่อนนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๒๓ นั้นฝ่ายจำเลยได้ขอเลื่อนคดีมาแล้ว ๔ ครั้ง ด้วยเหตุพยานป่วยหนึ่งครั้ง พยานมาศาลเพียงปากเดียวหนึ่งครั้ง จำเลยป่วยหนึ่งครั้ง และพยานไม่มาศาลเลยหนึ่งครั้ง สำหรับวันนัดสืบพยานจำเลยก่อนที่ทนายจำเลยจะยื่นคำร้องขอถอนตนนั้น ปรากฏว่าพยานจำเลยมีตัวจำเลยและพยานอื่นอีกหนึ่งปากมาศาลแต่โจทก์คัดค้านจึงต้องเลื่อนไป โดยทนายจำเลยแถลงว่าจะนำพยานมาศาล ๓ ปาก ขอหมายเรียกพยานหนึ่งปาก หากไม่นำพยานมาศาลก็ไม่ติดใจสืบ ครั้นถึงวันนัดปรากฏว่าจำเลย ทนายจำเลย และพยานจำเลยไม่มาศาลคงมีแต่นายบุญรอดผู้รับมอบฉันทะจากทนายจำเลยมาศาล และยื่นคำร้องที่ทนายจำเลยขอถอนตนจากการเป็นทนายต่อศาล และทนายจำเลยอ้างว่าติดว่าความในคดีอื่นจึงไม่อาจมาศาลได้ ซึ่งในกรณีเช่นนี้ตัวจำเลยควรจะต้องมาศาลและนำพยานจำเลยมาศาลด้วยตามที่ได้แถลงไว้ในนัดก่อนเพราะศาลอาจสั่งไม่อนุญาตให้ทนายจำเลยขอถอนตน จากการเป็นทนายความและสืบพยานจำเลยไปก็ได้พฤติการณ์ของจำเลยในการขอเลื่อนคดีมาถึง ๔ ครั้งและไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานครั้งสุดท้ายถือได้ว่าเป็นการประวิงคดี ที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและสั่งงดสืบพยานจำเลยและพิพากษาคดีไปชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share