แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยเป็นธนาคารพาณิชย์ ดำเนินธุรกิจการค้าด้าน การเงินดังนั้น บัญชีเงินฝากหรือฐานะการเงินของลูกค้าต้องถือว่าเป็นเรื่องสำคัญไม่พึงเปิดเผยต่อบุคคลภายนอกและต้องถือว่าเป็นความลับ การที่โจทก์เปิดเผยบัญชีเงินฝากของลูกค้าหรือฐานะการเงินของลูกค้า ย่อมทำให้ลูกค้าของจำเลยสิ้นความไว้วางใจจำเลย มีผลกระทบกระเทือนต่อการดำเนินธุรกิจการค้าของจำเลย เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับการทำงานของจำเลย ดังนั้น จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) โจทก์กระทำผิดวินัย แม้จะเกินกว่าหนึ่งปี จำเลยก็มีอำนาจพิจารณาลงโทษโจทก์ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่าจำเลยปลดโจทก์ออกจากงาน เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน753,900 บาท และจำเลยจะต้องจ่ายเงินประเภทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ให้โจทก์ คือค่าชดเชยเป็นเงิน 21,640 บาทสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 3,590 บาท ค่าจ้างการทำงานตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 3 เมษายน 2529 จำนวน 3 วัน เป็นเงิน309 บาท เงินโบนัสหรือเงินรางวัลซึ่งจำเลยต้องจ่ายเมื่อสิ้นงวดครึ่งปีจำนวน 2 เท่าของเงินเดือนเป็นเงิน 6,180 บาท และเงินสะสมซึ่งจำเลยต้องจ่ายเพิ่มเติมเมื่อทำงานจนครบเกษียณอายุในอัตราร้อยละห้าของค่าจ้างเป็นเงิน 37,695 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 823,214 บาทขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 823,214 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ และให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในหน้าที่และตำแหน่งเดิม
จำเลยให้การว่า การที่จำเลยปลดโจทก์ออกจากงานเพราะโจทก์ประพฤติไม่เหมาะสม ใช้วาจาไม่สุภาพต่อลูกค้าและเปิดเผยความลับของลูกค้าต่อบุคคลภายนอกและโจทก์มีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่ซื่อสัตย์สุจริต การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรง จำเลยมีสิทธิปลดโจทก์ออกจากงานไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน309 บาท ให้แก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์ให้ยกเสีย
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “เห็นว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย โจทก์และจำเลยมีความสัมพันธ์กันในฐานะนายจ้าง การปฏิบัติงานของโจทก์ตลอดจนวินัยและการลงโทษเป็นเรื่องภายในของจำเลยจึงต้องอยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับของจำเลย กรณีที่โจทก์กระทำผิดต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลย จำเลยมีสิทธิลงโทษหรือเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าการกระทำนั้นจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ด้วยหรือไม่ เพราะเป็นคนละกรณีกันส่วนปัญหาที่ว่ากิจการใดถือเป็นความลับนั้นต้องพิจารณาจากประเภทการดำเนินธุรกิจการค้าของนายจ้างเป็นสำคัญ ตามข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยเป็นธนาคารพาณิชย์ ดำเนินธุรกิจการค้าด้านการเงิน บัญชีเงินฝากหรือฐานะการเงินของลูกค้าย่อมเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งจำเลยไม่พึงเปิดเผยต่อบุคคลภายนอก ต้องถือว่าเป็นความลับของจำเลยและตามคำสั่งของจำเลยที่ 20/2493 เรื่อง ให้เจ้าหน้าที่รักษาความลับอันเกี่ยวกับกิจการของธนาคาร เอกสารหมาย ล.2 ข้อ2. กำหนดว่า “ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ทุกคนเปิดเผยข้อความหรือวิธีการปฏิบัติงานของธนาคารอันอยู่ในความรับผิดชอบของตนหรือนำความซึ่งมิใช่หน้าที่ของตนอันควรสงวนไว้เป็นความลับ หรืออันอาจนำมาซึ่งความเสียหายแก่ธนาคาร ไปแจ้งแก่ผู้ไม่มีหน้าที่หรือแก่บุคคลภายนอก” และข้อ 3. กำหนดว่า “ถ้าปรากฏผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งนี้ จะพิจารณาโทษอันถือว่ามีความผิดร้ายแรง” …ฉะนั้นการที่โจทก์เปิดเผยบัญชีเงินฝากของลูกค้าหรือฐานะการเงินของลูกค้าย่อมทำให้ลูกค้าสิ้นความไว้วางใจจำเลย มีผลกระทบกระเทือนต่อการดำเนินธุรกิจการค้าของจำเลย ถือว่าเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับการทำงานของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.9ข้อ 6(5) จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3)
ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์กระทำผิดตั้งแต่ พ.ศ. 2526 แต่จำเลยเพิ่งมีคำสั่งลงโทษเลิกจ้างโจทก์เมื่อ พ.ศ. 2529 เป็นการนำความผิดข้ามปีมาใช้ลงโทษโจทก์ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่าตามข้อบังคับการทำงานของจำเลยก็ดี หรือประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานก็ดี ไม่มีข้อใดกำหนดให้การกระทำผิดของโจทก์ระงับไปเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี ฉะนั้น แม้โจทก์จะกระทำผิดมาเกินกว่าหนึ่งปีแล้ว จำเลยก็มีอำนาจพิจารณาลงโทษโจทก์ได้ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายแต่อย่างใด”
พิพากษายืน.