คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2872/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องหาและจำเลยไม่มีหน้าที่รับเงินค่าปรับจากจำเลยมาชำระต่อศาล แต่มารับเงินค่าปรับจากจำเลยเองแทนศาลเช่นนี้ เป็นการไม่ถูกต้องตามระเบียบวิธีปฏิบัติ และจะเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตได้โดยง่าย เมื่อผู้ถูกกล่าวหาไม่นำเงินไปชำระต่อศาลเป็นเหตุให้ศาลไม่ได้รับค่าปรับไม่มีการส่งหมายกักขังระหว่างอุทธรณ์ฎีกาและไม่มีการส่งตัว ส. ไปกักขังแทนค่าปรับที่สถานีตำรวจฯ จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) และการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อราชการและศาลชั้นต้น จึงไม่รอการลงโทษ
ส่วนกรณีที่ไม่มีการส่งหมายกักขังระหว่างอุทธรณ์ฎีกาและตัว ป. ไปกักขังที่สถานีตำรวจฯ เพราะมีการปล่อยตัว ป. ไปก่อนแล้ว และมีผู้เอาหมายกักขังระหว่างอุทธรณ์ฎีกาไปด้วย ผู้ถูกกล่าวหาเป็นแต่เพียงผู้รับหมายกักขังดังกล่าวมาจากเจ้าหน้าที่ศาลเท่านั้น แต่มิได้เอาหมายกักขังดังกล่าวไป และมิได้เป็นคนรับเงินค่าปรับและปล่อยตัว ป. ไป การกระทำของผู้ถูกกล่าวหากรณี ป. ยังไม่ถึงขนาดเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล จึงไม่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากจ่าศาลจังหวัดสุพรรณบุรีได้รายงานให้ศาลชั้นต้นทราบว่า ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2298/2542 ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรี โจทก์นายสายันต์ สุขันที จำเลย และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2539/2542 ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรี โจทก์ นายประจักร์ รักอู่ จำเลย ถูกกักขังแทนค่าปรับ แต่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสุพรรณบุรีไม่ได้รับหมายกักขังระหว่างอุทธรณ์ฎีกา และตัวจำเลยในคดีทั้งสองสำนวนดังกล่าว ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) มาตรา 33 ถือว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรวม 2 กระทง ให้จำคุกผู้ถูกกล่าวหากระทงละ 3 เดือน รวมจำคุก 6 เดือน

ผู้ถูกกล่าวหาอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน

ผู้ถูกกล่าวหาฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ ในกรณีรายนายสายยันต์นั้นได้ความจากคำเบิกความของนายสายยันต์ว่า นายสายยันต์ได้ชำระค่าปรับให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาในห้องพิจารณา แล้วผู้ถูกกล่าวหาบอกให้นายสายยันต์กลับบ้านได้โดยไม่ได้มอบใบรับเงินค่าปรับให้ และในทางปฏิบัติเจ้าพนักงานตำรวจที่มาปฏิบัติหน้าที่ที่ศาลชั้นต้นว่าจะปล่อยตัวจำเลยที่ถูกกักขังแทนค่าปรับก็ต่อเมื่อมีใบรับเงินค่าปรับมาแสดง โดยจะทำเครื่องหมายวงกลมที่เลขหน้าชื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกควบคุมตัวในห้องขังของศาลชั้นต้นไว้เป็นหลักฐาน เห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีหน้าที่รับเงินค่าปรับจากจำเลยมาชำระต่อศาลชั้นต้นแทนจำเลย การที่ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องหาและจำเลยมารับเงินค่าปรับจากจำเลยเองแทนศาลชั้นต้นเช่นนี้ จึงเป็นการไม่ถูกต้องตามระเบียบวิธีปฏิบัติของศาลชั้นต้น และจะเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตได้โดยง่าย อย่างไรก็ดีเมื่อรับเงินจากนายสายยันต์ไว้แล้ว ผู้ถูกกล่าวหาก็ต้องนำไปชำระต่อศาลชั้นต้นตามที่ได้รับมอบหมาย เมื่อไม่นำไปชำระไม่ว่าจะทุจริตหรือไม่ก็ตาม และผลของการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นไม่ได้รับค่าปรับไม่มีการส่งหมายกักขังระหว่างอุทธรณ์ฎีกา และไม่มีการส่งตัวนายสายยันต์ไปกักขังแทนค่าปรับที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสุพรรณบุรี จนเป็นที่เสียหายร้ายแรงต่อทางราชการและศาลชั้นต้นการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวจึงไม่ใช่แค่เพียงการปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่องเท่านั้นแต่เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) ส่วนกรณีรายนายประจักร์นั้นได้ความว่าในทางปฏิบัติเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจที่ควบคุมตัวผู้ต้องหาและจำเลยที่ศาลชั้นต้นไปรับหมายกักขังระหว่างอุทธรณ์ฎีกามาแล้วจะนำไปเก็บรวมไว้ ส่วนมากแล้วจ่าสิบตำรวจชัยรัช จามพัฒน์ ซึ่งเป็นหัวหน้าชุดจะเป็นคนรวบรวมเก็บไว้เพื่อตรวจสอบส่งตัวจำเลยซึ่งต้องกักขังแทนค่าปรับไปสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสุพรรณบุรีในตอนเย็นของวันนั้น การที่ไม่มีการส่งหมายกักขังระหว่างอุทธรณ์ฎีกาและตัวนายประจักร์ไปกักขังที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสุพรรณบุรีในเย็นวันเกิดเหตุนั้น เพราะมีการปล่อยตัวนายประจักร์ไปก่อนแล้วและมีผู้เอาหมายกักขังระหว่างอุทธรณ์ฎีกาไปด้วย ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาเป็นแต่เพียงผู้รับหมายกักขังระหว่างอุทธรณ์ฎีกามาจากเจ้าหน้าที่ศาลเท่านั้น แต่มิได้เป็นคนที่รับเงินค่าปรับและปล่อยตัวนายประจักร์ไป และตามทางไต่สวนยังฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้เอาหมายกักขังระหว่างอุทธรณ์ฎีกาไป การกระทำของผู้ถูกกล่าวหากรณีนายประจักร์ยังไม่ถึงขนาดเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลจึงไม่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ผู้ถูกกล่าวหาคงมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเฉพาะการกระทำกรณีนายสายยันต์เพียงกระทงเดียวเท่านั้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาต่อไปมีว่า มีเหตุอันสมควรรอการลงโทษให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาหรือไม่ เห็นว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อทางราชการและศาลชั้นต้น เหตุที่อ้างมาในฎีกานั้นยังไม่เป็นเหตุอันสมควรที่จะรอการลงโทษให้ได้

ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) มาตรา 33 กระทงเดียวให้ลงโทษจำคุก 3 เดือน

Share