คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2866/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

อุทธรณ์ที่ว่าเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกเนื่องจากจำเลยประสบปัญหาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตราคาสูงและขาดแคลน ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงจำเป็นต้องยุบแผนกที่โจทก์ทั้งหกทำงานอยู่ โดยยินยอมจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทุกคน จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโดยกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งหก การเลิกจ้างของจำเลยจึงมีเหตุอันควร ไม่ใช่เลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมนั้นเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่ข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง อุทธรณ์ที่ว่าการที่ศาลแรงงานกลางรับฟังพยานโจทก์แล้ววินิจฉัยว่าพยานโจทก์เบิกความตรงกันว่าจำเลยไม่ได้ยุบแผนกแปรรูปโลหะ 2 อย่างจริงจังและการที่ศาลแรงงานกลางแปลความหมายคำให้การพยานจำเลยผิดไปจากข้อเท็จจริง เป็นการรับฟังพยานหลักฐานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลแรงงานกลางในการชั่งน้ำหนักคำพยาน จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ค่าชดเชยนั้น ต้องจ่ายทันทีเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อไม่จ่ายต้องถือว่าผิดนัด ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้นแม้กฎหมายไม่ได้กำหนดให้จ่ายตั้งแต่วันเลิกจ้าง แต่สินจ้างส่วนดังกล่าวก็เป็นหนี้เงินอย่างหนึ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการทวงถามจำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง ขณะเลิกจ้างโจทก์ยังมีข้อโต้แย้งอยู่ว่าจำเลยเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม แม้จำเลยจะอ้างว่าได้ปิดประกาศให้โจทก์ทุกคนไปรับก็ตาม จำเลยก็ไม่พ้นจากความรับผิดที่จะต้องชำระดอกเบี้ยของค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งหกสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เป็นเงินคนละ3,000 บาท โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 3,200 บาท โจทก์ที่ 4 โจทก์ที่ 5และโจทก์ที่ 7 เป็นเงินคนละ 3,400 บาท จ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีคนละ 1,200 บาท ค่าชดเชยคนละ 18,000 บาท จ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 93,600 บาท ส่วนโจทก์อื่นคนละ 62,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินแต่ละจำนวน นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งหกสำนวนให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกไม่ใช่เลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินแก่โจทก์ทั้งหกดังนี้สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าคนละ 1,500 บาท ค่าชดเชยคนละ18,000 บาท ค่าเสียหายคนละ 30,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของเงินแต่ละจำนวน โดยดอกเบี้ยสำหรับค่าชดเชยนับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 16 เมษายน 2534) ส่วนดอกเบี้ยสำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายนับแต่วันฟ้อง(วันที่ 29 เมษายน 2534) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ข้อ 6.1 ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกเนื่องจากจำเลยประสบปัญหาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตราคาสูงและขาดแคลน ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง จำเป็นต้องยุบแผนกที่โจทก์ทั้งหกทำงานอยู่โดยยินยอมจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทุกคน จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโดยกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งหก การเลิกจ้างของจำเลยจึงมีเหตุผลอันสมควร ไม่ใช่เลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม พิเคราะห์แล้วเห็นว่า อุทธรณ์ดังกล่าวของจำเลยเป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางในประเด็นข้อพิพาทข้อ 1 ซึ่งศาลแรงงานกลางวินิจฉัยโดยรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้ยุบแผนกแปรรูปโลหะ 2ที่โจทก์ทั้งหกทำงานอยู่อย่างจริงจัง การที่จำเลยอ้างว่าวัตถุดิบขาดแคลน จำเป็นต้องยุบแผนกที่โจทก์ทั้งหกทำงานและเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกนั้น ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอให้รับฟังได้ ถือได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกโดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม อุทธรณ์ข้อ 6.1 ของจำเลยดังกล่าวข้างต้นเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่ข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยอุทธรณ์ข้อ 6.2 ว่า การรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานไม่ชอบด้วยกฎหมายกล่าวคือ ศาลแรงงานกลางฟังพยานโจทก์ทั้งหมดแล้ววินิจฉัยว่า พยานโจทก์เบิกความตรงกันว่า จำเลยไม่ได้ยุบแผนกแปรรูปโลหะ 2 ที่โจทก์ทั้งหกทำงานอยู่อย่างจริงจัง แต่ข้อเท็จจริงจากคำพยานโจทก์ตอบทนายโจทก์ว่า จำเลยไม่ได้ยุบแผนกแปรรูปโลหะ 2แต่กลับตอบศาลและทนายจำเลยว่า มีการย้ายพนักงานในแผนกแปรรูปโลหะ 2บางส่วนไปแผนกอื่นก่อนที่จะยุบแผนกแปรรูปโลหะ 2 พยานโจทก์จึงให้การกลับไปกลับมา การที่ศาลแรงงานกลางรับฟังคำพยานโจทก์แล้ววินิจฉัยว่า พยานโจทก์เบิกความตรงกันว่า จำเลยไม่ได้ยุบแผนกแปรรูปโลหะ 2 อย่างจริงจัง จึงเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและอุทธรณ์ในข้อ 6.3 ว่า พยานจำเลยไม่ได้เบิกความขัดแย้งกันแต่ศาลแรงงานกลางแปลความหมายคำให้การพยานจำเลยผิดไปจากข้อเท็จจริงพิเคราะห์แล้วเห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อดังกล่าวเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลแรงงานกลางในการชั่งน้ำหนักคำพยาน จึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นเดียวกัน
จำเลยอุทธรณ์ในข้อ 6.4 ว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยของค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ เพราะจำเลยได้ประกาศให้โจทก์ทุกคนมารับทั้งค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแล้ว แต่โจทก์ทุกคนไม่ยอมมารับ เห็นว่า สำหรับค่าชดเชยนั้นจำเลยมีหน้าที่ที่จะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ทันทีเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ เมื่อไม่จ่ายก็ต้องถือว่าผิดนัด ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น แม้กฎหมายไม่ได้กำหนดให้จ่ายตั้งแต่วันเลิกจ้างแต่สินจ้างส่วนดังกล่าวก็เป็นหนี้เงินอย่างหนึ่งเมื่อไม่ปรากฏว่ามีการทวงถามจำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องขณะเลิกจ้างโจทก์ยังมีข้อโต้แย้งอยู่ว่า จำเลยเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม แม้จำเลยจะอ้างว่าได้ปิดประกาศให้โจทก์ทุกคนไปรับแต่โจทก์ทุกคนไม่ยอมไปรับก็ตาม จำเลยก็ไม่พ้นจากความรับผิดที่จะต้องชำระดอกเบี้ยของค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว…”
พิพากษายืน.

Share