คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2864/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ว. ได้รับคัดเลือกให้เข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาทโดยเป็นการเข้าไปอยู่อาศัยในที่ดินของรัฐตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขดังที่กฎหมายบัญญัติ หากกระทำผิดเงื่อนไขรัฐจะเอาคืนเสียเมื่อใดก็ได้ ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นที่ดินของรัฐไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ว. แม้ที่ดินพิพาทยังเป็นของรัฐ แต่ ว. ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำประโยชน์ ว. จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ตามมาตรา 1367 ที่สามารถใช้ยันกับราษฎรหรือประชาชนทั่วไปได้ และ ว. อาจได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหากปฏิบัติครบถ้วนตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 สิทธิของ ว. ที่เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมีลักษณะทำนองเดียวกับสิทธิเหนือพื้นดินซึ่งสามารถโอนและรับมรดกกันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1410 และมาตรา 1411 เมื่อ ว. ถึงแก่ความตาย สิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทย่อมเป็นกองมรดกของ ว. ตามมาตรา 1600 ตกแก่ทายาทโดยธรรมของ ว. ตามมาตรา 1599 ส่วนบ้านที่ปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทนั้น ว. เป็นผู้ปลูกสร้างโดยได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่และทำประโยชน์จากรัฐตามกฎหมายดังกล่าว บ้านจึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 บ้านเป็นกรรมสิทธิ์ของ ว. เมื่อ ว. ถึงแก่ความตายย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท
ว. ยังไม่ได้ขอให้ออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง เพื่อนำไปขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามมาตรา 11 วรรคสอง ว. ถึงแก่ความตายเสียก่อน จำเลยไม่ใช่ทายาทของ ว. แต่กลับกล่าวอ้างว่าเป็นทายาทแล้วขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จากนั้นได้ขอออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์และดำเนินการออกโฉนดที่ดินเป็นชื่อของตน เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและเป็นการไม่ชอบ กระทบสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ ว. ที่มีสิทธิตามกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์มีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนโฉนดที่ดินได้ แต่การที่โจทก์จะให้ใส่ชื่อโจทก์แทนจำเลยโดยไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินนั้นไม่อาจกระทำได้ เพราะโจทก์จะต้องไปดำเนินการตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ให้เป็นไปตามลำดับขั้นตอนโดยถูกต้องก่อน
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 สั่งค่าฤชาธรรมเนียมไม่ครบถ้วนโดยสั่งเฉพาะค่าทนายความ จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 167

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนชื่อจำเลยออกจากผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 5195 ตำบลหนองบัว อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย และให้เจ้าพนักงานที่ดินใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนชื่อจำเลยออกจากโฉนดที่ดินเลขที่ 5195 ตำบลหนองบัว อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย และให้เจ้าพนักงานที่ดินใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินดังกล่าว กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 5,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่า นายวา เป็นบุตรของนายคาย และนางประเทือง โจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายวาและนางเขียน ตามสำเนาทะเบียนบ้าน มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน คือ โจทก์ นายสมคิด และนางสาวจันทร์ตา ตามบัญชีเครือญาติ นายวาเป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์หนองบัวและเป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 4/2 หมู่ที่ 4 ตำบลหนองบัว อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย ตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร กับโกดังเก็บสินค้าพืชไร่ตามภาพถ่าย (4 ภาพ) ซึ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินในเขตนิคมสหกรณ์หนองบัว เนื้อที่ 1 งาน 15 ตารางวา ที่ได้รับจัดสรรให้เข้าอยู่อาศัยตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 และเข้าอยู่ในบ้านดังกล่าวเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2526 กับปลูกโกดังเก็บสินค้าในที่ดินที่พิพาทกันในคดีนี้ นายวาถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2538 มีทรัพย์มรดกคือรถยนต์กระบะบรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-4578 สุโขทัย และที่ดินทำไร่ 2 แปลง เนื้อที่ 28 ไร่ และ 30 ไร่ ขณะที่นายวาถึงแก่ความตายยังไม่ได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์จากอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์อันจะนำไปขอออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 นายวาไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ แต่มีทายาทโดยธรรม คือ นายคาย นางประเทือง นางเขียน โจทก์ นายสมคิด และนางสาวจันทร์ตา รวม 6 คน วันที่ 3 มิถุนายน 2538 นางประเทืองทำหนังสือสัญญากับจำเลยเพื่อแสดงเจตนาว่า นายคายและนางประเทืองเรียกร้องเงิน 100,000 บาท และรถยนต์ 1 คัน จากจำเลย โดยมีเงื่อนไขว่านายคายและนางประเทืองมอบบ้านเลขที่ 4/2 ให้จำเลย ตามหนังสือสัญญาผู้รับเลี้ยงดูแล หรือสำเนาหนังสือสัญญาผู้รับเลี้ยงดูแล วันที่ 6 มิถุนายน 2538 นางประเทืองทำหนังสือแสดงเจตนาตั้งจำเลยเป็นผู้รับโอนสิทธิและผลประโยชน์ในที่ดินของนิคมสหกรณ์หนองบัว หรือสำเนาหนังสือแสดงเจตนาตั้งผู้รับโอนสิทธิและผลประโยชน์ในที่ดินของนิคมสหกรณ์ ปี 2539 โจทก์ยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นให้ตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายวา นางประเทืองยื่นคำคัดค้าน วันที่ 26 ธันวาคม 2539 ศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์และนางประเทืองเป็นผู้จัดการมรดกของนายวาร่วมกัน ตามสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 336/2539 หมายเลขแดงที่ 394/2539 วันที่ 29 มกราคม 2540 โจทก์และนางประเทืองทำสัญญาแบ่งทรัพย์มรดก โดยรถยนต์ 2 คัน ให้ตกเป็นของนางประเทือง ทรัพย์มรดกที่เหลือให้ตกเป็นของโจทก์ แต่นางประเทืองต้องชำระเงิน 41,668 บาท ให้แก่โจทก์ ตามสัญญาแบ่งทรัพย์มรดก วันที่ 26 มีนาคม 2540 จำเลยทำหนังสือแสดงเจตนาตั้งผู้รับโอนสิทธิและผลประโยชน์ในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และนายสมคิดกับทำบันทึกเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามหนังสือแสดงเจตนาตั้งผู้รับโอนสิทธิและผลประโยชน์ในที่ดินของนิคมสหกรณ์ และบันทึกเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน วันที่ 16 ธันวาคม 2546 อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน. 5) เลขที่ 1279/2546 เพื่อแสดงว่าจำเลยนำตรวจสอบและพิสูจน์ที่ดินแปลงดังกล่าวว่าได้ทำประโยชน์ครบถ้วนตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ตามสำเนาหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน. 5) แล้วนำไปขอออกโฉนดที่ดิน วันที่ 7 มิถุนายน 2547 เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินเลขที่ 5195 ตำบลหนองบัว อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย เนื้อที่ 1 งาน 15 ตารางวา ให้แก่จำเลย แต่ห้ามโอนภายในห้าปี ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ตามสำเนาโฉนดที่ดิน นอกจากนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า จำเลยไม่ใช่บุตรหรือทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายวา จำเลยไม่ฎีกาโต้แย้ง ข้อเท็จจริงจึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธณ์ภาค 6 ว่า จำเลยไม่ใช่บุตรหรือทายาทของนายวา
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า ที่ดินพิพาทและบ้านเลขที่ 4/2 หมู่ที่ 4ตำบลหนองบัว อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายวา หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตนิคมสหกรณ์หนองบัว นายวาได้รับคัดเลือกให้เข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาทโดยเป็นการเข้าไปอยู่อาศัยในที่ดินของรัฐ จากการที่รัฐบาลนำที่ดินของรัฐมาจัดเพื่อให้ประชาชนได้มีที่ตั้งเคหสถานและประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่ง ตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขดังที่กฎหมายบัญญัติ หากกระทำผิดเงื่อนไขรัฐจะเอาคืนเสียเมื่อใดก็ได้ ดังนี้ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นที่ดินของรัฐอยู่ ที่ดินพิพาทไม่ใช่มรดกของนายวาอันจะตกแก่ทายาทของนายวา ส่วนบ้านเลขที่ 4/2 ปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทนั้น นายวาเป็นผู้ปลูกสร้างโดยได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่และทำประโยชน์จากรัฐตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 บ้านเลขที่ 4/2 จึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 146 บ้านเป็นกรรมสิทธิ์ของนายวา เมื่อนายวาถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมรวม 6 คน ซึ่งมีโจทก์รวมอยู่ด้วยดังข้อเท็จจริงที่ฟังยุติ อนึ่ง แม้ที่ดินพิพาทจะเป็นของรัฐแต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า นายวาได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยเข้าไปปลูกบ้านเลขที่ 4/2 และโกดังเก็บสินค้า นายวาจึงมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 ที่สามารถใช้ยันกับราษฎรหรือประชาชนทั่วไปได้ คงไม่สามารถใช้ยันต่อรัฐได้เท่านั้นหากมีการทำผิดเงื่อนไข และนายวาอาจได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหากปฏิบัติครบถ้วนตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 สิทธิของนายวาที่เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมีลักษณะทำนองเดียวกับสิทธิเหนือพื้นดินซึ่งสามารถโอนและรับมรดกกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1410 และมาตรา 1411 เมื่อนายวาถึงแก่ความตาย สิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทย่อมเป็นกองมรดกของนายวาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600 และตกแก่ทายาทโดยธรรมของนายวาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทและบ้านเลขที่ 4/2 เป็นมรดกของนายวามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของจำเลยประการแรกฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สองว่า จำเลยมีสิทธิยื่นคำขอออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและมีสิทธินำหนังสือแสดงการทำประโยชน์ไปออกโฉนดที่ดินหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า นายวาเป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์หนองบัว ได้รับจัดสรรให้เข้าอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 และเข้าไปอยู่อาศัยในบ้านเลขที่ 4/2 ที่นายวาปลูกสร้างในที่ดินพิพาทกับปลูกโกดังในที่ดินพิพาท แต่นายวายังไม่ได้ขอให้ออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง เพื่อนำไปขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามมาตรา 11 วรรคสอง นายวาก็ถึงแก่ความตายเสียก่อนโดยนายวามีทายาทโดยธรรม 6 คน คือ นายคายและนางประเทืองซึ่งเป็นบิดามารดา นางเขียนซึ่งเป็นภริยาชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ นายสมคิดและนางสาวจันทร์ตา ซึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายทั้งสามคน ส่วนจำเลยไม่ใช่บุตรของนายวา เมื่อนายวาถึงแก่ความตายก่อนได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การที่จำเลยไม่ใช่ทายาทของนายวากลับกล่าวอ้างว่าเป็นทายาทของนายวาแล้วขอสมัครเป็นสมาชิกของนิคมสหกรณ์หนองบัวและขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จากนั้นได้ขอออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์และดำเนินการออกโฉนดที่ดินจึงเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตและเป็นการไม่ชอบ แม้คณะกรรมการจะอนุญาตให้จำเลยเข้าเป็นสมาชิกของนิคมสหกรณ์หนองบัวและให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทก็เป็นการอนุญาตโดยผิดหลง นอกจากนี้จำเลยไม่เคยเข้าทำประโยชน์เลย กับการที่อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ และเจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยก็เป็นกระทำโดยผิดหลงเช่นกัน การกระทำดังกล่าวเป็นการไม่ชอบ ข้อเท็จจริงต้องฟังว่าจำเลยไม่มีสิทธิสมัครเข้าเป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์หนองบัวเพื่อเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท และไม่มีสิทธิยื่นคำขอหนังสือแสดงการทำประโยชน์และไม่มีสิทธินำหนังสือแสดงการทำประโยชน์ไปออกโฉนดที่ดิน ฎีกาของจำเลยประการที่สองฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ข้อเท็จจริงปรากฏว่าการออกโฉนดที่ดินของจำเลยเป็นไปโดยไม่ชอบ ดังนี้ศาลย่อมมีอำนาจเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทที่ออกโดยไม่ชอบได้ แต่การที่โจทก์จะให้ใส่ชื่อโจทก์แทนจำเลยโดยไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินนั้นย่อมไม่อาจกระทำได้ เพราะโจทก์จะต้องไปดำเนินการตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ให้เป็นไปตามลำดับขั้นตอนโดยถูกต้องก่อน นอกจากนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 สั่งค่าฤชาธรรมเนียมไม่ครบถ้วนโดยสั่งเฉพาะค่าทนายความจึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 5195 ตำบลหนองบัว อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย คำขอโจทก์นอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยใช้ค่าทนายความทั้งสามศาล ศาลละ 5,000 บาท แทนโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากนี้ทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share