แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เงินบำนาญของลูกหนี้ซึ่งกระทรวงการคลังส่งมาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แม้จะเป็นเงินบำนาญที่ลูกหนี้มีสิทธิได้รับก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แต่ก็เป็นเงินบำนาญที่ได้ส่งมาให้ภายหลังที่ศาลชั้นต้นสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีหน้าที่ต้องรับเงินบำนาญดังกล่าวซึ่งเป็นเงินที่ลูกหนี้ได้มาระหว่างล้มละลายรวบรวมเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อแบ่งแก่เจ้าหนี้ และพิจารณาจ่ายค่าเลี้ยงชีพของลูกหนี้และครอบครัวตามสมควรแก่ฐานานุรูปต่อไปตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 กรณีมิใช่เป็นเรื่องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไปก้าวล่วงจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์
จำนวนเงินค่าเลี้ยงชีพเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องพิจารณาสั่งจ่ายโดยพิเคราะห์ถึงความเป็นอยู่ของลูกหนี้และครอบครัวในขณะที่พิจารณาสั่งจ่าย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากกระทรวงการคลังโจทก์ได้ส่งเงินบำนาญของลูกหนี้ (จำเลย) มาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้สั่งจ่ายเงินค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลยเป็นรายเดือน กระทรวงการคลังเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ยื่นคำร้องว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่งจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลยโดยไม่ถูกต้องต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พิจารณาสั่งจ่ายค่าเลี้ยงชีพใหม่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีคำสั่งใหม่ว่าเงินที่กระทรวงการคลังส่งมาเป็นทรัพย์สินที่จำเลยมีอยู่ก่อนล้มละลายมิใช่เงินบำนาญตามมาตรา 121 ไม่อาจกำหนดค่าเลี้ยงชีพจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้และครอบครัวได้
จำเลยยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลยตามคำพิพากษาของศาลฎีกา ขอให้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และโจทก์คัดค้านว่า ไม่อาจจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่จำเลยในระยะเวลาก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ได้เพราะยังไม่มีอำนาจจัดการ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่จำเลยและครอบครัว แต่ปรากฏว่าจำเลยและครอบครัวมีเงินใช้จ่ายพอสมควรแก่ฐานานุรูปแล้ว จึงไม่ต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพ จึงมีคำสั่งให้จำเลยคืนเงินที่รับไปจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และให้ยกคำร้องของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พิจารณาสั่งจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่จำเลยและครอบครัวตามคำพิพากษาศาลฎีกา
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจสั่งจ่ายเงินค่าเลี้ยงชีพให้แก่จำเลยหรือไม่ โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกาว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่จำเลยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2511 ถึงวันที่ 15มิถุนายน 2519 ได้เพราะศาลจังหวัดชุมพรมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2519 ดังนั้น ระยะเวลาก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีอำนาจจัดการหรือกระทำการใดเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22และเงินบำนาญดังกล่าวมิใช่เงินที่จำเลยได้มาระหว่างล้มละลายพิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยเป็นข้าราชการ จึงต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 121 ซึ่งบัญญัติว่า”ถ้าลูกหนี้เป็นข้าราชการ เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิรับเงินเดือน บำนาญ บำเหน็จเบี้ยหวัดหรือเงินในทำนองเดียวกันนี้ของลูกหนี้จากเจ้าหน้าที่เพื่อรวบรวมแบ่งให้แก่เจ้าหนี้ได้ แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพของลูกหนี้และครอบครัวตามสมควรแก่ฐานานุรูป ฯลฯ” แม้จะปรากฏว่า กระทรวงการคลังได้ส่งเงินบำนาญของจำเลยเป็นเงิน 299,915.47 บาทมาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2519 อันเป็นเวลาภายหลังที่ศาลชั้นต้นสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยแล้วก็ตาม บทกฎหมายดังกล่าวก็มิได้ระบุว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิรับเงินบำนาญของลูกหนี้เฉพาะแต่หลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น เมื่อเงินบำนาญดังกล่าวเป็นของลูกหนี้ (จำเลย) ซึ่งลูกหนี้ (จำเลย)ยังไม่ได้รับจากเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็มีหน้าที่จะต้องรับเงินบำนาญดังกล่าวซึ่งเป็นเงินที่ลูกหนี้ (จำเลย)ได้มาระหว่างล้มละลายรวบรวมเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้(จำเลย) เพื่อแบ่งให้แก่เจ้าหนี้ต่อไป กรณีมิใช่เป็นเรื่องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไปก้าวล่วงจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ดังที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกาซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องพิจารณาจ่ายค่าเลี้ยงชีพของลูกหนี้ (จำเลย) และครอบครัวตามสมควรแก่ฐานานุรูปโดยจ่ายจากเงินบำนาญดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 121
ส่วนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกาขอให้ศาลฎีกากำหนดว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องจ่ายเงินค่าเลี้ยงชีพให้แก่จำเลยเป็นเงินเดือนละเท่าไรและระยะเวลาเท่าใดนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าสำหรับจำนวนเงินค่าเลี้ยงชีพนั้นเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องพิจารณาสั่งจ่ายโดยพิเคราะห์ถึงฐานะความเป็นอยู่ของลูกหนี้(จำเลย) และครอบครัวในปัจจุบัน (ขณะที่พิจารณาสั่งจ่ายเงินค่าเลี้ยงชีพ)ส่วนจะเป็นระยะเวลาเท่าใดนั้นคงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และจำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งขึ้นมา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลแห่งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
พิพากษายืน