คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2861/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ว.ลูกจ้าง ซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนจำเลยได้กำหนดตัวบุคคลผู้จะพึงได้รับเงินกองทุนจำเลยไว้ตามหนังสือแต่งตั้งผู้รับผลประโยชน์ และผู้จะพึงได้รับผลประโยชน์ยังมีชีวิตอยู่ การจ่ายเงินกองทุนจำเลยจึงต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของสมาชิก โดยไม่มีข้อจำกัดว่าผู้ที่ลูกจ้างกำหนดเป็นผู้จะพึงได้รับเงินจากกองทุนจะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นแม้ ร. กับ จ. จะมิใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของ ว. ก็ย่อมเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนตามที่ ว. กำหนดไว้ในหนังสือแต่งตั้งผู้รับผลประโยชน์โดยหาได้ต้องห้ามหรือจะต้องให้แบ่งจ่ายเงินกองทุนดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ มาตรา 23 ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายวิเชียร สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์เป็นพนักงานของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายวิเชียรได้สมัครเป็นสมาชิกของจำเลย โดยระบุให้โจทก์เป็นผู้รับผลประโยชน์แต่ผู้เดียว ต่อมานายวิเชียรป่วยจึงลาพักรักษาตัวและเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล นายวิโรจน์ ซึ่งเป็นบุตรนอกกฎหมายของนายวิเชียร กับพวกได้มาหาและให้นายวิเชียรลงลายมือชื่อและพิมพ์ลายนิ้วมือลงในเอกสารที่ยังไม่มีการกรอกข้อความใดๆ หลายฉบับ ต่อมานายวิเชียรได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดรวมทั้งเงินผลประโยชน์ในส่วนของตนในฐานะเป็นสมาชิกของจำเลยให้โจทก์แต่ผู้เดียว เมื่อนายวิเชียรถึงแก่กรรม โจทก์ได้ไปติดต่อเพื่อขอรับเงินในฐานะที่เป็นผู้รับผลประโยชน์จากการที่นายวิเชียรเป็นสมาชิกของจำเลย แต่ได้รับแจ้งว่านายวิโรจน์ ได้ยื่นหนังสือเปลี่ยนแปลงหนังสือแต่งตั้งผู้รับประโยชน์ของนายวิเชียร โดยให้มีผู้รับประโยชน์ 3 คน คือ นายวิโรจน์ ได้รับส่วนแบ่งร้อยละ 50 นางจิราภรณ์ ได้รับส่วนแบ่งร้อยละ 16 และโจทก์ได้รับส่วนแบ่งร้อยละ 34 ฉบับลงวันที่ 10 มีนาคม 2542 โจทก์เห็นว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่รับเรื่องเปลี่ยนแปลงผู้รับผลประโยชน์ดังกล่าวบกพร่องไม่สุจริต การที่จำเลยจ่ายเงินสมาชิกกองทุนของนายวิเชียรตามหนังสือที่นายวิโรจน์ยื่นไว้เป็นการผิดข้อบังคับของกองทุนข้อ 9.4 ที่ระบุว่า ภายใต้บังคับข้อ 9.2 และ 9.3 ในกรณีสมาชิกถึงแก่กรรมให้คณะกรรมการกองทุนจ่ายเงินกองทุนส่วนของสมาชิกให้แก่บุคคลต่อไปนี้ ข้อ 9.4.1 ผู้ที่สมาชิกได้ทำหนังสือมอบไว้ให้แก่คณะกรรมการกองทุน 9.4.2 ผู้ที่สมาชิกได้ทำหนังสือพินัยกรรมยกเงินกองทุนส่วนของสมาชิก หากปรากฏว่าหนังสือพินัยกรรมกระทำภายหลังหนังสือตามข้อ 9.4.1 การที่จำเลยมีเจตนาไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของจำเลยจึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายตามอัตราส่วนร้อยละ 66 เป็นเงิน 1,778,488.80 บาท โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 เมษายน 2542 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยปฏิเสธการจ่ายเงินตามที่โจทก์ร้องขอนับถึงวันฟ้องคิดเป็นดอกเบี้ยจำนวน 544,684 บาท รวมค่าเสียหายเป็น 2,323,173.80 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 2,323,173.80 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยจ่ายเงินกองทุนไปโดยถูกต้องตามระเบียบและข้อบังคับโดยชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและคดีของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางมีคำวินิจฉัยว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน
ศาลแรงงานพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นมิใช่กองทุนเลิก ผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ลูกจ้างตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน…” และวรรคสองบัญญัติว่า “ในกรณีสิ้นสมาชิกภาพเพราะถึงแก่วามตาย ถ้าลูกจ้างมิได้กำหนดบุคคลผู้จะพึงได้รับเงินจากกองทุนไว้โดยพินัยกรรมหรือทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่ผู้จัดการกองทุน หรือได้กำหนดไว้แต่บุคคลผู้นั้นตายก่อน ให้จ่ายเงินจากกองทุนตามวรรคหนึ่งให้แก่บุคคลตามหลักเกณฑ์ดังนี้ (1) บุตรให้ได้รับสองส่วน…” ดังนั้น เมื่อนายวิเชียรลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนจำเลยได้กำหนดตัวบุคคลผู้จะพึงได้รับเงินไว้ตามหนังสือแต่งตั้งผู้รับผลประโยชน์ยังมีชีวิตอยู่จึงต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของสมาชิก หาใช่ให้แบ่งจ่ายตามหลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 มาตรา 23 ดังกล่าวไม่ ทั้งตามข้อบังคับของจำเลยฉบับปี 2537 ก็กำหนดทำนองเดียวกันโดยไม่มีข้อจำกัดว่าผู้ที่ลูกจ้างกำหนดเป็นผู้จะพึงได้รับจากกองทุนจะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น แม้นายวิโรจน์กับนางจิราภรณ์จะมิใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายวิเชียร ก็ย่อมเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนตามที่นายวิเชียรกำหนดไว้ในหนังสือแต่งตั้งผู้รับผลประโยชน์ หาต้องห้ามตามกฎหมายไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share