คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2861/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นกฎหมาย
เจ้ามรดกร่างพินัยกรรมไว้แล้ว แต่ยังมิได้ลงพระนามเพราะสิ้นพระชนม์เสียก่อน ต่อมาภายหลังได้มีพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ร่างพินัยกรรมนั้นเป็นพินัยกรรมตามกฎหมายได้ร่างพินัยกรรมดังกล่าวย่อมมีผลเป็นพินัยกรรมใช้บังคับได้ตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกมีพินัยกรรมของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นทิวากรวงษ์ประวัติตามคำสั่งศาล เมื่อเดือนมกราคม 2458 พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นทิวากรวงษ์ประวัติได้ทำพินัยกรรมไว้ แต่ยังมิทันได้ลงพระนามก็สิ้นพระชนม์เสียก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ร่างพินัยกรรมดังกล่าวเป็นพินัยกรรมตามกฎหมาย ตามข้อ 3 ของพินัยกรรมได้ระบุไว้ว่าที่วังตำบลซังฮี้นอก ซึ่งจำเลยอาศัยอยู่ขณะนี้ให้คงรักษาไว้เป็นของกลางสำหรับโอรสและธิดาให้หม่อมลม้ายเป็นผู้ปกครองโอรสและธิดา หม่อมเจ้าปฏิพัทธ์ และหม่อมเจ้าเณรเป็นผู้ช่วยการปลูกสร้างเรือนหรือสิ่งใดลงในวังนี้จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองก่อน ผู้ปกครองจะเอาวังไปซื้อขายไม่ได้ ตามข้อ 7 ระบุว่า ถ้าหม่อมลม้าย หม่อมเจ้าหญิงและหม่อมเจ้าชายถึงแก่กรรมและถึงชีพิตักษัยหมดแล้วให้วังนี้ตกเป็นของบุตรของเจ้ามรดกที่เกิดแก่หม่อมลม้ายที่เหลืออยู่ ถ้าบุตรหม่อมลม้ายไม่มีเหลือก็ให้วังตกเป็นสิทธิแก่หลานชายคนใหญ่ซึ่งมีเกียรติยศสูงสุดในราชการหลานชายคนใหญ่ที่กล่าวนี้ต้องเป็นผู้ที่เกิดแต่บุตรชายของหม่อมลม้ายหลังจากเจ้ามรดกสิ้นพระชนม์แล้วหม่อมเจ้าพูนศรีเกษมโอรสของเจ้ามรดกได้อาศัยอยู่ในวังดังกล่าวจนสิ้นพระชนม์ ต่อมาหม่อมเจ้าวัฒนากรโอรสอีกคนหนึ่งของเจ้ามรดกได้มาขออาศัยอยู่ในวังดังกล่าวต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดก โจทก์อนุญาต หม่อมเจ้าวัฒนากรจึงนำครอบครัวซึ่งรวมทั้งจำเลยซึ่งเป็นชายาเข้ามาอยู่อาศัยในวังนี้ จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2517 หม่อมเจ้าวัฒนากรสิ้นพระชนม์ สิทธิอาศัยของหม่อมเจ้าวัฒนากรจึงสิ้นสุดลงโจทก์จึงบอกกล่าวให้จำเลยทราบว่าหากจะขออาศัยอยู่ในวังนี้ต่อไปอีก ขอให้ทำหลักฐานเป็นหนังสือไว้ จำเลยเพิกเฉยเสีย ขอให้พิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกไป

จำเลยให้การว่า มรดกของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นทิวากรวงษ์ประวัติ ไม่มีพินัยกรรมตามกฎหมายเพราะร่างพินัยกรรมตามโจทก์ฟ้องนั้น หากมีจริงเจ้ามรดกก็ยังมิได้ลงพระนาม ที่อ้างว่าได้มีพระบรมราชโองการให้ร่างพระพินัยกรรมเป็นพินัยกรรมตามกฎหมายนี้ โจทก์มิได้แสดงหลักฐานให้ปรากฏ แม้จะเป็นสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชเอกสารใดจะเป็นพินัยกรรมหรือไม่ผู้ทำพินัยกรรมต้องทำขึ้นโดยถูกต้องตามกฎหมายที่ใช้อยู่ขณะนั้น โจทก์อาศัยเอกสารดังกล่าวมาใช้บังคับอย่างพินัยกรรมมิได้ ทรัพย์มรดกจึงต้องแบ่งกันในบรรดาทายาท สามีจำเลยเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกย่อมมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเมื่อสามีจำเลยถึงชีพิตักษัย จำเลยในฐานะชายาย่อมมีสิทธิในทรัพย์พิพาทในฐานะทายาทของสามี โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่

ศาลชั้นต้น พิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากวังตามฟ้อง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษา

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นทิวากรวงษ์ประวัติตามคำสั่งศาล ก่อนสิ้นพระชนม์พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นทิวากรวงษ์ประวัติได้ร่างพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.1 ไว้ และยังมิได้ลงพระนาม ต่อมาพระบามสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หนังสือร่างพินัยกรรมตามกฎหมายได้ตามข้อ 3 และข้อ 7 แห่งร่างพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.1 มีข้อความตามที่โจทก์กล่าวไว้ในคำฟ้อง วังพิพาทเป็นทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม โจทก์เป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมข้อ 7 หม่อมเจ้าวัฒนากรสามีจำเลยเป็นโอรสของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นทิวากรวงษ์ประวัติ แต่มิได้เป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 3 และข้อ 7 และวินิจฉัยว่าพระบรมราชโองการถือว่าเป็นกฎหมาย แม้เจ้ามรดกจะไม่ได้ลงพระนามในร่างพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.1 เอกสารฉบับนี้ก็เป็นพินัยกรรมตามกฎหมายหาจำต้องพิจารณาว่าร่างพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.1 มีลักษณะเป็นพินัยกรรมตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้นได้หรือไม่อีก และเมื่อเอกสารหมาย จ.1 เป็นพินัยกรรมทรัพย์สินที่ระบุไว้ในเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งรวมทั้งวังพิพาทด้วยจึงเป็นทรัพย์พินัยกรรม ฉะนั้น เมื่อร่างพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.1 เป็นพินัยกรรมตามกฎหมายสามีจำเลยมิได้เป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมนั้น โจทก์เป็นโอรสของเจ้ามรดกที่ยังมีชีวิตเหลืออยู่ จึงมีสิทธิในวังพิพาทและเป็นผู้จัดการมรดกอยู่ด้วย จำเลยอยู่ในฐานะบริวาร เมื่อโจทก์ไม่ต้องการให้จำเลยอยู่ย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยได้

พิพากษายืน

Share