คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2860/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ประกอบการค้าดำเนินธุรกิจประเภทซื้อมาขายไปได้ซื้อเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นจากบริษัท อ. ซึ่งเป็นผู้ผลิตและขายให้แก่ลูกค้า โดยบริษัท อ. ได้เครดิตชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ประมาณ 4-6 เดือน การที่บริษัท อ.ได้รับเช็คลงวันที่ล่วงหน้าจากโจทก์แล้วไม่รอให้เช็คถึงกำหนดวันที่สั่งจ่ายเสียก่อนกลับนำเช็คไปขายลดให้แก่สถาบันการเงินจึงเป็นรายจ่ายของบริษัท อ. มิใช่เป็นรายจ่ายเพื่อกิจการโดยเฉพาะของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำรายจ่ายค่าดอกเบี้ยในการขายลดเช็คของบริษัท อ. มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของโจทก์เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (13) การออกแบบผลิตภัณฑ์สินค้าไม่ใช่หน้าที่ของโจทก์ผู้ซื้อสินค้าแต่เป็นหน้าที่ของผู้ผลิตที่จะต้องเปลี่ยนแปลงปรับปรุงรูปแบบของสินค้า การที่โจทก์ร้องขอให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบสินค้าโดยจ่ายค่าออกแบบผลิตภัณฑ์สินค้าให้บริษัท อ.ผู้ผลิต มิใช่ข้อผูกพันที่โจทก์ต้องปฏิบัติในฐานะผู้ซื้อแต่เป็นกรณีที่โจทก์จะจ่ายให้หรือไม่สุดแต่ใจของโจทก์ฝ่ายเดียวจึงเป็นรายจ่ายที่โจทก์กำหนดขึ้นและเป็นรายจ่ายมิใช่เพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ จึงเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (13)

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของจำเลยที่ 1และให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กับให้จำเลยคืนเงินภาษีและเงินเพิ่มที่โจทก์ได้ชำระไปจำนวน 550,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้นำเงินค่าภาษีอากรมาผ่อนชำระให้แก่จำเลยเป็นรายงวดทุกเดือนโดยมิได้ขอสงวนสิทธิใด ๆ หลังจากที่โจทก์ทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์จนถึงวันที่ 7 ธันวาคม 2531ก่อนฟ้องคดีนี้รวมเป็นเงิน 550,000 บาท โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกคืนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่าโจทก์ประกอบการค้า ดำเนินธุรกิจประเภทซื้อมาขายไป โดยโจทก์ซื้อสินค้าเครื่องปรับอากาศ และตู้เย็นจากบริษัทแอดมิรัลประเทศไทยจำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและขายให้แก่ลูกค้า เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม2527 เจ้าพนักงานตรวจสอบภาษีของจำเลยได้ทำการตรวจสอบแบบยื่นรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2523 ถึงปี 2525 พบว่า โจทก์มีรายจ่ายค่าดอกเบี้ยอันเกิดจากการขายลดเช็ค ซึ่งบริษัทแอดมิรัลประเทศไทย จำกัด นำไปขายให้แก่ธนาคารและสถาบันการเงิน แล้วมาเรียกเก็บดอกเบี้ยจากโจทก์ซึ่งเจ้าพนักงานตรวจสอบภาษีเห็นว่า โจทก์จะนำมาหักเป็นรายจ่ายไม่ได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (13) ในปี 2523คิดเป็นเงิน 1,988,716.14 บาท ในปี 2524 คิดเป็นเงิน1,009,445.21 บาท ในปี 2525 คิดเป็นเงิน 560,268.06 บาทนอกจากนั้นยังตรวจพบว่าในปี 2524 โจทก์มีค่าใช้จ่ายในการออกแบบผลิตภัณฑ์จำนวน 3,750,000 บาท ซึ่งโจทก์นำมาหักเป็นรายจ่ายไม่ได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (13) เช่นกัน หลังจากตรวจพบเจ้าพนักงานตรวจสอบได้ออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนและตรวจสอบแล้วได้แจ้งการประเมินให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มขึ้น โจทก์ได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ประกอบด้วยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 วินิจฉัยเกี่ยวกับรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรว่าการประเมินของเจ้าพนักงานชอบแล้ว คดีมีปัญหาที่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่ารายจ่ายค่าดอกเบี้ยขายลดเช็คในคดีนี้ เป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะของโจทก์หรือไม่ และโจทก์นำเอารายจ่ายค่าออกแบบผลิตภัณฑ์สินค้ามาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้หรือไม่
สำหรับประเด็น ข้อแรกเห็นว่า การซื้อขายสินค้าระหว่างโจทก์กับ บริษัทแอดมิรัลประเทศไทย จำกัด เป็นการซื้อขายในระบบเงินเชื่อโดยบริษัทแอดมิรัลประเทศไทย จำกัด ให้เครดิตในการชำระราคาสินค้าแก่โจทก์ประมาณ 4-6 เดือน เช่นเดียวกับที่โจทก์ให้เครดิตแก่ลูกค้าที่ซื้อสินค้าจากโจทก์ การที่โจทก์นำเอาเช็คลูกค้าที่สั่งจ่ายล่วงหน้าไปชำระให้แก่บริษัทแอดมิรัลประเทศไทย จำกัด จึงเป็นกรณีที่โจทก์ได้ชำระหนี้ค่าสินค้าให้แก่บริษัทแอดมิรัลประเทศไทย จำกัด ตามเครดิตที่โจทก์ได้รับนั่นเอง จึงมิใช่หน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องรับผิดค่าดอกเบี้ยในการขายลดเช็คดังกล่าว การที่บริษัทแอดมิรัลประเทศไทยจำกัด ได้รับเช็คลงวันที่ล่วงหน้าจากโจทก์ แล้วไม่รอให้เช็คดังกล่าวถึงกำหนดวันที่สั่งจ่ายเสียก่อน แต่ได้นำเช็คไปขายลดให้แก่สถาบันการเงิน เพื่อนำเงินมาหมุนเวียนก็เพื่อประโยชน์ของบริษัทแอดมิรัลประเทศไทย จำกัด เอง ดอกเบี้ยที่เกิดจากการขายลดเช็คเหล่านั้นจึงเป็นรายจ่ายของบริษัทแอดมิรัลประเทศไทยจำกัด มิใช่เป็นรายจ่ายเพื่อกิจการโดยเฉพาะของโจทก์ ฉะนั้นโจทก์ย่อมไม่มีสิทธินำรายจ่ายดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของโจทก์ ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (13) นั้นชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
ประเด็นข้อต่อไปมีว่า โจทก์นำเอารายจ่ายค่าออกแบบผลิตภัณฑ์สินค้ามาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้หรือไม่ เห็นว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์สินค้ามิใช่หน้าที่ของโจทก์ผู้ซื้อสินค้า แต่เป็นหน้าที่ของผู้ผลิตทีจะ ต้องเปลี่ยนแปลงปรับปรุงรูปแบบของสินค้าที่ตนผลิตเพื่อการแข่งขันในตลาด โจทก์ผู้ซื้อสินค้าจะพึงกระทำได้อย่างมากก็คือการแนะนำให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรูปแบบเท่านั้นการที่โจทก์ร้องขอให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบสินค้าโดยจ่ายค่าออกแบบผลิตภัณฑ์สินค้าให้แก่บริษัทแอดมิรัลประเทศไทย จำกัดผู้ผลิตนั้น มิใช่ข้อผูกพันที่โจทก์ต้องปฏิบัติในฐานะผู้ซื้อแต่เป็นกรณีที่โจทก์จะจ่ายให้หรือไม่สุดแล้วแต่ในของโจทก์ฝ่ายเดียวและเป็นการให้ความช่วยเหลือบริษัทในเครือเท่านั้น จึงเป็นรายจ่ายที่โจทก์กำหนดขึ้น และเป็นรายจ่ายมิใช่เพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากรนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ทุกข้อของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share