แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ท. เจ้าของที่ดินเดิมได้ตัดถนนโดยการขุดดินขึ้นมาถมเป็นถนน ทำให้ข้างถนนมีสภาพเป็นคลองซึ่งชาวบ้านใช้เรือสัญจรไปมาและขนข้าวเปลือกไปออกคลองแสนแสบได้ ภายหลังตื้นเขินเป็นคูน้ำพิพาทในการแบ่งขายที่ดินแปลงดังกล่าว ท. ไม่ได้ขายส่วนที่เป็นถนนและคูน้ำพิพาทโดยได้ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายทุกรายเป็นทำนองว่าให้ผู้ซื้อใช้สอยร่วมกัน และร่วมกันดูแลรักษาคลองให้อยู่ในสภาพเดิมดังนี้ แสดงว่า ท.เจตนาสละการครอบครองคูน้ำพิพาทและอุทิศให้เป็นสาธารณสมบัติโดยปริยายแล้ว คูน้ำพิพาทจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1304(2) ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องแก้ทะเบียนในโฉนด แม้คูน้ำพิพาทจะตื้นเขินหรือจะมีการโอนโฉนดที่ดินซึ่งคลุมถึงคูน้ำพิพาทเป็นของโจทก์และโจทก์จะแบ่งแยกคูน้ำออกเป็นกี่โฉนดและครอบครองนานเท่าใด ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 3940 และ4262 แขวงคลองตัน เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ต่อมาโจทก์ได้แบ่งแยกออกเป็นแปลงย่อย 21 โฉนด ที่ดินพิพาทคือที่ดินส่วนที่เป็นคูน้ำในที่ดินดังกล่าวตามแผนที่ท้ายฟ้อง โจทก์และเจ้าของที่ดินเดิมได้สงวนสิทธิในส่วนที่เป็นคูน้ำเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเมื่อ พ.ศ. 2505 หลวงเจริญรถสิน เจ้าของเดิมได้อุทิศซอยเจริญใจและซอยเจริญสุขมีความกว้าง 8 เมตร ให้แก่ทางราชการเป็นทางสาธารณประโยชน์ แต่ไม่ได้ยกส่วนที่เป็นคูน้ำให้แก่ทางราชการ ต่อมาเดือนมีนาคม 2518 โจทก์ประสงค์จะถมที่ดินซึ่งเป็นคูน้ำริมซอยด้านซอยเจริญสุขเพื่อปลูกสร้างอาคาร จึงทำหนังสือขออนุญาตจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ไม่อนุญาต อ้างว่าที่ดินคูน้ำมีสภาพเป็นทางสาธารณะ โจทก์ชี้แจงคัดค้าน โจทก์ขอให้จำเลยที่ 2 เลิกเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าว แต่ยังเพิกเฉย เมื่อระหว่างเดือนสิงหาคม 2521ถึงเดือนตุลาคม 2523 จำเลยที่ 2 ได้ให้เจ้าหน้าที่และคนงานก่อสร้างทางระบายน้ำ ปรับปรุงผิวจราจรในซอยเจริญสุขโดยรุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทของโจทก์ โจทก์จึงขอให้จำเลยที่ 2 ระงับการก่อสร้างนั้นเสีย จำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือถึงโจทก์ยืนยันว่าที่ดินคูน้ำเป็นทางสาธารณะโดยการวินิจฉัยของจำเลยที่ 1 โจทก์เห็นว่า คำวินิจฉัยของจำเลยที่ 1 ไม่ชอบทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ทั้งเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ก็เคยวินิจฉัยมาแล้วว่า คูน้ำพิพาทไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์ จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจชี้ขาดอีก จำเลยทั้งสองสมคบกันใช้สิทธิไม่สุจริต ขอให้เพิกถอนหรือยกเลิกคำวินิจฉัยที่จำเลยที่ 1 วินิจฉัยว่า ที่ดินคูน้ำที่พิพาทจำนวน 21 แปลงตามแผนที่ท้ายฟ้องแนวสีน้ำเงินขอบเหลืองเป็นที่สาธารณะ ห้ามมิให้จำเลยเข้าเกี่ยวข้องหรือกระทำการอื่นใดอันเป็นการริดรอนสิทธิในที่ดินที่เป็นคูน้ำพิพาท จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1พิจารณาข้อหารือของกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเป็นคูน้ำพิพาทแล้วมีความเห็นว่าคูน้ำดังกล่าวเป็นทางสาธารณะและเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยที่ 1 แสดงความเห็นไปโดยอิสระและสุจริตใจไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ทั้งไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าในกรณีเช่นนี้ให้โจทก์ใช้สิทธิทางศาลได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 2 ให้การว่า ที่ดินพิพาทนั้นความจริงไม่ใช่คูน้ำ แต่เป็นลำคลองซึ่งนายทองหล่อกับนางชุ่มเจ้าของเดิมขุดขึ้นกว้าง 4 วา เรียกว่า คลองสามอิน เพื่อให้ประชาชนใช้สัญจรไปมาโดยออกคลองซอยทองหล่อเพื่อไปออกคลองแสนแสบทางหนึ่งคลองเป้งทางหนึ่ง และคลองพระโขนงอีกทางหนึ่ง นายทองหล่อและนางชุ่มได้อุทิศคลองและถนนที่เป็นซอยเจริญใจและซอยเจริญสุขให้เป็นทางสาธารณะตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2479 คลองสามอินจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก่อนแล้ว หลวงเจริญรถสินหรือโจทก์หรือบุคคลใดย่อมไม่อาจสงวนสิทธิหรือเข้าถือเอาเป็นของตนได้และไม่อาจเปลี่ยนแปลงการอุทิศของนายทองหล่อและนางชุ่มได้ ขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาข้อแรกที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า ที่ดินที่เป็นคูน้ำติดซอยเจริญสุขและซอยเจริญใจเป็นที่ดินของโจทก์หรือที่ดินสาธารณะ ข้อเท็จจริงฟังได้จากทางนำสืบของจำเลยประกอบฎีกาโจทก์ว่า คูน้ำพิพาทอยู่ในที่ดิน ซึ่งโจทก์ซื้อจากหลวงเจริญรถสิน เมื่อ พ.ศ. 2510 โดยหลวงเจริญรถสินซื้อมาจากนายทองหล่อ ทองบุญรอด อีกต่อหนึ่งเมื่อ พ.ศ. 2485ที่ดินแปลงนี้เป็นส่วนหนึ่งในจำนวน 1,000 ไร่เศษ ของนายทองหล่อที่ซื้อไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2477 ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีคลองและถนนต่อมานายทองหล่อได้รังวัดแบ่งแยกที่ดินขายจึงได้ตัดถนน โดยการขุดดินขึ้นมาถมเป็นถนนทำให้ข้างถนนมีสภาพเป็นคลองกว้างประมาณ 4 วาเท่าถนนลึกประมาณ 3 เมตร เรือสัญจรไปมาติดต่อกับคลองแสนแสบได้ ซึ่งต่อมาเรียกคลองดังกล่าวว่าคลองสามอิน ปัจจุบันตื้นเขินเป็นคูน้ำพิพาทในคดีนี้ ส่วนถนนที่ตัดขึ้นได้กลายเป็นซอยเจริญใจ ซอยเจริญสุข ในปัจจุบัน คูน้ำพิพาทนี้ชาวบ้านใช้เรือสัญจรไปมาและขนข้าวเปลือกไปออกคลองแสนแสบ พ.ศ. 2487 ก็ยังใช้เรือสัญจรได้ในการแบ่งขายที่ดินของนายทองหล่อจะไม่ขายส่วนที่เป็นถนนและคูน้ำพิพาทด้วย โดยระบุไว้ในสัญญาซื้อขายทุกรายเป็นทำนองว่า ให้ผู้ซื้อใช้สอยร่วมกันและร่วมกันดูแลรักษาคลองและซอยสามอินให้อยู่ในสภาพเดิม ฟังว่านายทองหล่อแสดงเจตนาสละการครอบครองคูน้ำพิพาทและอุทิศให้เป็นสาธารณสมบัติโดยปริยายแล้ว คูน้ำพิพาทจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2) ไปในทันทีโดยไม่จำเป็นต้องแก้ทะเบียนในโฉนด แม้ภายหลังคูน้ำพิพาทจะตื้นเขินหรือจะมีการโอนโฉนดที่ดินซึ่งคลุมถึงคูน้ำพิพาทมาเป็นของโจทก์และโจทก์จะแบ่งแยกคูน้ำพิพาทออกเป็นกี่โฉนดและครอบครองอยู่นานเท่าใด โจทก์ก็หาได้กรรมสิทธิ์ไม่ เอกสารหรือโฉนดนั้น ๆ หามีผลผูกพันทางราชการไม่ เพราะไม่ปรากฏว่าทางราชการได้ตราพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง (1) แต่อย่างใด ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีกรรมสิทธิ์เหนือคูน้ำพิพาทดังอ้าง โจทก์ไม่มีสิทธิจะมาเกี่ยวข้องกับคูน้ำพิพาทแต่อย่างใด
พิพากษายืน