คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2857/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

++ ทดสอบทำงานในระบบ Cw เพื่อค้นหาข้อมูลทาง online ++
++ เรื่อง ซื้อขาย ค้ำประกัน เรียกทรัพย์คืน ++
++ เรื่อง แก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยในคำพิพากษา ++
++ คดีแดงที่ 2857-2858/2539 ++
จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าเครื่องประดับให้แก่โจทก์ด้วยเช็ค2 ฉบับ เป็นเช็คลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2532 และเช็คลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2532ครั้นเช็ค 2 ฉบับดังกล่าวถึงกำหนดชำระแล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เมื่อได้ความดังกล่าวถือได้ว่า กำหนดเวลาชำระหนี้ค่าเครื่องประดับ คือ วันเดือนปีที่กำหนดไว้ในเช็ค 2 ฉบับ มิใช่วันที่ซื้อขายหรือวันที่ส่งมอบเครื่องประดับ เพราะโจทก์จะไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าเครื่องประดับก่อนวันเดือนปีที่กำหนดไว้ในเช็คได้
คดีรวมการพิจารณาพิพากษา แม้ข้อเท็จจริงในสำนวนแรกจะยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เพราะต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหนี้ทั้งสองสำนวนมาจากมูลกรณีเดียวกันและเป็นการชำระหนี้อันแบ่งแยกจากกันไม่ได้ และถือว่าคำพิพากษาอันเป็นที่สุดของศาลสองศาลขัดกันจึงต้องถือตามคำพิพากษาของศาลที่สูงกว่า คือ คำพิพากษาของศาลฎีกาในสำนวนหลังนี้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 146 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงมีอำนาจวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงใหม่ได้และเมื่อฟังว่าจำเลยที่ 2 มิได้ทำสัญญาค้ำประกันการซื้อทรัพย์สินครั้งที่สองตามเช็คฉบับที่สองด้วย เมื่อราคาทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ที่ฝากโจทก์ขายและนำไปตีชำระหนี้มีราคามากกว่าหนี้ที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีหนี้ที่ต้องชำระให้แก่โจทก์ในสำนวนแรก ส่วนการบังคับคดีในสำนวนแรกให้เป็นไปตาม ป.วิ.พ.มาตรา 146 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกนางมาลัย วงศ์เหลือง โจทก์ในสำนวนแรกและจำเลยในสำนวนหลังว่าโจทก์ และเรียกนางสาวยุพา สมบูรณ์ จำเลยที่ ๒ ในสำนวนแรกและโจทก์ในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ ๒
โจทก์สำนวนแรกฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๔กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒ จำเลยที่ ๒ ได้พาจำเลยที่ ๑ มาซื้อเครื่องประดับซึ่งเป็นเพชรทอง และอัญมณีไปจากโจทก์รวมเป็นเงิน ๒๗๒,๐๐๐ บาท ต่อมาวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์๒๕๓๒ จำเลยที่ ๑ ได้มาซื้อเพชร ทอง และอัญมณีจากโจทก์อีกเป็นเงิน ๓๑๙,๐๐๐ บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๕๙๑,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ ได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารกสิกรไทยจำกัด สาขาพระโขนง จำนวน ๒ ฉบับ ชำระค่าสินค้าดังกล่าว เมื่อเช็คฉบับแรกถึงกำหนด ปรากฏว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ติดต่อให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินค่าสินค้าตามเช็คดังกล่าวไม่ได้ จำเลยที่ ๒ จึงทำหนังสือสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ ๑ ไว้ โดยยินยอมให้โจทก์ยึดอัญมณีและเครื่องประดับต่าง ๆของจำเลยที่ ๒ ที่ฝากโจทก์ขายโดยตีราคาเป็นการชำระหนี้ค่าสินค้าที่จำเลยที่ ๑ซื้อไปจากโจทก์ทั้งสองครั้ง ต่อมาเมื่อเช็คฉบับที่สองถึงกำหนด ก็ปรากฏว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์จึงติดต่อให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวนดังกล่าว แต่ติดต่อจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ ส่วนจำเลยที่ ๒ เพิกเฉย โจทก์จึงเอาทรัพย์สินของจำเลยที่ ๒ ตีราคาตามท้องตลาดเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๓๒ เป็นเงิน ๔๙๑,๐๐๐ บาทหักชำระหนี้ของจำเลยที่ ๑ คงขาดอยู่อีก ๑๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยทั้งสองจะต้องชำระเงินจำนวนนี้พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑ มีนาคม๒๕๓๒ จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๑๔,๓๗๕ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑๑๔,๓๗๕ บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๑๑๔,๓๗๕ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ภายในกำหนด ๒ ปี คดีขาดอายุความ จำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนการซื้อขายเครื่องประดับระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒เป็นเงิน ๓๑๙,๐๐๐ บาท นั้น จำเลยที่ ๒ มิได้รู้เห็น ไม่เคยค้ำประกันการชำระหนี้ดังกล่าว และตามหนังสือค้ำประกันที่ระบุว่าจำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดชำระหนี้แทนจำเลยที่ ๑ ในการซื้อขายครั้งนี้ด้วยนั้น เป็นเอกสารปลอม จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้จำนวนนี้ต่อโจทก์ อีกทั้งการซื้อขายเครื่องประดับระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ทั้งสองครั้งเป็นการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาเกินกว่า ๕๐๐ บาทซึ่งโจทก์กับจำเลยที่ ๑ มิได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อบุคคลที่จะต้องรับผิดไว้และไม่มีการชำระหนี้ให้แก่กัน นอกจากนี้จำเลยที่ ๒ เคยนำเครื่องประดับฝากไว้แก่โจทก์เพื่อช่วยจำหน่าย ซึ่งโจทก์เองได้ประเมินราคาขั้นต่ำ ๖๘๕,๐๐๐ บาทอันเป็นจำนวนเงินที่สูงกว่าหนี้สินของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์แต่อย่างไรก็ดีเครื่องประดับที่จำเลยที่ ๒ ฝากไว้แก่โจทก์ มิใช่ทรัพย์สินที่นำมาจำนำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ ๑ โจทก์ไม่มีสิทธิยึดหน่วงทรัพย์สินรวมทั้งราคาที่โจทก์ขายทรัพย์สินดังกล่าวได้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนและสัญญาค้ำประกันนั้นให้ใช้บังคับเอาแก่บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ลูกหนี้ มิได้ใช้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้
จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นโจทก์สำนวนหลังฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม๒๕๓๑ จำเลยที่ ๒ นำเครื่องประดับอันได้แก่ เพชร ทอง และอัญมนี รวม ๑๓รายการ คิดเป็นเงิน ๖๘๕,๐๐๐ บาท ไปฝากโจทก์เพื่อช่วยจำหน่าย โดยโจทก์สัญญาว่าเมื่อจำหน่ายเครื่องประดับดังกล่าวได้แล้วจะชำระเงินให้จำเลยที่ ๒โดยเร็ว และหากเครื่องประดับสูญหายหรือเสียหายโจทก์ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายตามราคาเครื่องประดับให้แก่จำเลยที่ ๒ หากโจทก์ขายเครื่องประดับดังกล่าวได้เกินกว่าราคาที่ตกลงกันก็ให้ตกเป็นผลประโยชน์ของโจทก์ ต่อมาภายหลังจำเลยที่ ๒ทราบว่าโจทก์ได้จำหน่ายเครื่องประดับดังกล่าวไปเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๓๒แต่โจทก์ไม่แจ้งให้จำเลยที่ ๒ ทราบและไม่ชำระเงินคืนให้แก่จำเลยที่ ๒ ตามที่ตกลงกัน ทำให้จำเลยที่ ๒ ได้รับความเสียหายโจทก์ต้องชำระเงิน ๖๘๕,๐๐๐ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ ๑มีนาคม ๒๕๓๒ จนถึงวันฟ้องคิดเป็นดอกเบี้ย ๑๑๑,๓๑๒.๕๐ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น๗๙๖,๓๑๒.๕๐ บาท ขอให้บังคับโจทก์ชำระเงิน ๗๙๖,๓๑๒.๕๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๖๘๕,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ ๒
โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยสำนวนหลังให้การว่า เมื่อวันที่ ๑๔กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒ จำเลยที่ ๒ ได้พานางสุรางค์หรือสุวนาถ งามวงศ์วีรพัฒน์หรืองามวงค์วีรพัฒน์มาซื้อเครื่องประดับอันได้แก่ เพชร ทอง และอัญมณี จากโจทก์เป็นเงิน ๒๗๒,๐๐๐ บาท ต่อมาวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒ นางสุรางค์หรือสุวนาถซื้อเครื่องประดับดังกล่าวจากโจทก์อีกเป็นเงิน ๓๑๙,๐๐๐ บาท โดยชำระค่าสินค้าด้วยเช็คจำนวน ๒ ฉบับ ฉบับแรกลงวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒ จำนวนเงิน ๒๗๒,๐๐๐ บาท ฉบับที่สองลงวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒ จำนวนเงิน๓๑๙,๐๐๐ บาท เมื่อเช็คฉบับแรกถึงกำหนด โจทก์นำเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินปรากฏว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ติดต่อให้นางสุรางค์หรือสุวนาถชำระเงินไม่ได้ จำเลยที่ ๒ ได้ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของนางสุรางค์หรือสุวนาถไว้ โดยยินยอมให้โจทก์ยึดเครื่องประดับต่าง ๆ ของจำเลยที่ ๒ตีราคาเป็นการชำระหนี้ของนางสุรางค์หรือสุวนาถทั้งสองครั้งจนครบถ้วน ต่อมาเมื่อเช็คฉบับที่สองถึงกำหนด ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเช่นกัน โจทก์จึงนำเครื่องประดับต่าง ๆ ของจำเลยที่ ๒ ตีราคาตามท้องตลาดเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม๒๕๓๒ เป็นเงิน ๔๙๑,๐๐๐ บาท นำไปหักหนี้ของนางสุรางค์หรือสุวนาถ แต่ไม่พอชำระหนี้ คงค้างอยู่อีก ๑๐๐,๐๐๐ บาท ฟ้องของจำเลยที่ ๒ ขาดอายุความเนื่องจากโจทก์นำทรัพย์สินที่จำเลยที่ ๒ ฝากไว้ตีราคาขายชำระหนี้เกินกำหนด๒ ปีแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันชำระเงิน๑๑๔,๓๗๕ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน๑๐๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องของจำเลยที่ ๒
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกาทั้งสองสำนวน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาในปัญหาว่า คดีโจทก์ในสำนวนแรกขาดอายุความหรือไม่นั้น ซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยปัญหาเช่นว่านี้ ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน โดยศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ค่าเครื่องประดับให้แก่โจทก์ด้วยเช็ค ๒ ฉบับ เป็นเช็คลงวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒และเช็คลงวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒ ครั้นเช็ค ๒ ฉบับ ดังกล่าวถึงกำหนดชำระแล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เมื่อได้ความดังกล่าวถือได้ว่า กำหนดเวลาชำระหนี้ค่าเครื่องประดับ คือ วันเดือนปีที่กำหนดไว้ในเช็ค ๒ ฉบับ มิใช่วันที่ซื้อขายหรือวันที่ส่งมอบเครื่องประดับ เพราะโจทก์จะไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ค่าเครื่องประดับก่อนวันเดือนปีที่กำหนดไว้ในเช็คได้ กรณีคดีนี้จึงกำหนดอายุความ๒ ปี โดยเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป คือ วันที่ ๒๑ และ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒ ซึ่งโจทก์ต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในระยะเวลา ๒ ปี คือภายในวันที่ ๒๐ และ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องสำนวนแรกในวันที่๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ คดีโจทก์ในสำนวนแรกจึงยังไม่ขาดอายุความ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนหลังว่า ทรัพย์สินที่จำเลยที่ ๒ ฝากโจทก์ขายมีราคาเท่าใด และจำเลยที่ ๒ ได้ทำสัญญาค้ำประกันชำระหนี้ตามฟ้องกับยินยอมให้นำทรัพย์สินที่ฝากขายตีชำระหนี้หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ที่โจทก์ตีราคาทรัพย์ ๔๙๑,๐๐๐ บาทเป็นราคาที่เหมาะสมและเป็นคุณแก่จำเลยที่ ๒ อยู่แล้ว จำเลยที่ ๒ ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยที่ ๒ ได้ทำสัญญาค้ำประกันชำระหนี้ตามฟ้องและยินยอมให้นำทรัพย์สินที่ฝากขายตีชำระหนี้หรือไม่นั้นศาลฎีกาวินิจฉัยรับฟังพยานหลักฐานของจำเลยที่ ๒ ว่ามีน้ำหนักน่าเชื่อมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๒ มิได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้การซื้อทรัพย์สินครั้งที่สองตามเช็คฉบับที่สอง จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้จำนวนนี้ และเมื่อได้ความว่าทรัพย์สินตามฟ้องของจำเลยที่ ๒ มีราคา ๔๙๑,๐๐๐ บาทโจทก์มีสิทธินำไปตีชำระหนี้ที่จำเลยที่ ๒ ต้องรับผิด ๒๗๒,๐๐๐ บาท โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระราคาส่วนที่เหลือ ๒๑๙,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๓๒ จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่จำเลยที่ ๒และแม้ข้อเท็จจริงในสำนวนแรกจะยุติเพราะต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงก็ตามแต่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหนี้ทั้งสองสำนวนมาจากมูลกรณีเดียวกันและเป็นการชำระหนี้อันแบ่งแยกจากกันไม่ได้ และถือว่าคำพิพากษาอันเป็นที่สุดของศาลสองศาลขัดกันจึงต้องถือตามคำพิพากษาของศาลที่สูงกว่า คือ คำพิพากษาของศาลฎีกาในสำนวนหลังนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๖ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงมีอำนาจวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงใหม่ว่า จำเลยที่ ๒ มิได้ทำสัญญาค้ำประกันการซื้อทรัพย์สินครั้งที่สองตามเช็คฉบับที่สองด้วย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าว ราคาทรัพย์สินของจำเลยที่ ๒ ที่ฝากโจทก์ขายและนำไปตีชำระหนี้มีราคามากกว่าหนี้ที่จำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๒ จึงไม่มีหนี้ที่ต้องชำระให้แก่โจทก์ในสำนวนแรก
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระเงิน ๒๑๙,๐๐๐ บาท ให้แก่จำเลยที่ ๒ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๓๒จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน ๑๑๑,๓๑๒.๕๐ บาทนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ส่วนการบังคับคดีในสำนวนแรกให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๖ วรรคหนึ่ง.

Share