คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2857/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตาม ป.อ.มาตรา 113,114 และ 116 เป็นการกระทำผิดต่อรัฐโดยตรง รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิด ผู้ร้องแม้จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็มิใช่ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2(4) ไม่มีอำนาจฟ้อง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 2528 ถึงวันที่9 กันยายน 2528 ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน จำเลยกับพวกหลบหนีได้ร่วมกันสะสมกำลังพล อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดและรถถังจำนวนมาก เพื่อเป็นกบฎ และสมคบกันเพื่อเป็นกบฎ ยุยงราษฎรให้เป็นกบฎ และเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2528 ตั้งแต่เวลากลางคืนก่อนเที่ยงถึงเวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยทุกคนกับพวกที่หลบหนีได้ร่วมกันเป็นกบฎ โดยใช้กำลังพลและอาวุธที่ได้ร่วมกันสะสมไว้ดังกล่าวจี้บังคับขู่เข็ญพลอากาศเอกประพันธ์ ธูปเตมีย์ผู้บัญชาการทหารอากาศ ว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายและควบคุมเอาตัวไปที่กองบัญชาการทหารสูงสุด และบังคับขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายนายประพจน์ สาครบุตร กับพวก ให้อ่านประกาศและคำแถลงการณ์ของจำเลยกับพวกทางสถานนีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย สั่งให้ทหาร ตำรวจ และประชาชนอยู่ในความสงบมิให้ขัดคำสั่ง เพื่อล้มล้างและเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญและได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ซึ่งใช้อยู่ในขณะเกิดเหตุและได้ประกาศล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร โดยประกาศยุบรัฐสภาและยกเลิกคณะรัฐมนตรีซึ่งมีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี กับยึดอำนาจการปกครองของประเทศโดยยึดกองบัญชาการทหารสูงสุดเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกบฎและทำการปิดกั้นถนนพร้อมทั้งยึดสถานที่สำคัญของราชการหลายแห่ง เพื่อให้การล้มล้างและเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเป็นผลสำเร็จ เมื่อวันที่ 9 กันยายน2528 ตั้งแต่เวลากลางคืนก่อนเที่ยงถึงเวลากลางวันต่อเนื่องกันจำเลยที่ 13 กับพวกที่หลบหนีได้ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนกรรมการ และผู้ใช้แรงงานที่ไปชุมนุมและดูเหตุการณ์อยู่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าด้วยวาจา โดยพูดอภิปรายชักชวนให้ประชาชนสนับสนุนพวกจำเลยทำการกบฎ และทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยหนังสือโดยทำคำแถลงการณ์และประกาศคำสั่ง แล้วอ่านส่งกระจายเสียงทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินและรัฐบาล โดบใช้กำบังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนและกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ และมิใช่เพื่อความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 87, 91, 92,113, 114, 116 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4
นายปิยะณัฐ วัชราภรณ์ ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการโดยอ้างว่าผู้ร้องเป็นผู้เสียหาย
ศาลชั้นต้นเห็นว่าผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้พนักงานอัยการ กรมอัยการ เป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113, 114 และ 116อันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ซึ่งถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดต่อรัฐโดยตรง รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด แม้ผู้ร้องจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็มิใช่เป็นผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้องชอบแล้วฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share