คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2856/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ก่อนโจทก์ที่ 1 ปลูกสร้างอาคาร ที่ดินที่ปลูกสร้างอาคารดังกล่าวด้านทิศเหนือและทิศใต้ติดกับทางสาธารณะซึ่งด้านทิศเหนือมีขนาดกว้างประมาณ 2 เมตร ทิศใต้กว้างประมาณ 2.20 เมตร ถึง3 เมตร และตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 72 วรรคสองได้กำหนดไว้ว่า ตึกแถว ห้องแถวอาคารพาณิชย์ โรงงานอุตสาหกรรมและอาคารสาธารณะที่ปลูกสร้างริมทางสาธารณะที่มีความกว้างน้อยกว่า 10.00 เมตร ให้ร่นแนวอาคารห่างจากศูนย์กลางทางสาธารณะอย่างน้อย 6.00 เมตร แต่โจทก์ที่ 1ได้ดำเนินการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวด้านทิศเหนือและทิศใต้เป็นแนวตะเข็บกว้างประมาณ 0.80 เมตร ไปตลอดแนวเขตกั้นไว้ระหว่างที่ดินแปลงที่จะปลูกสร้างอาคารกับทางสาธารณะก่อนยื่นคำขออนุญาตปลูกสร้างประมาณ 20 วัน เห็นได้ชัดว่าโจทก์ที่ 1 ทำเพื่อหลีกเลี่ยงข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต แม้โจทก์จะอ้างว่าแนวตะเข็บดังกล่าว ทางจำเลยที่ 1 ขยายทางสาธารณะก็ตาม โจทก์ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย แม้เขตพระนครจะเคยอนุญาตให้โจทก์ที่ 1 ปลูกสร้างอาคาร 4 ชั้นแล้วในการพิจารณาคำขออนุญาตปลูกสร้างต่อเติมอาคารเป็น 11 ชั้น จำเลยที่ 1 ก็มีสิทธิพิจารณาถึงการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวได้ การที่จำเลยที่ 1 ไม่อนุญาตให้โจทก์ปลูกสร้างอาคารพิพาท จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคาร 4 ชั้น โจทก์ที่ 2ได้กรรมสิทธิ์อาคารดังกล่าวจากโจทก์ที่ 1 ต่อมาวันที่ 24 ธันวาคม2528 โจทก์ทั้งสองประสงค์จะต่อเติมอาคารเป็น 11 ชั้น ชั้นใต้ดิน 1ชั้น จึงยื่นขออนุญาตต่อจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งไม่อนุญาตโดยอ้างว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต การพิจารณาของจำเลยที่ 1ได้กระทำโดยมิได้ตรวจสอบแบบแปลน ทั้งจำเลยที่ 1 ใช้เวลาพิจารณาคำขอเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โจทก์ที่ 1 ได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ยกอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์ต้องเสียค่าปรับให้ผู้จองอาคาร ขอให้ยกคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ 216-10/2530 ของจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 1ออกหนังสืออนุญาตต่อเติมอาคารพิพาทจาก 4 ชั้น เป็น 11 ชั้นชั้นใต้ดิน 1 ชั้น ให้แก่โจทก์ กับให้ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า เมื่อโจทก์ที่ 1 ยื่นขออนุญาตต่อเติมอาคารแล้วโจทก์ที่ 1 เพิกเฉยไม่นำเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ไปรังวัดตรวจสอบแนวที่ดินและจำเลยที่ 1 ติดต่อกับโจทก์ที่ 1 ไม่ได้เป็นเหตุให้การพิจารณาคำขอล่าช้าอาคารพิพาทเดิมโจทก์ก่อสร้างผิดแบบแปลนและแผนผังที่ได้รับอนุญาตหลายประการ ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ และพบว่าโจทก์สร้างอาคารติดกับที่สาธารณะทั้งสี่ด้าน แต่ก่อนที่โจทก์ขออนุญาตต่อเติมอาคารประมาณ14 วัน โจทก์ที่ 1 ได้แบ่งโฉนดที่ดินเป็นแนวตะเข็บเล็ก ๆ กั้นไว้ระหว่างที่ดินแปลงที่ขออนุญาตกับทางสาธารณะ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทั้งอาคารที่โจทก์ที่ 1 ขออนุญาตปลูกสร้างเพิ่มเติมก็สูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ คำสั่งไม่อนุญาตให้ก่อสร้างอาคารและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ 216-60/2530 เป็นคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ชอบแล้วโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์ที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของและได้รับอนุญาตจากเขตพระนครให้ก่อสร้างอาคาร4 ชั้น และชั้นใต้ดิน 1 ชั้น เลขที่ 561-563 ถนนจักรเพชรแขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ต่อมาเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2528 ระหว่างการก่อสร้าง โจทก์ได้ขออนุญาตต่อเติมอาคารดังกล่าวเป็นอาคาร 11 ชั้น และชั้นใต้ดิน 1 ชั้น แต่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งไม่อนุญาตโดยระบุเหตุผลว่า เนื่องจากมีการแบ่งแยกเป็นแนวตะเข็บกั้นไว้ระหว่างที่ดินแปลงที่ขออนุญาตกับทางสาธารณะ เป็นเหตุให้ที่ดินบางส่วนไม่ติดกับทางสาธารณะเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ที่ 1 ได้อุทธรณ์คำสั่งต่อจำเลยที่ 2ซึ่งมีนายเอนก สิทธิประศาสน์ เป็นประธาน แต่จำเลยที่ 2 ยกอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่าการที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งสองก่อสร้างต่อเติมอาคารพิพาท และการที่จำเลยที่ 2 ยกอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งโจทก์ทั้งสองฎีกาว่าโจทก์ที่ 1 ได้ทำการแบ่งแยกที่ดินทางด้านทิศเหนือและทิศใต้เป็นแนวติดต่อกับทางสาธารณะก่อนที่จะขออนุญาตปลูกสร้างอาคาร 4 ชั้น ในที่ดินดังกล่าว ต่อมาโจทก์ที่ 1ได้ยื่นคำขอปลูกสร้างอาคาร 4 ชั้นต่อเขตพระนคร โดยการขออนุญาตปลูกสร้างอาคาร 4 ชั้นอยู่ในอำนาจของเขตพระนคร และเขตพระนครได้อนุญาตให้โจทก์ปลูกสร้างได้แล้ว เมื่อโจทก์ทั้งสองประสงค์จะต่อเติมอาคารดังกล่าวเป็น 11 ชั้นจึงได้ขออนุญาตต่อจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาอนุญาตในชั้นนี้จำเลยที่ 1 ควรจะพิจารณาเฉพาะว่ารากฐานและโครงสร้างอาคารดังกล่าวของโจทก์แข็งแรงเพียงพอที่จะรับน้ำหนักในการต่อเติมเป็น 11 ชั้นได้หรือไม่เท่านั้นไม่มีสิทธิพิจารณาเรื่องอาคารเดิมของโจทก์ว่ามิได้ถอยร่นอาคารห่างจากแนวเขตที่ติดกับทางสาธารณะ 5 เมตรอีก เพราะอาคารเดิมของโจทก์ได้รับอนุญาตถูกต้องอยู่แล้วนั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงได้ความว่า ก่อนโจทก์ที่ 1 ปลูกสร้างอาคาร 4 ชั้นที่ดินที่ปลูกสร้างอาคารดังกล่าวด้านทิศเหนือและทิศใต้ติดกับทางสาธารณะซึ่งด้านทิศเหนือมีขนาดกว้างประมาณ 2 เมตร ทิศใต้กว้างประมาณ 2.20 เมตร ถึง 3 เมตรและตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคารพ.ศ. 2522 ข้อ 72 วรรค 2 ได้กำหนดไว้ว่าตึกแถว ห้องแถวอาคารพาณิชย์ โรงงานอุตสาหกรรม และอาคารสาธารณะที่ปลูกสร้างริมทางสาธารณะที่มีความกว้างน้อยกว่า 10.00 เมตร ให้ร่นแนวอาคารห่างจากศูนย์กลางทางสาธารณะอย่างน้อย 6.00 เมตร แต่โจทก์ที่ 1 ได้ดำเนินการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวด้านทิศเหนือและทิศใต้เป็นแนวตะเข็บกว้างประมาณ 0.80 เมตรไปตลอดแนวเขตกั้นไว้ระหว่างที่ดินแปลงที่จะปลูกสร้างอาคารกับทางสาธารณะก่อนยื่นคำขออนุญาตปลูกสร้างประมาณ 20 วัน ทั้งนี้เป็นที่เห็นได้ชัดว่าการที่โจทก์ที่ 1 ทำการแบ่งแยกที่ดินเป็นตะเข็บไว้ดังกล่าวก็เพื่อหลีกเลี่ยงข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าวแล้ว มิฉะนั้นโจทก์ที่ 1 จะต้องถอยร่นแนวอาคารทั้งสองด้านห่างจากทางสาธารณะประมาณ 4.5 เมตร ถึง 5 เมตร การกระทำของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าวเพื่อให้แนวอาคารห่างจากศูนย์กลางทางสาธารณะน้อยกว่าข้อกำหนดของกฎหมาย จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต การที่โจทก์อ้างว่าที่โจทก์ทั้งสองทำแนวตะเข็บไว้ก่อนสร้างอาคารก็เพื่อขยายทางสาธารณะ และต่อมาจำเลยที่ 1 ก็ได้ขยายทางแล้วนั้น ย่อมถือได้ว่าโจทก์ที่ 1 ได้อุทิศที่ดินนั้นให้เป็นทางสาธารณะโดยปริยายแล้วโจทก์ก็ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพมหานคร โดยต้องร่นแนวอาคารให้ห่างจากทางสาธารณะรวมทั้งที่ดินส่วนที่โจทก์ที่ 1 อุทิศเป็นทางสาธารณะนั้นด้วย เมื่อโจทก์ที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามจึงถือว่าโจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนข้อบัญญัติของกฎหมาย แม้เขตพระนครจะเคยอนุญาตให้โจทก์ที่ 1 ปลูกสร้างอาคาร 4 ชั้นแล้วก็ตาม ในการพิจารณาคำขออนุญาตปลูกสร้างต่อเติมอาคารเป็น 11 ชั้น จำเลยที่ 1 ก็มีสิทธิพิจารณาถึงการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวได้ นอกจากนี้โจทก์ทั้งสองยังปลูกสร้างอาคารโดยฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ อีกหลายประการ ดังที่ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยมาแล้วดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 ไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งสองปลูกสร้างอาคารพิพาทและจำเลยที่ 2 ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 จึงชอบแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องกับคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองที่ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share