คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2856/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าเมรุ เผาศพเป็นของโจทก์สร้างไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ให้ประชาชนใช้เผาศพร่วมกัน การบรรยายฟ้องดังกล่าวชี้ ให้เห็นว่าเมรุ เผาศพของโจทก์ใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง ไม่ว่าโจทก์จะใช้ทำประโยชน์ส่วนตัวหรือให้ประชาชนใช้ร่วมกันก็ยังคงเป็นของโจทก์อยู่นั่นเอง ดังนี้โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องตามนัยแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 2(4) ประกอบมาตรา 28(2).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ได้จ้าง วาน ใช้ จำเลยที่ 2 นำรถแทรกเตอร์ไปไถทำลายเมรุเผาศพของโจทก์ซึ่งสร้างไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ให้ประชาชนใช้เผาศพร่วมกัน และทำลายต้นโพธิ์จำนวน5 ต้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 360 และ 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์ในเรื่องทำลายต้นไม้นั้นโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าต้นไม้ดังกล่าวเป็นของผู้ใด ขาดสาระสำคัญอันเป็นองค์ประกอบของควมผิด ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ สำหรับเมรุเผาศพปรากฏจากฟ้องว่าโจทก์สร้างไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ให้ประชาชนใช้เผาศพร่วมกัน แม้จะได้ความจากทางพิจารณาว่า โจทก์และชาวบ้านได้ออกเงินร่วมกันก่อสร้างและยกให้โจทก์เป็นผู้ดูแลรักษาก็ตาม เมรุเผาศพนี้ก็หาใช่ทรัพย์สมบัติส่วนตัวของโจทก์ไม่ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะที่เกี่ยวกับเมรุเผาศพ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปความ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดเจนว่าเมรุเผาศพเป็นของโจทก์ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องต่อไปว่า เมรุเผาศพนี้สร้างไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ให้ประชาชนใช้เผาศพร่วมกัน ก็เป็นการบรรยายให้เห็นว่าเมรุเผาศพของโจทก์นี้ใช้ประโยชน์อย่างไร เมื่อเมรุเผาศพเป็นของโจทก์ โจทก์จะใช้ทำประโยชน์ส่วนตัวหรือประชาชนใช้ร่วมกันก็ยังคงเป็นของโจทก์อยู่นั่นเอง เพราะเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะใช้ทำประโยชน์อย่างไรก็ได้ การที่โจทก์ใช้เมรุเผาศพของโจทก์เพื่อสาธารณประโยชน์หาทำให้เมรุเผาศพของโจทก์กลายเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบด้วยเหตุผลแล้ว ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share