แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินและโรงสีข้าวจากธนาคารแล้วนำไปให้จำเลยเช่า ต่อมาเกิดเพลิงไหม้โรงสีข้าวและเครื่องจักรอุปกรณ์โรงสีข้าวได้รับความเสียหายทั้งหมดแม้ขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้คดีนี้ โจทก์ยังชำระราคาค่าที่ดินและโรงสีข้าวให้แก่ธนาคารยังไม่ครบตามสัญญา ธนาคารยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ โจทก์จึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและโรงสีข้าวก็ตาม แต่โจทก์เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินและโรงสีข้าวตั้งแต่วันทำสัญญาซื้อขาย โดยโจทก์ได้ให้จำเลยเช่าอาคารโรงสีข้าวเครื่องจักร อุปกรณ์โรงสีข้าวพร้อมทั้งยุ้งฉาง สำนักงาน บ้านพักคนงาน ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ซื้อมาจากธนาคาร อีกทั้งเมื่อโจทก์ชำระราคาที่ดินและโรงสีข้าวครบ โจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ตามสัญญา โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เมื่อเกิดเพลิงไหม้ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถือได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิในทรัพย์นั้นแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าทรัพย์ดังกล่าวให้รับผิดได้
เหตุเพลิงไหม้โรงสีข้าวเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร และเมื่อไม่ปรากฏว่าเหตุไฟฟ้าลัดวงจรนั้นเป็นเพราะความผิดของฝ่ายจำเลยผู้เช่า จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้ให้เช่า
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 161 กับที่ดินตราจองเลขที่ 1792 ตำบลหนองปลาไหล อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร พร้อมสิ่งปลูกสร้างคือโรงสีข้าวและเครื่องจักรอุปกรณ์โรงสีข้าวจากธนาคารกรุงไทย จำกัด แล้วโจทก์ให้จำเลยทั้งเจ็ดเช่าทรัพย์สินดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงนามในสัญญาเช่าแทนจำเลยทั้งเจ็ดซึ่งเป็นหุ้นส่วนร่วมกันประกอบกิจการโรงสีไฟร่วมเจริญ ต่อมาวันที่ 20 ธันวาคม 2531จำเลยทั้งเจ็ดปล่อยปละละเลยไม่ดูแลสงวนรักษาทรัพย์สินที่เช่าปล่อยให้คนงานนำขยะไปเผาบริเวณหลังโรงสีใกล้ ๆ กับรางปล่อยน้ำมันเครื่อง เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้โรงสีข้าวและทรัพย์สินอื่น ๆ ที่เช่าเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน14,950,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันทำละเมิดจนถึงวันฟ้องอีกจำนวน 1,115,106.16 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 16,065,106.16บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 14,950,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งเจ็ดให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 7 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 7 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 7 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 7 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินหนังสือรับรองทำประโยชน์เลขที่ 161 กับที่ดินตราจองเลขที่ 1792 ตำบลหนองปลาไหล อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร รวมเนื้อที่ 118 ไร่ 1 งาน 20 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างคือโรงสีข้าว เครื่องจักรอุปกรณ์โรงสีข้าว อาคารโรงเลี้ยงสุกรและบ้านพัก ราคารวมกัน 4,200,000 บาท กับธนาคารกรุงไทย จำกัด ทรัพย์สินดังกล่าว ธนาคารกรุงไทย จำกัดได้ทำประกันภัยไว้กับบริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัด ในวงเงิน 2,500,000บาท หลังจากนั้นโจทก์นำโรงสีข้าวและเครื่องจักรอุปกรณ์โรงสีข้าวไปให้โรงสีไฟร่วมเจริญเช่ามีกำหนด 5 ปี ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2531 ได้เกิดเพลิงไหม้โรงสีข้าวและเครื่องจักรอุปกรณ์โรงสีข้าวได้รับความเสียหายทั้งหมด ยกเว้นอาคารที่ทำการโจทก์กับบ้านพักคนงาน
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 7 ประการแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้คดีนี้ โจทก์ยังชำระราคาค่าที่ดินและโรงสีข้าวให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด ยังไม่ครบตามสัญญา ธนาคารกรุงไทย จำกัดยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ ดังนั้น โจทก์จึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและโรงสีข้าว แต่โจทก์เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินและโรงสีข้าวตั้งแต่วันทำสัญญาซื้อขาย โดยโจทก์ได้ให้จำเลยทั้งเจ็ดเช่าอาคารโรงสีข้าว เครื่องจักรอุปกรณ์โรงสีข้าวพร้อมทั้งยุ้งฉาง สำนักงาน บ้านพักคนงาน ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ซื้อมาจากธนาคารกรุงไทย จำกัด แม้โจทก์จะชำระราคาที่ดินและโรงสีข้าวไม่ครบ แต่เมื่อโจทก์ชำระราคาที่ดินและโรงสีข้าวครบโจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ตามสัญญา โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย แม้โรงสีข้าวที่โจทก์ซื้อมาโจทก์จะยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ เมื่อเกิดเพลิงไหม้ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถือได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิในทรัพย์นั้นแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดซึ่งเป็นผู้เช่าทรัพย์ดังกล่าวให้รับผิดได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 7 ประการที่สองว่า เหตุเพลิงไหม้เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เหตุเพลิงไหม้โรงสีข้าวเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร และเมื่อไม่ปรากฏว่าเหตุไฟฟ้าลัดวงจรนั้นเป็นเพราะความผิดของฝ่ายจำเลย จำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 7 จึงไม่ต้องรับผิด
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์