แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อที่จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ หรือต่อสู้ไว้แต่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นและจำเลยมิได้คัดค้านนั้น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดฐานะเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์โดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นคนขับรถยนต์โดยประมาททำให้โจทก์เสียหาย ถึงแม้ในทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนขับก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 1 พ้นฐานะจากการเป็นผู้ครอบครองรถเพียงแต่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถอีกฐานะหนึ่งด้วยเท่านั้นกรณีไม่ใช่เรื่องโจทก์นำสืบไม่สมฟ้องจำเลยที่ 1ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหาย
การกล่าวในอุทธรณ์เพียงว่า ค่าเสียหายที่โจทก์นำสืบ และ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาสูงเกินไป โดยมิได้กล่าวรายละเอียดให้ชัดแจ้งว่า ค่าเสียหายรายการใดที่สูงเกินไปเพราะเหตุใด เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก.ท.ร – 1800 โดยมีโจทก์ที่ 2 เป็นคนขับและโจทก์ที่ 3 นั่งไปด้วยในขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก.ท.ณ – 0308 โดยจำเลยที่ 2 ขับรถคันดังกล่าวในขณะเกิดเหตุโดยประมาทเป็นเหตุให้ส่วนท้ายของรถจำเลยที่ 1 เฉี่ยวรถของโจทก์ที่ 1 รถของโจทก์ที่ 1 ชนราวสะพาน รถโจทก์ที่ 1 เสียหายใช้การไม่ได้ โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ได้รับบาดเจ็บ ความเสียหายของโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 78,000 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 194,058 บาท โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 19,506 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสามพร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิด
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก.ท.ณ – 0308 ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 แต่เป็นของมารดาจำเลยที่ 1 เหตุชนกันเกิดจากความประมาทของโจทก์ที่ 2 ฝ่ายเดียว โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อย ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 36,000 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 161,777 บาทและโจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 16,731 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ทำละเมิด ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสามโดยกำหนดค่าทนายให้โจทก์ทั้งสามรายละ 1,000 บาท ยกฟ้องโจทก์เฉพาะคดีที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า
ปัญหาข้อแรกที่ว่าเหตุเกิดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2519 โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2520 คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้นเห็นว่าปัญหาดังกล่าว จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้และปัญหาที่ว่ารถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก.ท.ณ – 0308 มิใช่กรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 นั้น แม้จำเลยจะให้การต่อสู้ไว้ แต่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นและจำเลยที่ 1 มิได้คัดค้าน ปัญหาทั้งสองข้อดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 มาตรา 7 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเหตุที่รถชนกันเป็นเพราะความประมาทของจำเลยที่ 1
ปัญหาที่ว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ขับรถจำเลยที่ 1 โดยประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์ชนกันและโจทก์ได้รับความเสียหาย แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ ถือได้ว่าโจทก์นำสืบไม่สมฟ้อง จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายนั้น เห็นว่าโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์คันที่เกิดเหตุซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 วรรคแรกบัญญัติว่า “บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใด ๆ อันเป็นด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแก่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง” เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถคันดังกล่าวและนั่งไปด้วยในขณะเกิดเหตุ ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองรถ แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏในชั้นพิจารณาว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถคันดังกล่าวด้วยก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 1 พ้นฐานะจากการเป็นผู้ครอบครองรถ เพียงแต่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถอีกฐานะหนึ่งด้วยเท่านั้น กรณีมิใช่เรื่องโจทก์นำสืบไม่สมฟ้อง
ส่วนเรื่องค่าเสียหายจำเลยอุทธรณ์เพียงว่า ค่าเสียหายที่โจทก์นำสืบและศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาสูงเกินไป โดยมิได้กล่าวรายละเอียดให้แจ้งชัดว่า ค่าเสียหายรายการใดสูงเกินไปเพราะเหตุใด เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ชอบแล้ว
พิพากษายืน