คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1105/2504

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ถ้าอายุความฟ้องคดีอาญาขณะกระทำผิดแตกต่างกับขณะฟ้องต้องใช้อายุความที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดบังคับ
ความผิดอันยอมความได้ ต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด มิฉะนั้นจะขาดอายุความ ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 80 แต่ก็ต้องฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 78 เพราะอายุความร้องทุกข์ต้องอยู่ในบังคับอายุความฟ้องคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงินโจทก์โดยหลอกลวงว่า ที่ดินบ้านเรือนที่จำเลยให้โจทก์ยึดถือไว้นั้นเป็นของจำเลย ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยเรียกเงินคืน โจทก์ชนะคดี แต่ในชั้นบังคับคดียึดทรัพย์มีนางเย็นร้องขัดทรัพย์ เป็นเหตุให้โจทก์ต้องถอนการยึดทรัพย์ โจทก์เพิ่งทราบว่าจำเลยทุจริตหลอกลวงโจทก์เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2502 ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 304, 306(4) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341

ศาลชั้นต้นตรวจฟ้องแล้วเห็นว่า เหตุเกิดวันที่ 18 เมษายน 2496โจทก์ เพิ่งฟ้องวันที่ 22 ตุลาคม 2502 เกิน 5 ปี ขาดอายุความ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาว่า อายุความต้องเริ่มนับแต่วันรู้เรื่องความผิดคือ วันที่23 กันยายน 2502 ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 80 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(3) ส่วนกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 78 มุ่งบัญญัติถึงความผิดอื่น หาใช่บัญญัติเกี่ยวโยงมาถึงความผิดส่วนตัวไม่ เพราะความผิดส่วนตัวมีมาตรา 80 บัญญัติอยู่ชัดแจ้งแล้ว

ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำผิดคดีนี้ได้กระทำเมื่อใช้กฎหมายลักษณะอาญา จึงต้องใช้อายุความฟ้องตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 78(3) ซึ่งมีกำหนด 5 ปี ส่วนอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(3) กำหนดให้ฟ้องภายใน 10 ปีนั้น ไม่เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิด จะนำมาปรับแก่คดีนี้ไม่ได้

กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 78 นั้น กำหนดอายุความฟ้องร้องคดีอาญาไว้ทุกประเภทความผิดลดหลั่นกันตามความสำคัญแห่งโทษแต่ถ้าเป็นความผิดต่อส่วนตัวแล้ว กฎหมายได้กำหนดอายุความให้มีการร้องทุกข์ไว้ด้วยมาตรา 80 ซึ่งเป็นวิธีการอีกอย่างหนึ่งเพื่อจะให้คดีประเภทนี้เสร็จสิ้นไปโดยเร็ว ซึ่งมิได้เป็นอายุความฟ้องคดีอาญาโดยตรง คือ ถ้าได้ร้องทุกข์ตามมาตรา 80 แล้ว ก็ฟ้องคดีความผิดต่อส่วนตัวเกิน 3 เดือน แต่ไม่เกินอายุความฟ้องคดีตามมาตรา 78 ได้ฉะนั้น มาตรา 80 จึงอยู่ในบังคับมาตรา 78 ด้วย นัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1036/2482 คดีโจทก์จึงขาดอายุความฟ้องร้องแล้ว

พิพากษายืน

Share