คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 285/2563

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะเกิดเหตุจำเลยใช้อาวุธจี้ที่หลังผู้เสียหายในขณะที่ผู้เสียหายนั่งคร่อมอยู่บนรถจักรยานยนต์ ผู้เสียหายเบิกความและให้การว่า เมื่อหันไปมอง คนร้ายก็ร้องห้ามในทันทีว่าไม่ให้หันไปมอง เชื่อว่า ผู้เสียหายต้องเกิดความกลัวและไม่กล้าหันมองไปอีก ผู้เสียหายจึงมีเวลาหันไปมองอาวุธที่จำเลยใช้จี้หลังผู้เสียหายในระยะเวลาอันสั้นมาก ทำให้สงสัยว่าผู้เสียหายมีโอกาสเห็นอาวุธที่คนร้ายใช้จี้หลังผู้เสียหายเป็นอาวุธปืนดังที่ให้การในชั้นสอบสวนหรือไม่ หรือเป็นเพียงความเข้าใจของผู้เสียหายเองว่าเป็นอาวุธปืน จึงฟังไม่ได้ว่าผู้เสียหายเห็นอาวุธที่จำเลยใช้จี้ชิงรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายว่าเป็นอาวุธปืน ประกอบกับเจ้าพนักงานตำรวจไม่สามารถตรวจยึดอาวุธปืนได้จากจำเลย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยมีและใช้อาวุธปืนชิงรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคแรก เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์เป็นที่สงสัยว่าจำเลยมีและใช้อาวุธปืนในการชิงรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายหรือไม่ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองและพาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แม้ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตาม ป.อ. มาตรา 371 ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงก็ตาม ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกฟ้องในความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาตได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225 เนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 339, 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคารถจักรยานยนต์ 40,000 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานชิงทรัพย์โดยมีและใช้อาวุธปืน จำคุก 15 ปี ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 16 ปี 6 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 11 ปี ให้จำเลยคืนรถจักรยานยนต์หรือใช้ราคาทรัพย์ดังกล่าวเป็นเงิน 40,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2560 เวลาประมาณ 15 นาฬิกา ขณะนายสัญญา ผู้เสียหาย ซึ่งประกอบอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง ขับรถจักรยานยนต์ ไปซื้ออาหารที่ตลาดนัดหน้าอำเภอเคียนซา มีคนร้ายสวมหมวกไหมพรมปิดถึงหน้าผากยืนอยู่ริมถนนหน้าโรงเรียนเคียนซาเรียกผู้เสียหายให้หยุดรถ แล้วว่าจ้างผู้เสียหายให้ขับรถจักรยานยนต์ไปส่งที่บ้านกำนันขาว ระหว่างทางผู้เสียหายแวะจอดรถจักรยานยนต์หน้าร้านฮีโร่ยานยนต์ เพื่อสอบถามเกี่ยวกับป้ายทะเบียนรถจักรยานยนต์ คนร้ายจึงขอยืมรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายเพื่อขับไปดูแบตเตอรี่ที่ร้านจำหน่ายแบตเตอรี่ซึ่งอยู่ห่างประมาณ 500 เมตร ผู้เสียหายให้คนร้ายยืมรถจักรยานยนต์ไปและยืนรออยู่หน้าร้านฮีโร่ยานยนต์ ต่อมาประมาณ 10 นาที คนร้ายขับรถจักรยานยนต์กลับมา จากนั้นผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์มีคนร้ายนั่งซ้อนท้ายไปตามถนนปลายหริกและถนนเซาเทิร์นสาย 44 มุ่งหน้าไปทางจังหวัดกระบี่เพื่อไปส่งคนร้ายที่บ้านกำนันขาว เมื่อผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์มาถึงที่เกิดเหตุ คนร้ายใช้อาวุธจี้ด้านหลังผู้เสียหายแล้วเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไป ต่อมาเวลา 16.20 นาฬิกา ผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์ต่อร้อยตำรวจเอกสมนึก พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเคียนซา วันที่ 2 มกราคม 2561 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้ในความผิดฐานอื่น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ สำหรับความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและยังคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานดังกล่าว เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 8 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนความผิดฐานชิงทรัพย์โดยมีและใช้อาวุธปืนนั้น เห็นว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน ผู้เสียหายมีโอกาสเห็นคนร้าย 2 ครั้ง ครั้งแรก ขณะคนร้ายยืนเรียกรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายแล้วว่าจ้างให้ผู้เสียหายไปส่งที่บ้านกำนันขาว และครั้งที่สอง ขณะคนร้ายพูดขอยืมรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายเพื่อขับไปดูแบตเตอรี่ โดยผู้เสียหายเบิกความตอบโจทก์ถามติงว่า ผู้เสียหายเห็นคนร้ายทั้งสองครั้งในระยะ 1 เมตร ดังนี้ แม้คนร้ายจะสวมใส่หมวกไหมพรมปิดถึงหน้าผาก แต่ก็มิได้บังใบหน้าแต่อย่างใด เชื่อว่าผู้เสียหายมีโอกาสเห็นและจดจำคนร้ายได้ว่าเป็นจำเลย ประกอบกับหลังเกิดเหตุ 8 วัน เมื่อผู้เสียหายพบจำเลยที่สถานีตำรวจภูธรเคียนซา ผู้เสียหายก็แจ้งต่อร้อยตำรวจเอกธานี ผู้จับกุมจำเลยว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ชิงทรัพย์ผู้เสียหายไป ตามคำเบิกความของผู้เสียหายและบันทึกคำให้การของร้อยตำรวจเอกธานี อันเป็นการสนับสนุนคำเบิกความของผู้เสียหายให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น ฟังได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ชิงทรัพย์รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไป ส่วนฎีกาของจำเลยข้ออื่น ๆ ที่คัดค้านว่าจำเลยไม่ใช่คนร้ายเป็นเพียงรายละเอียดไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยข้างต้น จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่าจำเลยมีและใช้อาวุธปืนในการชิงทรัพย์หรือไม่ ผู้เสียหายเบิกความว่า เมื่อจอดรถจักรยานยนต์ จำเลยลงจากรถและใช้อาวุธมีดหรืออาวุธปืนซึ่งผู้เสียหายไม่เห็นจี้ที่หลังผู้เสียหายขณะที่ผู้เสียหายนั่งอยู่บนรถจักรยานยนต์ แล้วบอกผู้เสียหายให้ลงจากรถจักรยานยนต์และไม่ให้ผู้เสียหายหันมามอง พร้อมพูดว่า ถ้าหันมามองจะยิง แต่ผู้เสียหายให้การชั้นสอบสวนว่า เมื่อผู้เสียหายจอดรถจักรยานยนต์แล้ว คนร้ายลงจากรถและชักอาวุธปืนจี้ด้านหลังผู้เสียหาย ผู้เสียหายหันไปมองจึงเห็นว่าคนร้ายถืออาวุธปืนลูกโม่สีขาว ยาวประมาณ 4 นิ้ว ในมือขวา จากนั้นคนร้ายพูดขู่ว่า อย่าหันหน้ามาทางนี้ หันไปทางกระบี่ ถ้าหันมาจะฆ่าให้ตาย แตกต่างกัน เมื่อขณะเกิดเหตุจำเลยใช้อาวุธจี้หลังผู้เสียหายในขณะที่ผู้เสียหายนั่งคร่อมอยู่บนรถจักรยานยนต์ การที่ผู้เสียหายจะหันไปมองอาวุธที่อยู่ด้านหลังในระยะประชิดตัวและในลักษณะเอี้ยวตัวย่อมไม่สามารถมองเห็นได้อย่างถนัดนัก ประกอบกับผู้เสียหายเบิกความและให้การตรงกันว่า เมื่อหันไปมอง คนร้ายก็ร้องห้ามในทันทีว่าไม่ให้หันไปมอง เชื่อว่าผู้เสียหายต้องเกิดความกลัวและไม่กล้าหันมองไปอีก ผู้เสียหายจึงมีเวลาหันไปมองอาวุธที่จำเลยใช้จี้หลังผู้เสียหายในระยะเวลาอันสั้นมาก ทำให้สงสัยว่าผู้เสียหายมีโอกาสเห็นอาวุธที่คนร้ายใช้จี้หลังผู้เสียหายว่าเป็นอาวุธปืนดังที่ให้การไว้ในชั้นสอบสวนหรือไม่ หรือเป็นเพียงความเข้าใจของผู้เสียหายเองว่าเป็นอาวุธปืน จึงฟังไม่ได้ว่าผู้เสียหายเห็นอาวุธที่จำเลยใช้จี้ชิงรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายว่าเป็นอาวุธปืน ประกอบกับเจ้าพนักงานตำรวจไม่สามารถตรวจยึดอาวุธปืนได้จากจำเลย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยมีและใช้อาวุธปืนชิงรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคแรก เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์เป็นที่สงสัยว่า จำเลยมีและใช้อาวุธปืนในการชิงรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายหรือไม่ดังวินิจฉัยข้างต้น ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองและพาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แม้ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกฟ้องในความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาตได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225 เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคแรก จำคุก 6 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share