คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2849/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้บาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับปรากฏตามรายงานชันสูตรบาดแผลของแพทย์ว่ามีรอยฟกช้ำที่คอ ที่หลัง และที่สะเอว มีโลหิตคั่งภายในช่องท้อง ลำไส้ส่วนนอกฉีกขาด แพทย์ต้องผ่าตัดช่องท้อง จะรักษาแผลหายเกินยี่สิบเอ็ดวันก็ตามแต่เมื่อต่อมาราว 7 วัน ผู้เสียหายได้ผูกคอตายไปเสียก่อน และได้ความตามคำแพทย์ผู้ชันสูตรบาดแผลและเป็นผู้รักษาผู้เสียหายว่าเมื่อผู้เสียหายผูกคอตาย แผลจวนจะหายแล้ว สามารถเดินไปมาได้บ้างหลังจากผ่าตัดแล้วเพียง3 วัน อาจจะทำงานจักสานได้หลังผ่าตัด 10 วันเช่นนี้ แม้ผู้เสียหายจะไม่ถึงแก่ความตายเพราะเหตุอื่นไปก่อนครบ 20 วันหลังจากถูกทำร้าย ก็ยังไม่รับฟังไม่ถนัดว่าผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บถึงทุพพลภาพด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วัน จึงไม่ใช่อันตรายสาหัส
เมื่อศาลเชื่อข้อเท็จจริงเป็นดังคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยซึ่งแตกต่างกับคำให้การชั้นศาล แม้คำให้การชั้นสอบสวนนั้นโจทก์เป็นฝ่ายส่งอ้างเพื่อหักล้างคำเบิกความของจำเลยในชั้นศาล ก็นับได้ว่าคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยมีประโยชน์แก่การพิจารณา เป็นเหตุปรานีลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันตีและกระทืบนักโทษชายสมคิด บัวคำ โดยจำเลยที่ 1 ใช้ไม้ตะบองตีถูกนักโทษชายสมคิดที่บริเวณคอ หลังและสะเอว เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส ไส้แตกถึงทุพพลภาพ ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วัน ปรากฏตามรายงานการตรวจบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297, 83

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามฃประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ให้จำคุกคนละ 4 ปี

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองต่างคนต่างทำร้ายผู้เสียหาย มิใช่มีเจตนาร่วมกัน และข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าผู้เสียหายต้องทุพพลภาพป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน และคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยมีประโยชน์แก่การพิจารณา พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุกจำเลยคนละ 2 ปีลดโทษให้จำเลยคนละ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุกจำเลยคนละ 1 ปี 4 เดือน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้เสียหายถูกจำเลยที่ 1 ใช้ไม้ตะบองขนาดตามฟ้องตีหลายที หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองได้ใช้เท้ากระทืบท้องผู้เสียหายอีกหลายที ปรากฏตามรายงานชันสูตรบาดแผลของแพทย์ว่าผู้เสียหายมีรอยฟกช้ำที่คอ ที่หลัง และที่สะเอว มีโลหิตคั่งภายในช่องท้อง ลำไส้ใหญ่ส่วนนอกฉีกขาดแพทย์ต้องทำการผ่าตัดบาดแผลจะรักษาหายเกินยี่สิบเอ็ดวัน และต่อมาผู้เสียหายได้ผูกคอตายที่โรงพยาบาลที่ผู้เสียหายรักษาตัวอยู่นั้นเอง

สำหรับปัญหาว่า บาดแผลที่ผู้เสียหายถูกทำร้ายเป็นบาดแผลสาหัสตามกฎหมายหรือไม่ นั้น คดีได้ความตามคำนายแพทย์มนตรี เศรษฐบุตรพยานโจทก์ผู้ตรวจชันสูตรบาดแผลและเป็นผู้รักษานักโทษชายสมคิดผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บตามรายงานชันสูตรบาดแผลของแพทย์ดังกล่าวข้างต้นจริง นายแพทย์มนตรี ต้องผ่าตัดช่องท้อง ปรากฏว่าเยื่อบุลำไส้ส่วนนอกมีรอยช้ำฉีกขาดมีเลือดออกในช่องท้องต้องรักษาเกินกว่า 21 วันจึงจะหาย ต่อมาราว 7 วัน แผลที่รักษาจวนจะหายแล้ว ผู้เสียหายได้ผูกคอตายที่โรงพยาบาล หลังผ่าตัดครบ 3 วัน ผู้เสียหายลุกเดินได้บ้าง ถ้าจะให้จักตอก สานไม้ไผ่เล็ก ๆ น้อย ๆ หลังผ่าตัด 10 วัน ผู้เสียหายอาจจะทำได้ ถ้อยคำของแพทย์มนตรีดังกล่าวแล้ว แม้ผู้เสียหายจะไม่ถึงแก่ความตายเพราะเหตุอื่นไปก่อนครบ 20 วันหลังจากถูกจำเลยทำร้าย ก็ยังรับฟังไม่ได้ถนัดว่าผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บถึงทุพพลภาพด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วัน เพราะนายแพทย์มนตรีให้ข้อเท็จจริงไว้โดยชัดเจนว่าเมื่อผู้เสียหายผูกคอตายนั้น แผลจวนจะหายแล้ว และสามารถเดินไปมาได้บ้าง หลังจากผ่าตัดแล้วเพียง 3 วัน การคาดคะเนของนายแพทย์มนตรีที่ว่าอาจจะทำงานจักสานได้หลังผ่าตัดแล้ว 10 วัน จึงไม่ใช่การคาดคะเน โดยไม่อาจเป็นจริงได้เสียทีเดียว และที่ผู้เสียหายผูกคอตายอาจเนื่องมาด้วยเหตุอื่นมิใช่เพราะเหตุต้องทนทุกขเวทนาดังที่โจทก์ฎีกา บาดแผลของผู้เสียหาย จึงไม่ใช่อันตรายสาหัสตามกฎหมาย ฎีกาของโจทก์อีกข้อหนึ่งที่ว่า ศาลอุทธรณ์ลดโทษให้จำเลยทั้งสองเพราะให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นการไม่ชอบนั้น โจทก์อ้างว่าศาลล่างวินิจฉัยคดีนี้โดยอาศัยพยานหลักฐานของโจทก์ในชั้นศาลมิได้อาศัยคำให้การในชั้นสอบสวน ทั้งคำให้การชั้นสอบสวนนั้นโจทก์เป็นฝ่ายส่งอ้างเพื่อหักล้างคำเบิกความของจำเลยในชั้นศาล ศาลฎีกาได้พิจารณาแล้ว ปรากฏว่าคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยมีความสำคัญประกอบการวินิจฉัยของศาลอยู่เป็นอันมาก เพราะศาลเชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นดังคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวน ซึ่งแตกต่างกับคำให้การชั้นศาล นับได้ว่าคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยมีประโยชน์แก่การพิจารณาเป็นเหตุอันควรปรานีลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ได้โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าโจทก์เป็นฝ่ายส่งคำให้การชั้นสอบสวนนั้น เพราะเหตุดังโจทก์อ้างหรือไม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share