คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2770/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับไปชนกับรถยนต์ของโจทก์ และไม่ได้เป็นคู่ความในคดีอาญาที่พนักงานอัยการ ฟ้องขอให้ลงโทษโจทก์ จำเลยที่ 3 จึงเป็นบุคคลภายนอกไม่ถูกผูกพันโดยคำพิพากษาในคดีอาญาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาสำนวนแรกให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทน 15,150 บาท กับดอกเบี้ยแก่โจทก์ ส่วนสำนวนหลังที่จำเลยที่ 3 เป็นโจทก์ ให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 5 ก – 3234 ของโจทก์ชนกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 น – 9667 ที่จำเลยที่ 1 ขับ แล้วรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับเสียหลักแฉลบไปชนกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 3 ค – 5492 อีกคันหนึ่งซึ่งนายเพิ่มศักดิ์ สุระประเสริฐ เป็นผู้ขับ รถยนต์ทั้งสามคันเสียหาย จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 น – 9667 กับ 3 ค – 5492 ดังกล่าว โจทก์กับจำเลยที่ 3 จึงมาฟ้องเรียกค่าเสียหายซึ่งกันและกันเป็นคดีนี้ และเหตุที่รถชนกันนี้ พนักงานอัยการได้ฟ้องขอให้ลงโทษโจทก์ฐานขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้นางศิรินารถ สว่างโรจน์ ซึ่งนั่งมาในรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับได้รับอันตรายแก่กาย ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 8027/2521 หมายเลขแดงที่ 18359/2521 ของศาลแขวงพระนครใต้ ศาลได้พิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว ให้ยกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่ารับฟังไม่ได้ว่าโจทก์กระทำผิดตามฟ้อง (เอกสารหมาย จ.1) ซึ่งเป็นการฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์มิได้ขับรถยนต์โดยประมาท ตามฎีกาของโจทก์ คงมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ทั้งสองสำนวนให้ศาลชั้นต้นสืบพยานในประเด็นว่าโจทก์หรือจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายขับรถยนต์โดยประมาทแล้ววินิจฉัยในเรื่องค่าเสียหายต่อไป แล้วพิพากษาใหม่นั้นชอบหรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า แม้มูลกรณีของคดีทั้งสองสำนวนนี้เป็นเรื่องเดียวกันกับคดีอาญาที่พนักงานอัยการฟ้องขอให้ลงโทษโจทก์ตามสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 18359/2521 ของศาลแขวงพระนครใต้ก็ตาม แต่จำเลยที่ 3 เป็นบุคคลภายนอก มิได้เป็นผู้เสียหายหรือคู่ความในคดีดังกล่าวนั้นด้วยแต่อย่างใด จำเลยที่ 3 จึงไม่ถูกผูกพันโดยคำพิพากษาในคดีดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 จำเลยที่ 3 มีสิทธิยกข้อต่อสู้และนำสืบพยานว่าเหตุที่รถชนกันเป็นเพราะโจทก์ขับรถยนต์โดยประมาท ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วยกับศาลอุทธรณ์ที่ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาในประเด็นข้อนี้ใหม่ แล้ววินิจฉัยในประเด็นเรื่องค่าเสียหายต่อไป แต่ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 มีสิทธินำสืบว่าจำเลยที่ 1 มิได้เป็นฝ่ายขับรถยนต์โดยประมาทด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ฉบับลงวันที่ 21 มิถุนายน 2522 จำเลยที่ 3 แถลงว่าจะขอสืบพยานเฉพาะประเด็นเรื่องค่าเสียหาย กับประเด็นว่าโจทก์เป็นฝ่ายประมาท (ซึ่งศาลชั้นต้นสั่งงดไม่ให้สืบ) เท่านั้น นอกจากนี้ไม่ติดใจสืบพยานในข้ออื่นอีก การที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสืบพยานในข้อที่ว่าจำเลยที่ 1 มิได้เป็นฝ่ายขับรถยนต์โดยประมาท ซึ่งจำเลยที่ 3 แถลงไม่ติดใจสืบแล้ว จึงไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณา

พิพากษาแก้เป็นว่า คงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามประเด็นที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองสำนวนระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ทั้งสามศาล ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อพิพากษาใหม่”

Share