คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2848/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นผู้ผูกขาดกิจการรถแท็กซี่ประจำโรงแรมมีบุคคลนำรถเข้ามาร่วมพร้อมทั้งพนักงานขับรถ ถ้าไม่มีพนักงานขับรถจำเลยจะจัดหาให้ พนักงานขับรถจะต้องจ่ายค่าจอดรถให้จำเลย และต้องจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงค่าน้ำมันหล่อลื่น ค่าซ่อมและค่าบำรุงรักษารถคนละครึ่งกับจำเลยพนักงานขับรถมีรายได้จากผู้ใช้บริการรถที่ตนขับซึ่งจำเลยจะเป็นผู้เก็บรวบรวมไว้เมื่อหักค่าใช้จ่ายตามที่ตกลงกันแล้วจำเลยจึงจัดแบ่งให้ทุกต้นเดือนโดยจำเลยมีสิทธิได้รับ 70 เปอร์เซ็นต์ พนักงานขับรถมีสิทธิได้รับ30 เปอร์เซ็นต์ ดังนี้ เงินที่พนักงานขับรถมีสิทธิจะได้รับมิใช่เงินของจำเลยมีลักษณะต่างไปจากค่าจ้างซึ่งเป็นเงินของนายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง และความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับพนักงานขับรถก็มิใช่ความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างกับลูกจ้าง คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงาน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยทั้งสอง จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ไม่บอกกล่าวล่วงหน้า จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและคืนเงินประกันค่าเสียหายในการทำงานแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองมิได้เป็นนายจ้างของโจทก์ โจทก์เป็นหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 1 คดีจึงมิได้อยู่ในข่ายบังคับของกฎหมายแรงงาน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงินประกันค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสิบห้า คำขออื่นให้ยก

โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เดิมนายอาคม สามีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ก่อตั้งและผู้จัดการบริษัทซึ่งดำเนินการผูกขาดบริการแท็กซี่ป้ายเขียวให้แก่แขกที่มาพักที่โรงแรมดุสิตธานี มีบุคคลภายนอกนำรถเข้ามาร่วมและหาพนักงานขับรถมาเอง ถ้าไม่มีพนักงานขับรถนายอาคมก็จะจัดหาให้ โดยนายอาคมให้เงินเดือนเดือนละ 900 บาท แต่พนักงานขับรถจะต้องวางเงินประกันความเสียหาย นอกจากเงินเดือนแล้วพนักงานขับรถยังได้ค่าทิบจากแขกและเงินเปอร์เซ็นต์จากร้านค้าที่พนักงานขับรถนำแขกไปซื้อสินค้า ต่อมาปี พ.ศ. 2521 นายอาคมกับพนักงานขับรถทั้งหมดตกลงกันเปลี่ยนแปลงการจัดสรรรายได้ของพนักงานขับรถเป็นได้ 30 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ยอดวิ่งทั้งหมดที่ได้จากแขกแต่พนักงานขับรถจะต้องเสียค่าน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น ค่าซ่อม และค่าบำรุงรักษาคนละครึ่งกับนายอาคม ต้องจ่ายค่าจอดรถเป็นรายเดือน และยกเลิกระบบเงินเดือน ต่อมาปลายปี พ.ศ. 2522 นายอาคมถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1 รับช่วงกิจการและถือระบบการแบ่งรายได้เหมือนเดิมตลอดมาจนกระทั่งกลางปี พ.ศ. 2524 โจทก์ทั้งสิบห้าได้ยื่นข้อเรียกร้องขอให้เปลี่ยนเป็นระบบเงินเดือน จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 มิให้โจทก์ทั้งสิบห้าเป็นพนักงานขับรถต่อไป คงมีปัญหาที่จะต้องพิจารณาเบื้องต้นตามอุทธรณ์โจทก์ว่า โจทก์ทั้งสิบห้าเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 หรือไม่ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นปรากฏว่าความสัมพันธ์หรือข้อตกลงระหว่างโจทก์ทั้งสิบห้า กับนายอาคมหรือจำเลยที่ 1 ซึ่งรับช่วงกิจการเป็นเรื่องความตกลงแบ่งรายได้กัน เงินที่เป็นรายได้ดังกล่าวแขกผู้ว่าจ้างโจทก์ทั้งสิบห้าให้ขับไปส่งสถานที่ต่าง ๆ เป็นผู้จ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสิบห้าเพียงแต่มีข้อตกลงกันระหว่างโจทก์ทั้งสิบห้าและนายอาคมหรือจำเลย ให้นายอาคมหรือจำเลยเป็นผู้จัดแบ่งให้ตามอัตราส่วนและระยะเวลาที่กำหนดคือทุกต้นเดือน เงินที่โจทก์ทั้งสิบห้ามีสิทธิจะได้รับมิใช่เงินของนายอาคมหรือจำเลยที่ 1 มีลักษณะต่างไปจากค่าจ้างซึ่งเป็นเงินของนายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง โจทก์ทั้งสิบห้าเป็นผู้เข้ามามีส่วนออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการของนายอาคมหรือจำเลยที่ 1 แตกต่างไปจากลักษณะของลูกจ้าง สำหรับข้อบังคับที่จำเลยที่ 1 กำหนดขึ้นในการทำงาน หากพนักงานขับรถหรือโจทก์คนใดไม่ปฏิบัติตามมีความผิดนั้น เป็นระเบียบข้อบังคับซึ่งโจทก์ทั้งสิบห้าและจำเลยที่ 1 อาจตกลงกันใหม่ขึ้นได้ เพื่อให้กิจการดำเนินไปอย่างมีระบบในฐานะผู้ทำงานด้วยกัน ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ทั้งสิบห้ากับจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เป็นความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างและลูกจ้าง คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานกลางที่จะพิจารณาพิพากษาดังที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8 จึงชอบที่จะยกฟ้องโจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงินประกันค่าเสียหายแก่โจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่ขอให้จำเลยที่ 1 คืนเงินประกันค่าเสียหายให้แก่โจทก์เสียด้วย แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องเรียกเงินประกันค่าเสียหายใหม่ต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาภายในอายุความ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share