คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1086/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยผิดสัญญา ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยผิดสัญญา แต่โจทก์ไม่เสียหาย ให้ยกฟ้อง จำเลยมิได้อุทธรณ์ในประเด็นข้อนี้ไว้ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย จำเลยจะฎีกาว่าจำเลยมิได้ผิดสัญญามิได้ เพราะประเด็นเรื่องผิดสัญญายุติถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว
ค่าเสียหายฐานผิดสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 นั้น แม้โจทก์จะนำสืบถึงค่าเสียหายไม่ได้ ศาลก็คำนวณค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นให้โจทก์ได้ตามพฤติการณ์ที่ปรากฏในคดี (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 12/2509)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยเข้าหุ้นส่วนกันทำอิฐ ตามสัญญาโจทก์มีสิทธิปลูกโรงอิฐเพิ่มเติมในที่ดินของจำเลยไม่เกิน 50 เมตร จำเลยได้ผิดสัญญาข้อนี้ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คือ เคยเผาอิฐได้เดือนละ 2 เตา ต้องลดลงเหลือเดือนละ 1 เตาบ้างไม่ถึงบ้างขาดประโยชน์ไปเดือนละ 3,290 บาท จึงขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 22 เดือนเป็นเงิน 72,380 บาท

จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้ผิดสัญญา และโจทก์มิได้เสียหายดังฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยผิดสัญญา แต่โจทก์ไม่เสียหายเพราะพยานโจทก์เองว่าไม่ขาดรายได้ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยผิดสัญญาและเห็นว่าจำเลยต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์เสมอไป อ้างฎีกาที่ 1037/2491 พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 10,000 บาท

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยผิดสัญญาจำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านประเด็นข้อนี้ไว้ ประเด็นนี้จึงยุติถึงที่สุด จำเลยจะรื้อฟื้นขึ้นมาฎีกาอีกมิได้

ส่วนค่าเสียหายนั้น ความเสียหายของโจทก์อยู่ตรงที่ต้องซื้อดินและเช่าขุดดินมาทำอิฐ ไม่ใช่อยู่ที่โจทก์เผาอิฐมีจำนวนลดลงดังที่โจทก์ฟ้อง แต่โจทก์มิได้นำสืบถึงค่าเสียหายที่ต้องซื้อดินและเช่าขุดดินมาทำอิฐว่ามากน้อยเพียงไร ปัญหาว่าศาลจะกำหนดค่าเสียหายให้เองตามสมควรได้หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่าแม้โจทก์จะนำสืบถึงค่าเสียหายไม่ได้ ศาลก็คำนวณค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นให้โจทก์ได้ตามพฤติการณ์ที่ปรากฏในคดีและเห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ 10,000 บาท ชอบแล้ว จึงพิพากษายืน

Share