คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3682/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สามียกที่ดินให้แก่ภริยาขณะยังอยู่กินฉันสามีภริยาอยู่ ทั้งตามพฤติการณ์ไม่พอฟังว่าฝ่ายภริยาไม่ต้องการส่วนแบ่งสินสมรสอีก ดังนี้ จะถือว่ามีการแบ่งสินสมรสเสร็จสิ้นแล้วหาได้ไม่
การแบ่งสินสมรสในกรณีชายมีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายหลายคนและต่างมีสินเดิมด้วยกัน กฎหมายลักษณะผัวเมียมิได้มีบทบังคับว่าภริยาหลวงกับภริยาน้อยมีส่วนในสินสมรสต่างกันอย่างไร ตามความยุติธรรมภริยาหลวงและภริยาน้อยควรได้ส่วนแบ่งเท่ากัน (อ้างฎีกาที่ 495/2463 และที่ 1691/2509)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยตั้งแต่พ.ศ. 2476 มีบุตรด้วยกันคนหนึ่งคือ นางดวงแข ศิวะเกื้อ พ.ศ. 2504 จำเลยประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เล่นการพนันและเจ้าชู้ข่มขืนใจนางดวงแขจะเอาเป็นภริยา โจทก์กับบุตรสาวไม่ยอมก็ถูกจำเลยทำร้ายด่าว่าอย่างหยาบคายและขับไล่โจทก์กับบุตรสาวไปอยู่ที่อื่น โจทก์กับบุตรสาวจึงต้องไปอยู่ที่อื่นตั้งแต่นั้นมา โดยจำเลยมิได้ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดู เป็นการจงใจละทิ้งร้างโจทก์เกินกว่า 1 ปี ระหว่างโจทก์จำเลยอยู่กินฉันสามีภริยาได้ทำมาหาได้ร่วมกันเกิดสินสมรสขึ้น ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์และแบ่งสินสมรส

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยนางดวงแขไม่ใช่บุตรจำเลย ทรัพย์ที่โจทก์ขอแบ่งเป็นทรัพย์ที่จำเลยกับนางเง็กภริยาทำมาหาได้ร่วมกัน โจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง จำเลยมีภริยาตามกฎหมายลักษณะผัวเมียอยู่แล้ว 4 คน หากโจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งสินสมรสก็ได้รับในฐานะภริยาน้อยคนที่สี่ ทุกคนต่างมีสินเดิมจำเลยมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งสินสมรสสองในสามส่วน ภริยาได้หนึ่งในสาม ส่วนของภริยานั้นภริยาน้อยได้ครึ่งหนึ่งของภริยาหลวงตามลำดับ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับหนึ่งในเก้าสิบสามส่วนโจทก์ได้รับส่วนแบ่งที่ดินไปแล้วหนึ่งโฉนดถือได้ว่าโจทก์จำเลยได้แบ่งทรัพย์กันแล้ว โจทก์จำเลยทิ้งร้างไม่ได้อยู่ด้วยกันตั้งแต่พ.ศ. 2503 เป็นเวลากว่าสิบปี คดีโจทก์ขาดอายุความ จะฟ้องขอแบ่งทรัพย์ในคดีนี้ไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 แต่ได้ทิ้งร้างกันมา 17-18 ปีแล้วจึงขาดจากการเป็นสามีภริยากันตามกฎหมายลักษณะผัวเมียบทที่ 51 จำเลยมีภริยาเพียง 2 คน คือ นางเง็กเป็นภริยาหลวง โจทก์เป็นภริยาน้อย การแบ่งสินสมรสต้องแบ่งตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย เมื่อต่างฝ่ายต่างมีสินเดิม โจทก์จึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งหนึ่งในเก้าส่วน การที่จำเลยยกที่ดินให้โจทก์หนึ่งแปลง ไม่ใช่กรณีแบ่งสินสมรส พิพากษาให้จำเลยแบ่งสินสมรสให้โจทก์

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์เป็นภรรยาน้อยของจำเลยก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เหตุหย่าเกิดขึ้นเมื่อใช้บรรพ 5 แล้วจึงต้องวินิจฉัยเรื่องฟ้องหย่าด้วย และฟังได้ว่าจำเลยละทิ้งร้างโจทก์เกินกว่าหนึ่งปีพิพากษาแก้เป็นว่าให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลยให้ไปจดทะเบียนการหย่าภายใน7 วัน และได้แบ่งสินสมรสให้โจทก์หนึ่งในเก้าส่วน

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอ้างว่าเมื่อ พ.ศ. 2503 จำเลยได้ยกที่ดินให้โจทก์หนึ่งแปลงกรณีถือได้ว่าได้มีการแบ่งสินสมรสกันแล้ว เห็นว่าขณะนั้นโจทก์จำเลยยังอยู่กินฉันสามีภริยา จำเลยแบ่งที่ดินให้โจทก์เนื้อที่เพียง 75 ตารางวา จากนั้นโจทก์จำเลยคงอยู่กินฉันสามีภริยาต่อมา ตามพฤติการณ์ไม่พอฟังว่าโจทก์ไม่ต้องการส่วนแบ่งสินสมรสอีก จะถือว่ามีการแบ่งสินสมรสเสร็จสิ้นแล้วหาได้ไม่ โจทก์จึงฟ้องขอแบ่งสินสมรสได้

สำหรับส่วนแบ่งสินสมรสนั้น กรณีชายมีภริยาชอบด้วยกฎหมายหลายคนและต่างมีสินเดิมด้วยกัน กฎหมายลักษณะผัวเมียมิได้มีบทบังคับว่า ภริยาหลวงกับภริยาน้อยมีส่วนในสินสมรสต่างกันอย่างไร ตามความยุติธรรมสมควรให้โจทก์กับนางเง็กได้ส่วนแบ่งเท่า ๆ กัน เหตุนี้สินสมรสรายนี้จึงต้องแบ่งเป็น 3 ส่วน สามีได้ 2 ส่วน ภริยาได้หนึ่งส่วน ส่วนของภริยาได้เท่ากัน ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งหนึ่งในหกส่วน

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยแบ่งสินสมรสให้โจทก์หนึ่งในหกส่วน ถ้าการแบ่งทรัพย์ใดไม่อาจทำได้หรือจะเสียหายมากนัก ก็ให้ประมูลระหว่างคู่ความหรือขายทอดตลาดแบ่งเงินให้โจทก์ตามส่วน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share