คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2841/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 6และข้อ 2 นายจ้างจะต้องให้ลูกจ้างมีเวลาพักในระหว่างการทำงานไม่น้อยกว่าวันละ 1 ชั่วโมง โดยจะให้มีเวลาพักเป็นหลายครั้งก็ได้แต่เมื่อรวมเวลาพักแล้วจะต้องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง และเวลาพักจะต้องเป็นระยะเวลาที่อยู่ในระหว่างการทำงานด้วย การที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานระหว่างเวลา 8.00 นาฬิกาถึง 16.00 นาฬิกาและระหว่างเวลา 16.00 นาฬิกา ถึง 24.00 นาฬิกา โดยให้มีเวลาพักเพียงกะละ ครึ่งชั่วโมง จึงเป็นการกำหนดเวลาพักที่ขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว กรณีดังกล่าวแม้ลูกจ้างทำงานในช่วงเวลาพักก็เป็นการทำงานในเวลาทำงานปกติ หาใช่นอกเวลาทำงานปกติอันจะทำให้ลูกจ้างมีสิทธิเรียกร้องค่าล่วงเวลาไม่ ลูกจ้างจึงมีสิทธิเรียกร้องได้แต่เพียงค่าจ้างโดยคำนวณเฉลี่ยจากค่าจ้างของแต่ละเดือนเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย จำเลยให้โจทก์ทำงานโดยมิได้จัดเวลาพักให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยจัดให้โจทก์ทำงานในระหว่างเวลาพักวันละครึ่งชั่วโมง จำเลยจึงต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์ นอกจากนี้จำเลยยังสั่งให้โจทก์ทำงานนอกเวลาทำงานปกติโดยไม่จ่ายค่าล่วงเวลาให้ จำเลยไม่เคยให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปี ขอให้จำเลยชำระค่าล่วงเวลาและเงินเพิ่มนับแต่วันผิดนัดแก่โจทก์กับขอให้จำเลยชำระค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ด้วย จำเลยให้การว่าจำเลยไม่เคยสั่งให้โจทก์ทำงานโดยจัดเวลาพักไม่ถูกต้องตามกฎหมายและโจทก์ไม่เคยทำงานในระหว่างเวลาพักตามฟ้อง เดิมโจทก์ทำงานเป็นรายวัน ต่อมามีการตกลงจ้างกันเป็นรายเดือนโดยคำนวณค่าจ้างและค่าล่วงเวลารวมกันเป็นเงินเดือนแก่โจทก์แล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาและเงินเพิ่มโจทก์ทุกคนใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีแล้ว คดีขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลาง โจทก์ที่ 2ขอถอนคำฟ้อง ศาลแรงงานกลางอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะโจทก์ที่ 2 ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าล่วงเวลาในส่วนที่ทำงานระหว่างกะ กะละครึ่งชั่วโมง แต่การทำงานหลังเวลา24 นาฬิกาไปแล้วโจทก์มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาโดยคำนวณเฉลี่ยตามที่ได้ทำงานให้แก่จำเลย และยังมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีด้วย พิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าล่วงเวลาและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 7 พร้อมด้วยดอกเบี้ย คำขออื่นให้ยก โจทก์ที่ 1และโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 7 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยไม่มีสิทธิกำหนดเวลาให้โจทก์พักในระหว่างเวลาทำงานเพียง30 นาที เพราะขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 6 การกระทำของจำเลยจึงเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมาย ปัญหาข้อนี้มีความตามข้อ 6 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวกำหนดว่า
“ในวันที่มีการทำงาน ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักติดต่อกันไม่น้อยกว่าวันละหนึ่งชั่วโมง หลังจากลูกจ้างได้ทำงานในวันนั้นมาแล้วไม่เกินห้าชั่วโมง
นายจ้างและลูกจ้างจะตกลงกันล่วงหน้าให้มีเวลาพักน้อยกว่าครั้งละหนึ่งชั่วโมงก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่าครั้งละยี่สิบนาทีและเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่น้อยกว่าวันละหนึ่งชั่วโมง ฯลฯ”และได้มีคำจำกัดความของคำว่า “เวลาพัก” ในข้อ 2 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับเดียวกันไว้ว่า “หมายความว่า ระยะเวลาที่กำหนดให้ลูกจ้างหยุดพักระหว่างการทำงาน” ดังนั้น ตามข้อบัญญัติดังกล่าวจึงมีความหมายว่า ในวันทำงานของลูกจ้างในแต่ละวันนั้นนายจ้างจะต้องให้ลูกจ้างมีเวลาพักในระหว่างการทำงานนั้นไม่น้อยกว่าวันละ 1 ชั่วโมง โดยจะตกลงกันให้มีเวลาพักเป็นหลายครั้งก็ได้ แต่ในแต่ละครั้งนั้นจะต้องเป็นเวลาไม่น้อยกว่าครั้งละยี่สิบนาทีและเมื่อรวมเวลาพักดังกล่าวแล้วก็จะต้องเป็นเวลาไม่น้อยกว่าวันละหนึ่งชั่วโมงและเวลาพักนี้จะต้องเป็นระยะเวลาที่อยู่ในระหว่างการทำงานด้วย นายจ้างจะกำหนดให้มีเวลาพักในระหว่างการทำงานให้น้อยกว่าวันละหนึ่งชั่วโมงมิได้ ปัญหาข้อนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยให้โจทก์ทำงานระหว่างเวลา 8.00 นาฬิกา – 16.00 นาฬิกา และระหว่างเวลา 16.00นาฬิกา ถึง 24.00 นาฬิกา โดยมีเวลาพักเพียงกะละครึ่งชั่วโมงดังนั้นการกำหนดเวลาพักของจำเลยจึงขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 6 ดังที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นโจทก์จึงทำงานเกินกว่าเวลาทำงานปกติของแต่ละกะในแต่ละวันเป็นจำนวนวันละครึ่งชั่วโมง แต่ที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยจ่ายเงินในการทำงานเฉพาะส่วนนี้โดยเรียกว่าค่าล่วงเวลานั้น ศาลฎีกาเห็นว่าค่าล่วงเวลาหมายความว่า เงินที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติ ซึ่งตามกรณีของโจทก์แม้เป็นการทำงานโดยจำเลยให้โจทก์ทำงานในช่วงเวลาพักก็เป็นการทำงานในเวลาทำงานปกติ หาใช่นอกเวลาทำงานปกติไม่ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องได้แต่เพียงค่าจ้างโดยคำนวณเฉลี่ยจากค่าจ้างของแต่ละเดือนเท่านั้น อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์แต่ละคนได้ทำงานในระหว่างเวลาพักนั้นเป็นจำนวนเท่าใด ศาลฎีกาจึงไม่อาจคำนวณค่าจ้างที่จำเลยจะต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์ได้กรณีจึงต้องย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยต่อไป…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในประเด็นเรื่องค่าจ้างในเวลาพักระหว่างเวลาทำงานของโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 7 กับประเด็นค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีของโจทก์ที่ 6 แล้วให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาใหม่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share