คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2840/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์ และได้ทำบันทึกข้อตกลงระหว่างตัวแทนของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมตกลงชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 จะนำรถยนต์ของโจทก์ไปทำการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเดิม อันเป็นการปฏิบัติการชำระหนี้อย่างหนึ่งของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ ถือว่าโจทก์ยอมรับค่าเสียหายในมูลละเมิดที่เกิดขึ้นแล้ว บันทึกข้อตกลงดังกล่าวตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ผลแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ย่อมทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในมูลละเมิดเป็นอันระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในทางการที่จ้าง ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างก็ย่อมระงับสิ้นไปด้วย เพราะไม่มีมูลละเมิดระหว่างโจทก์กับลูกจ้างในอันที่นายจ้างจะต้องรับผิดต่อไปอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะด้วยความประมาท เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 186,550 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์อันเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว มูลละเมิดตามฟ้องเป็นอันระงับสิ้นไปขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 166,550 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ย่อมมีหนี้ที่จะต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์ตามที่โจทก์อาจเรียกร้องได้ ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.2 ปรากฏว่า ข้อตกลงระหว่างนายสุวรรณตัวแทนของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งทำต่อหน้าพนักงานสอบสวนโดยจำเลยที่ 1 ยินยอมตกลงชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 จะนำรถยนต์ของโจทก์ไปทำการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเดิม อันเป็นการปฏิบัติการชำระหนี้อย่างหนึ่งของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ และนายสุวรรณตัวแทนของโจทก์ได้ตกลงยินยอมตามนั้น ถือว่าโจทก์ยอมรับค่าเสียหายในมูลละเมิดที่เกิดขึ้นแล้ว บันทึกข้อตกลงตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ผลแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ย่อมทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างใด ๆ ในมูลละเมิดอันระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 และแม้จะฟังว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในทางการที่จ้าง ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างก็ย่อมระงับสิ้นไปด้วย เพราะไม่มีมูลละเมิดระหว่างโจทก์กับลูกจ้างในอันที่นายจ้างจะต้องรับผิดต่อไปอีก”
พิพากษายืน

Share