คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 284/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามสัญญาเช่ารถยนต์บรรทุกและรถกึ่งพ่วงของกลางไม่มีข้อความตอนใดที่แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของจะโอนกรรมสิทธิ์ในรถของกลางให้แก่บริษัท อ. ตรงกันข้ามกลับมีข้อตกลงระบุไว้ในสัญญาเช่าว่า ห้ามมิให้ผู้เช่าแก้ไขเปลี่ยนแปลงต่อเติม หรือถอดส่วนใดส่วนหนึ่งของรถโดยมิได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ให้เช่าก่อน และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่ายังเป็นของผู้ให้เช่าอยู่ ผู้เช่าจะไม่จำหน่าย จ่ายโอน หรือกระทำการอื่นใดอันเป็นการละเมิดต่อกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่ารวมทั้งผู้เช่าต้องรับผิดชำระราคาทรัพย์สินที่เช่าที่เกิดสูญหายไปให้แก่ผู้ให้เช่า ซึ่งล้วนเป็นเหตุผลที่แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องยังคงมีกรรมสิทธิ์โดยบริบูรณ์ในรถยนต์และรถกึ่งพ่วงของกลางส่วนข้อตกลงที่ระบุว่าเมื่อครบกำหนดการเช่าแล้วหากผู้ร้องขายรถยนต์ได้ราคาต่ำกว่า 228,510 บาท หรือขายรถกึ่งพ่วงได้ราคาต่ำกว่า 50,490 บาท บริษัท อ. ผู้เช่าต้องรับผิดชำระราคาส่วนที่ขาดให้แก่ผู้ร้องนั้น เป็นเพียงการกำหนดค่าสินไหมทดแทนไว้ล่วงหน้าเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การเสื่อมราคาของทรัพย์สินที่เช่าเท่านั้น หาใช่เป็นข้อที่แสดงว่าผู้ร้องจะขายรถยนต์และรถกึ่งพ่วงให้แก่บริษัท อ. เมื่อการเช่าสิ้นสุดลงไม่ และเมื่อพิจารณาประกอบกับข้อความในสัญญาเช่าที่ระบุว่า ผู้เช่าตกลงชำระเงินจำนวน 228,510 บาทและ 50,490 บาทแก่ผู้ให้เช่าในวันทำสัญญาเพื่อเป็นประกันความเสียหายหรือสูญหาย อันเกิดจากการกระทำของผู้เช่าแล้ว ยิ่งแสดงให้เห็นว่าการที่ผู้ร้องได้รับเงิน จำนวนดังกล่าวจากบริษัท อ. เป็นการใช้สิทธิริบเอาเงินประกันมาเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่บริษัท อ. ใช้ทรัพย์สินที่เช่าโดยมิชอบจนเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานตำรวจยึดทรัพย์สินดังกล่าวอันเป็นการใช้สิทธิตามข้อตกลงในสัญญาเช่า หาใช่เป็นการชำระราคาทรัพย์สินที่เช่าตามสัญญาซื้อขายไม่ เพราะไม่ปรากฏในทางพิจารณาว่ามีการตกลงซื้อขายรถยนต์และรถกึ่งพ่วงของกลางแต่อย่างใด ผู้ร้องยังคงเป็นเจ้าของรถยนต์และรถกึ่งพ่วงของกลาง
หลังจากที่ผู้ร้องได้มอบการครอบครองรถยนต์และรถกึ่งพ่วงของกลางให้แก่บริษัท อ. ผู้เช่าแล้ว ผู้ร้องมิได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับรถดังกล่าวอีก จึงไม่มีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย ผู้ร้องมีสิทธิขอให้คืนรถยนต์และรถกึ่งพ่วงของกลางแก่ผู้ร้องได้ ส่วนในกรณีที่บริษัท อ. ผู้เช่าเห็นว่า ผู้ร้องใช้สิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่รถของกลางถูกริบสูงเกินส่วนนั้น ก็ชอบที่จะไปว่ากล่าวเป็นอีกส่วนหนึ่ง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 61, 73 และริบรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 92 2101 กรุงเทพมหานคร และรถกึ่งพ่วงคันหมายเลขทะเบียน 92 2102 กรุงเทพมหานคร ของกลาง

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า รถยนต์บรรทุกและรถกึ่งพ่วงของกลางเป็นของผู้ร้องซึ่งให้บริษัทเอส ที เอส เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์จำกัด เช่าไป จำเลยมิได้เป็นตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ร้อง ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ขอให้คืนรถยนต์บรรทุกและรถกึ่งพ่วงของกลางแก่ผู้ร้อง

โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องมิใช่เจ้าของรถยนต์บรรทุกและรถกึ่งพ่วงของกลาง ผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกและรถกึ่งพ่วงของกลางซึ่งให้บริษัทเอส ที เอส เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด เช่ามีกำหนด36 เดือนนับแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2539 ถึง วันที่ 20 พฤษภาคม2542 ครั้นวันที่ 13 พฤษภาคม 2542 ก่อนครบกำหนดการเช่าเพียง 7 วัน จำเลยซึ่งเป็นพนักงานขับรถของผู้เช่าขับรถยนต์บรรทุกและรถกึ่งพ่วงคันดังกล่าวบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นเหตุให้ถูกจับกุมและถูกศาลพิพากษาลงโทษและสั่งริบรถยนต์บรรทุกและรถกึ่งพ่วงของกลาง มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องยังเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกกับรถกึ่งพ่วงของกลางและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า สัญญาเช่ารถยนต์บรรทุกและรถกึ่งพ่วงของกลางพร้อมคำแปลเอกสารหมาย ร.4 ถึง ร.6ไม่มีข้อความตอนใดที่แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องประสงค์จะโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกและรถกึ่งพ่วงของกลางให้แก่บริษัทเอส ที เอสเอ็น จิเนียริ่ง คอนซัลแตนต์ จำกัด ตรงกันข้ามข้อตกลงในสัญญาเช่าข้อ 10 ที่ห้ามมิให้ผู้เช่าแก้ไขเปลี่ยนแปลงต่อเติม หรือถอดส่วนหนึ่งส่วนใดของรถโดยไม่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ให้เช่าก่อน และข้อ 11 ที่ระบุว่า ผู้เช่ารับรองว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่ายังเป็นของผู้ให้เช่าอยู่ ผู้เช่าจะไม่จำหน่าย จ่ายโอนหรือกระทำการอื่นใดอันเป็นการละเมิดต่อกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่ารวมทั้งข้อ 13 ที่กำหนดให้ผู้เช่าต้องรับผิดชำระราคาทรัพย์สินที่เช่าที่เกิดสูญหายให้แก่ผู้ให้เช่า ล้วนเป็นเหตุผลที่แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องยังคงมีกรรมสิทธิ์โดยบริบูรณ์ในรถยนต์บรรทุกและรถกึ่งพ่วงของกลาง ส่วนข้อ 28 ที่มีใจความโดยสรุปว่า เมื่อครบกำหนดการเช่าแล้วหากผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ให้เช่าขายรถยนต์บรรทุกได้ราคาต่ำกว่า 228,510 บาท หรือขายรถกึ่งพ่วงได้ราคาต่ำกว่า 50,490 บาท บริษัทเอส ที เอส เอ็นจิเนียริ่งคอนซัลแตนท์ จำกัด ผู้เช่าต้องรับผิดชำระราคาส่วนที่ขาดให้แก่ผู้ร้อง ก็เป็นเพียงการกำหนดค่าสินไหมทดแทนไว้ล่วงหน้าเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การเสื่อมราคาของทรัพย์สินที่เช่าเท่านั้น หาใช่เป็นข้อที่แสดงว่า ผู้ร้องประสงค์จะขายรถยนต์บรรทุกและรถกึ่งพ่วงของกลางให้แก่บริษัทเอส ที เอส เอ็นจิเนียริ่งคอนซัลแตนท์ จำกัด เมื่อการเช่าสิ้นสุดลงไม่ ส่วนเอกสารหมาย ร.9และ ร.10 อันเป็นหลักฐานที่แสดงว่าเมื่อการเช่าสิ้นสุดลงแล้วบริษัทดังกล่าวได้ชำระเงินจำนวน 228,510 บาท และ 50,490บาท ตามมูลค่าของทรัพย์สินที่เป็นอยู่ในวันสิ้นสุดการเช่าให้แก่ผู้ร้อง ซึ่งศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นหลักฐานที่แสดงว่าผู้ร้องได้ขายรถยนต์บรรทุกและรถกึ่งพ่วงของกลางให้แก่บริษัทเอส ที เอสเอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด แล้ว นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าสัญญาเช่าพร้อมคำแปลเอกสารหมาย ร.4 ถึง ร.6 ข้อ 4 มีข้อความว่าผู้เช่าตกลงชำระเงิน 228,510 บาท และ 50,490บาทให้แก่ผู้ให้เช่าในวันทำสัญญาเช่า เพื่อเป็นประกันความเสียหายหรือสูญหายอันเกิดจากการกระทำของผู้เช่า เมื่อพิจารณาข้อสัญญาดังกล่าวประกอบกับความในข้อ 13ที่กำหนดให้ผู้เช่ารับผิดชำระราคาทรัพย์สินที่เช่าสูญหายหรือเสียหายให้แก่ผู้ให้เช่าแล้ว เป็นที่เห็นได้ว่าการที่ผู้ร้องได้รับเงิน288,510 บาทและ 50,490 บาทจากผู้เช่าเป็นการใช้สิทธิริบเอาเงินประกันที่ผู้เช่าได้มอบไว้ดังกล่าวเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่ผู้เช่าใช้ทรัพย์สินที่เช่าโดยมิชอบ จนเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานตำรวจยึดทรัพย์สินดังกล่าวไปเป็นของกลางในคดีอาญาอันเป็นการใช้สิทธิตามข้อตกลงในสัญญาเช่า หาใช่เป็นการรับชำระราคาทรัพย์สินที่เช่าตามสัญญาซื้อขายดังที่ศาลล่างทั้งสองเข้าใจไม่ เพราะทางพิจารณาไม่ปรากฏว่ามีการตกลงซื้อขายรถยนต์บรรทุกและรถกึ่งพ่วงของกลางระหว่างผู้ร้องกับผู้เช่าแต่อย่างใด ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกเอาหลักฐานการรับเงินค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวมาอนุมานว่าผู้ร้องขายรถยนต์บรรทุกและรถกึ่งพ่วงของกลางให้แก่บริษัทเอส ที เอส เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ทั้งที่ไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุนจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ส่วนคำเบิกความของนายวิสุทธิ์ หัวเพชรผู้รับมอบอำนาจจากผู้ร้องที่ตอบคำถามของโจทก์ว่ารถยนต์บรรทุกและรถกึ่งพ่วงของกลางตกเป็นของผู้เช่าตั้งแต่วันที่ 20พฤษภาคม 2542 นั้น นายวิสุทธิ์มิได้อธิบายเหตุผลว่ารถดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เช่าเพราะเหตุใด ตรงกันข้ามคำเบิกความตอนนี้กลับขัดแย้งกับถ้อยคำของนายวิสุทธิ์ที่ยืนยันว่า เมื่อครบกำหนดการเช่าแล้วรถยนต์บรรทุกและรถกึ่งพ่วงของกลางยังเป็นของผู้ร้องอย่างเห็นได้ชัด เห็นได้ว่าคำเบิกความของพยานปากนี้ที่ว่ารถยนต์บรรทุกและรถกึ่งพ่วงของกลางตกเป็นของผู้เช่าแล้วเป็นการเบิกความผิดเพี้ยนไปจะรับฟังเป็นมั่นเหมาะว่ากรรมสิทธิ์ในรถของกลางโอนไปยังบริษัทเอส ที เอส เอ็นจิเนียริ่งคอนซัลแตนท์ จำกัด แล้วไม่ได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ร้องยังเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกและรถกึ่งพ่วงของกลาง ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น

ส่วนปัญหาว่า ผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดหรือไม่ ซึ่งโจทก์และผู้ร้องต่างนำสืบพยานหลักฐานจนสุดสิ้นกระแสความแล้ว แต่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้ร้องได้มอบการครอบครองรถยนต์บรรทุกและรถกึ่งพ่วงของกลางให้แก่ผู้เช่าตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2539 หลังจากนั้นผู้ร้องไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับรถดังกล่าว จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องมีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย ผู้ร้องมีสิทธิขอให้คืนรถยนต์บรรทุกและรถกึ่งพ่วงของกลางแก่ผู้ร้องได้อนึ่ง หากผู้เช่าเห็นว่าผู้ร้องใช้สิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่รถของกลางถูกริบสูงเกินส่วนก็ชอบที่ไปว่ากล่าวอีกส่วนหนึ่ง”

พิพากษากลับ ให้คืนรถยนต์บรรทุกและรถกึ่งพ่วงของกลางแก่ผู้ร้อง

Share