แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่2ผู้เอาประกันภัยคงมีผลเพียงว่าจำเลยที่2ไม่มีฐานะเป็นคู่ความในคดีและศาลไม่สามารถบังคับคดีแก่จำเลยที่2ได้แต่หาทำให้หนี้หรือความรับผิดของจำเลยที่2ระงับสิ้นไปไม่จำเลยที่3ผู้รับประกันภัยจึงยังอาจถูกพิพากษาให้รับผิดได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงิน 64,689.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 62,830.50 บาท นัดถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การภายในกำหนด แต่โจทก์ไม่ขอให้ศาลสั่งว่าจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ผู้ขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยเป็นผู้ก่อเหตุละเมิด จำเลยที่ 3 รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 71-4091 กรุงเทพมหานครไว้จากผู้มีชื่อ จำเลยที่ 1มิใช่ลูกจ้างและกระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดและโจทก์เรียกค่าเสียหายสูงเกินจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 62,830.50 บาทให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นทุกประการ
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าศาลจะพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดต่อโจทก์ได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 2 คงมีผลเพียงว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีฐานะเป็นคู่ความในคดีและศาลไม่สามารถบังคับแก่จำเลยที่ 2 ได้ แต่หาทำให้หนี้หรือความรับผิดของจำเลยที่ 2ระงับสิ้นไปไม่ ดังนั้นแม้ศาลชั้นต้นจะสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัย จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยก็อาจถูกพิพากษาให้รับผิดได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้ชอบแล้วฎีกาจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วจึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามคำให้การต่อสู้ของจำเลยที่ 3 ว่าจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1เพราะจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและกระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 อันจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนจะต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์หรือไม่ซึ่งศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยปัญหานี้มา และการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 โดยไม่วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวก่อนเป็นการไม่ชอบ แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปโดยไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก่อน ในข้อนี้โจทก์มีนายสิทธิรักษ์ อาจภักดีเป็นพยานเบิกความว่า พยานทำงานกับโจทก์มีหน้าที่สำรวจอุบัติเหตุ ตามวันเวลาเกิดเหตุคดีนี้นายเอกสิทธิ์ สินธุสารได้แจ้งเหตุนี้ให้โจทก์ทราบ พยานจึงได้ออกไปตรวจดูตามที่ได้รับแจ้ง เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุพยานพบจำเลยที่ 1 สอบถามจำเลยที่ 1 แล้วทราบว่าเหตุเกิดเพราะระบบห้ามล้อของรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับขัดข้องไม่สามารถห้ามล้อได้ทันจึงชนท้ายรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ และจำเลยที่ 1 แจ้งว่ากำลังขับรถยนต์จะไปส่งยางรถยนต์ที่บางนา ยางรถยนต์ดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้แจ้งเหตุให้จำเลยที่ 3 ทราบ เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ได้เดินทางมายังที่เกิดเหตุและได้ออกใบแจ้งความเสียหายเอกสารหมาย จ.5 ให้รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ เห็นว่าจำเลยที่ 3 ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างพยานโจทก์ในข้อนี้ ประกอบกับพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกบรรทุกยางรถยนต์ไปส่งโดยทั้งรถยนต์และยางรถยนต์มิใช่กรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 และหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้แจ้งเหตุให้จำเลยที่ 3 ทราบเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ก็มาดูที่เกิดเหตุ ตรวจสอบความเสียหายและออกใบแจ้งความเสียหายให้แก่รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยโดยมิได้โต้แย้งว่าจำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดในเหตุคดีนี้สนับสนุนให้พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัย และได้ขับรถยนต์ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาต่อไปว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ยังคงมีอยู่ตลอดไปภายในอายุความ แต่ขณะนี้คดีสำหรับจำเลยที่ 2ขาดอายุความแล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่าปัญหาว่าคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ขาดอายุความแล้วหรือไม่ไม่มีจำเลยคนใดให้การต่อสู้คดีไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน