แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ลูกจ้างเข้าทำงานกะบ่ายตั้งแต่เวลา 15 นาฬิกา ซึ่งจะ ต้องทำงานจนถึงเวลา 23 นาฬิกา แต่เวลา 22.55 นาฬิกา ลูกจ้างออกไปนอกบริษัทนายจ้างโดยไม่มีบัตรผ่าน และไม่ได้ขออนุญาตผู้บังคับบัญชาก่อนแล้วกลับเข้ามาปั๊มบัตรลงชื่อเลิกงานตามกะ ดังนี้ลูกจ้างไม่ทำงานให้นายจ้างเพียง 5 นาที การปั๊มบัตรลงชื่อทำงานเต็มเวลา 8 ชั่วโมงนั้น เกิดโทษแก่บริษัทนายจ้างน้อยมาก ยังไม่พอถือว่าลูกจ้างทำการทุจริตต่อหน้าที่และยังไม่เป็นการกระทำผิดทางอาญาแก่นายจ้าง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ 47 (1)
แม้ประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ 47 (3) มิได้กำหนดว่าคำตักเตือนเป็นหนังสือมีระยะเวลานานเท่าใดจึงจะหมดอายุหรือระยะเวลานานเท่าใด จึงจะเป็นระยะเวลาที่นานเกินสมควรที่ไม่สามารถนำมาเป็นเหตุในการเลิกจ้างโดยไม่ ต้องจ่ายค่าชดเชยแต่ก็ไม่หมายความว่าเมื่อนายจ้าง ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว คำตักเตือนนั้นจะมีผลอยู่ตลอดไปหากลูกจ้างรู้สำนึกตัวและปรับปรุงแก้ไขการทำงานการประพฤติ ตัวของตนแล้วคำตักเตือนนั้นก็ควรสิ้นผลไปและการพิจารณาว่าระยะเวลาคำตักเตือนเป็นหนังสือกับการฝ่าฝืน ข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างครั้งหลัง เป็นระยะเวลาเนิ่นนานหรือไม่เพียงใดนั้นจะต้องพิจารณาตามพฤติการณ์เป็นเรื่อง ๆ ไป
โจทก์ออกไปนอกบริเวณโรงงานเพื่อซื้อก๋วยเตี๋ยวหน้าโรงงานเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2526 เป็นเวลา 10 นาทีและได้รับคำเตือนเป็นหนังสือแล้วต่อมาโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับฯ อีก ในวันที่ 16 เมษายน 2527 โดยออกจากบริเวณโรงงานก่อนครบกำหนดกะทำงาน 5 นาทีดังนี้เมื่อพิจารณาถึงเหตุที่ โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับฯ ความเสียหายการงานของบริษัทจำเลย ซึ่งเป็นนายจ้างและระยะเวลาของคำตักเตือนเป็นหนังสือครั้งแรกกับการกระทำผิดครั้งนี้แล้วถือว่าคำตักเตือนนั้นมีอายุเนิ่นนานเกินสมควรที่จะนำมาพิจารณาสำหรับการเลิกจ้างในการฝ่าฝืนข้อบังคับฯ ครั้งหลัง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ต่อมาวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๒๗ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรง ทุจริตต่อหน้าที่ ละทิ้งหน้าที่ออกจากบริเวณโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต และทำให้จำเลยได้รับความเสียหายซึ่งไม่เป็นความจริง การเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม และจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่จ่ายค่าชดเชยและจำเลยมิได้จัดให้โจทก์มีเวลาพักระหว่างทำงาน จึงต้องจ่ายค่าจ้างหรือค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ ๑ ชั่วโมง ตามอัตราค่าจ้างนั้น ๆ ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ค่าจ้างหรือค่าเสียหายที่ไม่ได้จัดให้โจทก์มีเวลาพัก พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้าง
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๒๗ โจทก์ละทิ้งหน้าที่หลบหนีออกนอกบริเวณโรงงาน แล้วกลับเข้ามาปั๊มบัตรลงเวลาเลิกงานและลงชื่อเลิกงานเมื่อเวลาประมาณ ๒๓.๑๐ นาฬิกา ด้วยอาการมึนเมาสุรา เป็นการทำผิดวินัยข้อบังคับของจำเลยอย่างร้ายแรง เป็นการทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างโจทก์ได้กระทำความผิดเดียวกันนี้มาก่อนแล้วเมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๒๖ และถูกจำเลยตักเตือนเป็นหนังสือ โจทก์มากระทำผิดซ้ำอีกเป็นการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗ (๑) และ (๓) จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยค่าเสียหายอันเกิดแต่การเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม การทำงานของโจทก์จำเลยได้จัดให้ลูกจ้างสับเปลี่ยนหยุดงานได้ซึ่งรวมแล้วเป็นเวลาหยุดพักเกิน ๑ ชั่วโมงโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างหรือค่าเสียหายในส่วนนี้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยในข้อที่ไม่ร้ายแรง จึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ๑๓,๘๖๐ บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้าง ให้ยกคำขออื่น
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางฟังมาได้ความว่าโจทก์ทำงานตั้งแต่เข้ากะเมื่อเวลา ๑๕ นาฬิกาแล้วทำงานตลอดเวลา เพิ่งออกนอกบริเวณโรงงานเมื่อ ๒๒.๕๕ นาฬิกา แล้วกลับเข้ามาปั๊มบัตรลงชื่อเลิกจ้างตามกะโดยไม่มีอาการมึนเมาสุรา ข้อเท็จจริงดังนี้ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ทำงานให้แก่จำเลยมาแล้วถึง ๗ ชั่วโมง ๕๕ นาที ไม่ทำงานให้จำเลยเพียง ๕ นาที การปั๊มบัตรลงชื่อว่าทำงานเต็มเวลา ๘ ชั่วโมง เป็นข้อที่เกิดคุณแก่โจทก์ เกิดโทษแก่จำเลยน้อยนัก ยังไม่พอจะถือว่าโจทก์ประพฤติชั่วคดโกง อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ตามที่จำเลยอุทธรณ์ และการปั๊มบัตรลงชื่อเลิกงานตามที่กล่าวข้างต้น แม้ไม่ตรงต่อความจริงแต่ก็ไม่ถึงขั้นที่จะเป็นการกระทำผิดทางอาญาฐานใดแก่จำเลยผู้เป็นนายจ้างอันต้องด้วยข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗ (๑) ที่จำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การกระทำของโจทก์ในวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๒๖ ที่ออกนอกบริเวณโรงงานในเวลาทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยและจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว ที่โจทก์กลับมากระทำผิดออกนอกบริเวณโรงงานในเวลาทำงานโดยมิได้รับอนุญาตซ้ำอีกในวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๒๗ จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์เสียได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ ๔๗ (๓) กำหนดว่า หากลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว นายจ้างย่อมเลิกจ้างเสียได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามความในตอนต้นของข้อ ๔๗ จริงอยู่ ประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ ๔๗ (๓) มิได้กำหนดว่าคำตักเตือนเป็นหนังสือมีระยะเวลานานเท่าใดจึงจะหมดอายุหรือระยะเวลานานเท่าใดจึงจะเป็นระยะเวลาที่นานเกินสมควรที่จะนำมาเป็นเหตุในการเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแต่ก็ไม่อาจแปลได้ว่า เมื่อนายจ้างตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว คำตักเตือนนั้นจะมีผลอยู่ตลอดไป จนไม่มีระยะเวลาสิ้นสุดหากจะแปลประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ ๔๗ (๓) ว่า คำตักเตือนเป็นหนังสือมีผลอยู่ตลอดไปไม่มีเวลาสิ้นสุดตราบเท่าที่ลูกจ้างทำงานอยู่ตามที่จำเลยอุทธรณ์แล้วลูกจ้างก็ย่อมจะขาดความคุ้มครอง เพราะเมื่อลูกจ้างได้รับคำตักเตือนเป็นหนังสือจนมีสติ รู้สำนึกตัวแล้วได้ปรับปรุงแก้ไขการทำงาน การประพฤติตัวถูกต้องตามข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานแล้ว ความผิดที่ไม่ร้ายแรงนั้นก็ควรได้รับการอภัย และคำตักเตือนก็ควรสิ้นผล
จำเลยอุทธรณ์อีกประการหนึ่งว่า การที่โจทก์ได้รับคำตักเตือนเป็นหนังสือเมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๒๖ แล้วมาฝ่าฝืนข้อบังคับฯ อีกในวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๒๗ ก็ไม่เป็นเวลาที่เนิ่นนานเกินสมควร เห็นว่า การพิจารณาระยะเวลาคำตักเตือนเป็นหนังสือกับการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างครั้งหลังว่าเป็นระยะเวลาเนิ่นนานหรือไม่ เพียงใด นั้นจะต้องพิจารณาตามพฤติการณ์เป็นเรื่อง ๆ ไป เฉพาะคดีนี้ได้ความตามเอกสารหมาย ล.๒ ว่า เมื่อเวลา ๑๒ นาฬิกา โจทก์ออกนอกบริเวณโรงงานเพื่อไปซื้อก๋วยเตี๋ยวเนื้อหน้าโรงงานเป็นเวลาเพียง ๑๐ นาที สำหรับการฝ่าฝืนข้อบังคับฯ ครั้งที่เกิดเหตุนี้โจทก์ออกจากบริเวณโรงงานก่อนครบกำหนดกะเพียง ๕ นาที เมื่อได้พิจารณาถึงเหตุที่โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับฯ ความเสียหายการงานของจำเลยอันเป็นผลจากการฝ่าฝืนข้อบังคับฯ และระยะเวลาของคำตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลแรงงานกลางว่าคำตักเตือนนั้นมีอายุเนิ่นนานเกินสมควรที่จะนำมาเป็นข้อพิจารณา สำหรับการเลิกจ้างในการฝ่าฝืนข้อบังคับฯ ครั้งหลัง
พิพากษายืน