คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2838/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา119วรรคสองและวรรคสามบัญญัติให้ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับแจ้งความยืนยันหนี้จากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คัดค้านต่อศาลโดยทำเป็นคำร้องและตามมาตรา179มิได้บัญญัติเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมคำร้องไว้โดยเฉพาะจึงต้องเสียค่าธรรมเนียมคำร้องเพียง20บาทเช่นเดียวกับการยื่นคำขออื่นๆต่อศาลชั้นต้นที่ต้องทำเป็นคำร้องตามตาราง2(3)ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งสำหรับชั้นอุทธรณ์นั้นหากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ผู้ร้องชนะคดีทุกข์ของผู้ร้องย่อมปลดเปลื้องไปเท่ากับจำนวนเงินที่ผู้ร้องไม่ต้องรับผิดชำระหนี้อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงเป็นคำฟ้องที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ตามตาราง1ข้อ(1)(ก)ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งประกอบพระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา179วรรคท้ายซึ่งผู้ร้องต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์อย่างคดีมีทุนทรัพย์ การที่ศาลอุทธรณ์สั่งให้ผู้ร้องนำค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่ยังขาดอยู่มาชำระแต่ผู้ร้องเพิกเฉยจึงเป็นการทิ้งฟ้องศาลอุทธรณ์ต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา132(1),174(2)และมาตรา246ประกอบพระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา153ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าอุทธรณ์ของผู้ร้องต้องห้ามตามกฎหมายพิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ร้องจึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดผู้คัดค้านได้มีหนังสือให้ผู้ร้องชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน12,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2526 จนกว่าจะชำระเสร็จ แก่ผู้คัดค้านภายใน14 วัน ผู้ร้องปฎิเสธหนี้ภายในกำหนด ผู้คัดค้านสอบสวนแล้วฟังว่าผู้ร้องได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน และผู้ร้องไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ร้องมิได้เป็นหนี้จริง จึงต้องรับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินและได้มีหนังสือยืนยันหนี้ให้ผู้ร้องชำระหนี้ดังกล่าว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องไม่เคยเป็นหนี้จำเลย ขอให้ยกคำสั่งของผู้คัดค้านที่ยืนยันให้ผู้ร้องชำระหนี้จำนวน12,500,000 บาท
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์และส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ทำคำพิพากษาเสร็จแล้วส่งไปให้ศาลชั้นต้น โดยก่อนอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟัง ให้ศาลชั้นต้นเรียกผู้ร้องนำค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์อย่างคดีมีทุนทรัพย์ที่ยังขาดอยู่มาชำระให้ครบถ้วนเสียก่อน ภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลชั้นต้นสั่งให้ผู้ร้องนำค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่ยังขาดอยู่มาชำระภายใน 15 วันผู้ร้องยื่นคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วส่งไปให้ศาลอุทธรณ์สั่ง ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ตามทางไต่สวนยังไม่พอฟังว่าผู้ร้องเป็นคนยากจนไม่มีทรัพย์สินพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาลให้ยกคำร้อง หากผู้ร้องประสงค์ที่จะดำเนินคดีต่อไป ให้นำเงินค่าธรรมเนียมศาลมาชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้ผู้ร้องฟังเมื่อวันที่23 กันยายน 2535 ต่อมาผู้ร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลสามครั้ง ศาลชั้นต้นอนุญาตแต่ปรากฏว่าผู้ร้องไม่นำค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่ยังขาดอยู่มาชำระภายในกำหนด ศาลชั้นต้นจึงส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าอุทธรณ์ของผู้ร้องเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามตามกฎหมายศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยพิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ร้อง
ผู้ร้อง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ผู้ร้องฎีกาว่าการร้องคัดค้านการยืนยันหนี้ของผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 119ถือไม่ได้ว่าเป็นคำฟ้องเพราะผู้ร้องไม่ได้เรียกร้องอะไรเอาจากกองทรัพย์สินของผู้ล้มละลาย ผู้ร้องเพียงปฎิเสธ ว่าตนไม่ได้เป็นหนี้ตามที่ผู้คัดค้านเรียกร้องและขณะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นก็ยังเรียกเก็บค่าคำร้อง 20 บาท เท่านั้น จึงต้องถือว่าเป็นคดีที่ขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ที่ศาลอุทธรณ์ให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างเป็นคดีมีทุนทรัพย์จึงไม่ชอบนั้นพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าที่ศาลชั้นต้นเรียกเก็บค่าคำร้องขณะยื่นคำร้องจากผู้ร้องเพียง 20 บาท ก็เนื่องจากตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 119 วรรคสองและวรรคสาม บัญญัติให้บุคคลที่ได้รับแจ้งความยืนยันหนี้คัดค้านต่อศาลโดยทำเป็นคำร้องภายในกำหนดเวลาสิบสี่วันนับแต่ได้รับแจ้งความยืนยัน และตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 179 มิได้บัญญัติเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมคำร้องไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำตาราง 2(3)ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งกำหนดให้คู่ความเสียค่าธรรมเนียมการยื่นคำขออื่น ๆ ที่ต้องทำเป็นคำร้องเพียง 20 บาทมาใช้บังคับ สำหรับชั้นอุทธรณ์นั้น ตามบทบัญญัติดังกล่าวมิได้ให้คู่ความทำเป็นคำร้อง และตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 179 วรรคท้าย บัญญัติให้คิดอัตราเดียวกับค่าธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ฉะนั้น เมื่อผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ว่าผู้ร้องไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้ยกคำสั่งของผู้คัดค้านที่ยืนยันให้ผู้ร้องชำระหนี้ โดยอ้างว่าไม่มีหนี้จะต้องชำระตามจำนวนที่ผู้คัดค้านแจ้งยืนยัน หากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ผู้ร้องชนะคดี ทุกข์ของผู้ร้องย่อมปลดเปลื้องไปเท่ากับจำนวนเงินที่ผู้ร้องไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงเป็นคำฟ้องซึ่งมีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ตามจำนวนหนี้ที่ผู้ร้องไม่ต้องรับผิดตามที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของผู้ร้องนั้น อันเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ตามมาตรา 1 ข้อ (1)(ก)ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 179 วรรคท้าย ซึ่งผู้ร้องต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์อย่างคดีมีทุนทรัพย์ ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้นเมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ผู้ร้องนำค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่ยังขาดอยู่มาชำระแต่ผู้ร้องไม่ชำระ จึงเป็นการทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2), 246 ประกอบพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ศาลอุทธรณ์ต้องมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามมาตรา 132(1) ประกอบพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าผู้ร้องไม่นำเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่ยังขาดอยู่มาชำระภายในกำหนดอุทธรณ์ของผู้ร้อง จึงเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามตามกฎหมายและพิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ร้องเช่นนี้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยกระบวนวิธีพิจารณาสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำหน่ายคดีผู้ร้องเสียจากสารบบความ

Share