คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2838/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ปรับผู้ประกันตัวจำเลยในคดีอาญาจำนวน70,000 บาท ในวันที่ 22 ตุลาคม 2525 ผู้ประกันยื่นคำร้องต่อศาลในวันที่ 29 ตุลาคม 2525 ขอผ่อนชำระค่าปรับต่อศาลเดือนละ 300 บาทจนกว่าจะครบตามจำนวนที่ศาลสั่งปรับ ศาลมีคำสั่งในวันเดียวกันว่าอนุญาตให้ผ่อนเดือนละ 3,000 บาท เมื่อคำสั่งดังกล่าวถึงที่สุดแต่ผู้ประกันมิได้ชำระค่าปรับต่อศาลตั้งแต่เดือนแรกและตลอดมาย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดชำระค่าปรับตามคำสั่งศาลทั้งหมด พนักงานอัยการจึงมีอำนาจตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 มาตรา 11(8)ที่จะดำเนินการในการบังคับคดีให้เป็นไปตามสัญญาประกัน โดยขอให้ศาลบังคับให้ผู้ประกันชำระหนี้ค่าปรับทั้งหมดได้ทันทีนับแต่วันที่ผู้ประกันผิดนัดคือวันที่ 29 พฤศจิกายน 2525 แต่ทั้งนี้ก็ต้องร้องขอให้บังคับคดีตามคำสั่งศาลที่สั่งปรับผู้ประกันภายใน 10 ปีนับแต่วันมีคำสั่ง เมื่อพนักงานอัยการร้องขอต่อศาลให้ออกหมายบังคับคดี ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2536 ซึ่งเกินกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งบังคับตามสัญญาประกัน สิทธิในการบังคับคดีของพนักงานอัยการย่อมเป็นอันสิ้นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวในชั้นสอบสวน ต่อมานายแชร์ หมวกเหล็ก ผู้ประกันผิดสัญญาประกันศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 22 ตุลาคม 2525 ให้ปรับผู้ประกันตามสัญญา จำนวน 70,000 บาท ผู้ประกันยื่นคำร้องลงวันที่29 ตุลาคม 2525 ขอผ่อนชำระค่าปรับเดือนละ 300 บาท ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผ่อนชำระเดือนละ 3,000 บาท ผู้ประกันลงชื่อทราบคำสั่งแล้วแต่ไม่ได้ชำระค่าปรับต่อศาล
ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายแชร์ หมวกเหล็ก ซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2527ถึงขณะยื่นคำร้องเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี จึงหมดสิทธิในการบังคับคดีเอาแก่ที่ดินของผู้ประกันแล้ว ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของนายแชร์ ขอให้มีคำสั่งคืน น.ส.3 ก. เลขที่ 1103 ตำบลคำพรานอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ให้แก่ผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 15กุมภาพันธ์ 2536 และให้คืนหลักประกันแก่ผู้ร้อง
พนักงานอัยการจังหวัดสระบุรีฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พนักงานอัยการจังหวัดสระบุรีฎีกาว่าคำสั่งศาลที่ให้ผู้ประกันผ่อนชำระค่าปรับเดือนละ 3,000 บาทจากต้นเงิน 70,000 บาท ไม่ได้กำหนดว่าให้ชำระตั้งแต่เมื่อใดถึงเมื่อใด และมิได้กำหนดว่าถ้าผู้ประกันไม่ชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งแล้วให้บังคับคดีได้ทันที เงื่อนเวลาการชำระยังไม่แน่นอน ผู้ประกันจะผิดนัดต่อเมื่อได้มีการบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาอีกครั้งหนึ่งและระยะเวลาการผ่อนชำระเงินให้ครบตามคำสั่งศาลก็เป็นเวลาประมาณ2 ปี เมื่อคำนวณระยะเวลาที่พนักงานอัยการร้องขอให้บังคับคดียังไม่ครบ 10 ปี จึงมีสิทธิขอให้ออกหมายบังคับคดีได้ เห็นว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ปรับผู้ประกันจำนวน 70,000 บาท ในวันที่22 ตุลาคม 2525 ผู้ประกันยื่นคำร้องต่อศาลในวันที่ 29 ตุลาคม 2525ขอผ่อนชำระค่าปรับต่อศาลเดือนละ 300 บาท จนกว่าจะครบตามจำนวนที่ศาลสั่งปรับ ศาลมีคำสั่งในวันเดียวกันว่าอนุญาตให้ผ่อนเดือนละ3,000 บาท ซึ่งมีความหมายว่า อนุญาตให้ผู้ประกันนำเงินมาผ่อนชำระเดือนละ 3,000 บาท โดยชำระเดือนแรกภายในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2525และเดือนต่อ ๆ ไปจนกว่าจะครบ ผู้ประกันทราบคำสั่งศาลในวันที่ 15พฤศจิกายน 2525 โดยมิได้โต้แย้งคำสั่งศาล ผู้ประกันมีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าปรับต่อศาลตามคำสั่งศาลดังกล่าว แต่ปรากฏว่าผู้ประกันมิได้ชำระค่าปรับต่อศาลตั้งแต่เดือนแรกและตลอดมา เมื่อผู้ประกันไม่ชำระค่าปรับตามที่ศาลมีคำสั่งให้ผ่อนชำระแม้แต่เพียงเดือนแรกผู้ประกันก็ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัด ชำระค่าปรับตามคำสั่งศาลทั้งหมดพนักงานอัยการจึงมีอำนาจตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2498มาตรา 11(8) ที่จะดำเนินการในการบังคับคดีให้เป็นไปตามสัญญาประกันโดยขอให้ศาลบังคับให้ผู้ประกันชำระหนี้ค่าปรับทั้งหมดได้ทันทีนับแต่วันที่ผู้ประกันผิดนัด คือวันที่ 29 พฤศจิกายน 2525แต่ทั้งนี้ก็จะต้องร้องขอให้บังคับคดีตามคำสั่งศาลที่สั่งปรับผู้ประกันภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำสั่ง เมื่อศาลมีคำสั่งปรับผู้ประกันในวันที่ 22 ตุลาคม 2525 แต่ปรากฏว่าพนักงานอัยการร้องขอต่อศาลให้ออกหมายบังคับคดีในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2536 ซึ่งเกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งบังคับตามสัญญาประกันสิทธิในการบังคับคดีของพนักงานอัยการย่อมเป็นอันสิ้นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ไม่ชอบที่ศาลจะออกหมายบังคับคดีให้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาพนักงานอัยการจังหวัดสระบุรีฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share