แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดำเนินการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามมาตรา34(4) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯนั้น คณะกรรมการฯ มีอำนาจดำเนินการชี้ขาดกำหนดอัตราค่าครองชีพหรือกำหนดเงินช่วยเหลือครอบครัวกรณีที่พนักงานเสียชีวิต อันเป็นข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเกี่ยวกับสภาพการจ้างได้
เมื่อข้อบังคับสหภาพแรงงานกำหนดว่า การประชุมใหญ่วิสามัญหมายถึงการประชุมที่สมาชิกไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่า 50 คน ลงลายมือชื่อทำหนังสือร้องขอให้คณะกรรมการเรียกประชุมใหญ่ ดังนี้ แม้จะปรากฏว่ามีการปลอมลายมือชื่อของสมาชิกบางคนในหนังสือเรียกร้องให้สหภาพแรงงานเปิดการประชุมใหญ่วิสามัญ แต่จำนวนสมาชิกที่ลงชื่อในหนังสือดังกล่าวที่เหลือนอกจากนั้นก็มีจำนวนเกิน 50 คน และไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของสมาชิกทั้งหมด สหภาพแรงงานจึงชอบที่จะเปิดประชุมใหญ่วิสามัญได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้มีคำสั่งในฐานะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาดให้โจทก์จ่ายเงินค่าครองชีพให้ลูกจ้างเพิ่มขึ้น กับให้โจทก์จ่ายเงินช่วยเหลือกรณีลูกจ้างเสียชีวิตโจทก์เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เป็นผู้กำหนดอัตราค่าครองชีพ ค่าช่วยเหลือกรณีลูกจ้างถึงแก่ความตายได้ นอกจากนี้ข้อเรียกร้องอันเป็นที่มาของคำชี้ขาดนั้น สหภาพแรงงานสายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ลไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย กล่าวคือ หนังสือเรียกร้องให้สหภาพแรงงานฯ นัดประชุมและยื่นข้อเรียกร้องต่อโจทก์นั้น มีสมาชิกไม่ครบจำนวนตามที่กฎหมายกำหนด ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์
จำเลยให้การว่า คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้รับคำสั่งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งสั่งการตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 35 (4) ย่อมมีอำนาจดำเนินการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานได้ตามมาตรา 41 (2) ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้างของสหภาพแรงงานฯ ได้กระทำไปโดยชอบด้วยกฎหมายทุกประการตามมติของที่ประชุมใหญ่ซึ่งมีสมาชิกมาประชุมครบจำนวนตามข้อบังคับของสหภาพแรงงานฯ จำเลยรับฟังพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายโดยชอบแล้ว
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดำเนินการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานระหว่างโจทก์กับสหภาพแรงงานฯ และลูกจ้างก็โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 34 (4) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ ฉะนั้นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จึงมีอำนาจดำเนินการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานได้ตามมาตรา 41 (2) ซึ่งคำว่า “ข้อพิพาทแรงงาน” ตามมาตรา 5หมายความว่า ข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และคำว่า ‘สภาพการจ้าง’ หมายความว่า เงื่อนไขการจ้างหรือการทำงาน กำหนดวันและเวลาทำงาน ค่าจ้าง สวัสดิการ การเลิกจ้าง หรือประโยชน์อื่นของนายจ้างหรือลูกจ้างอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงาน ข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานฯ ที่ให้โจทก์จ่ายเงินช่วยเหลือค่าครองชีพนั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างกับที่ขอให้โจทก์จ่ายเงินช่วยเหลือครอบครัวของพนักงานที่เสียชีวิต เป็นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสวัสดิการและประโยชน์อื่นของลูกจ้างอันเกี่ยวกับการทำงาน จึงเป็นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เมื่อโจทก์กับสหภาพแรงงานฯ และลูกจ้างไม่อาจตกลงกันได้ในข้อเรียกร้องเกิดเป็นข้อพิพาทแรงงานขึ้นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ก็ย่อมมีอำนาจที่จะกำหนดอัตราค่าครองชีพ หรือกำหนดเงินช่วยเหลือครอบครัวกรณีที่พนักงานเสียชีวิต อันเป็นการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานระหว่างโจทก์กับสหภาพแรงงานฯ และลูกจ้างของโจทก์ได้ตามกฎหมาย
คดีได้ความว่ามีผู้ลงชื่อท้ายหนังสือเรียกร้องให้สหภาพแรงงานฯ เปิดการประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อขอมติในการยื่นข้อเรียกร้องเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างจำนวน 104 ชื่อ มีการปลอมลายมือชื่อนายหนูนาและนายทวี สหภาพแรงงานฯ มีสมาชิกทั้งหมด 228 คน ตามข้อบังคับสหภาพแรงงานฯ กำหนดว่า ‘การประชุมใหญ่วิสามัญหมายถึงการประชุมที่สมาชิกไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่า 50 คน ลงลายมือชื่อทำหนังสือร้องขอให้คณะกรรมการเรียกประชุมใหญ่ ฯลฯ” ดังนี้ แม้จำนวนสมาชิกที่ลงชื่อในหนังสือเรียกร้องจะปรากฏว่ามีการปลอมลายมือชื่อสมาชิกบางคน แต่จำนวนสมาชิกที่ลงชื่อที่เหลือนอกนั้นก็มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดตามข้อบังคับ สหภาพแรงงานฯ จึงชอบที่จะร้องขอให้เปิดประชุมใหญ่เพื่อขอมติในการยื่นข้อเรียกร้องเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างได้
พิพากษายืน