แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฆ่า ส. โดยเจตนา คดีอยู่ในระหว่างนัดไต่สวนมูลฟ้อง วันรุ่งขึ้นพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยว่าทำปืนลั่นโดยประมาทเป็นเหตุให้ ส. ถึงแก่ความตาย จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยคดีถึงที่สุดแล้ว การกระทำผิดของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องกับที่พนักงานอัยการฟ้องนั้น แม้จะต่างข้อหากัน ก็เป็นการกระทำผิดกรรมเดียวกัน ศาลฟังข้อเท็จจริงแล้วว่าเป็นการกระทำโดยประมาท จะรื้อฟื้นให้ศาลพิจารณาพิพากษาความผิดกรรมเดียวกันนั้นอีกเป็นการทำผิดครั้งเดียวลงโทษ 2 ครั้งหาได้ไม่ เมื่อศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องนั้นแล้ว สิทธิ์นำคดีมาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(4) โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าโจทก์ฟ้องคดีก่อนหรือหลังพนักงานอัยการ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1037/2501)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงเด็กชายสุชินบุตรโจทก์ถึงแก่ความตายโดยเจตนาฆ่า ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๘
ก่อนไต่สวนมูลฟ้อง จำเลยยื่นคำร้องว่า เรื่องนี้พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องจำเลย และศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลย คดีถึงที่สุดแล้ว
โจทก์แถลงว่า โจทก์ฟ้องจำเลยก่อน วันรุ่งขึ้นพนักงานอัยการจึงฟ้องจำเลยในข้อหาทำปืนลั่นโดยประมาท เป็นเหตุให้เด็กชายสุชินถึงแก่ความตาย คดีที่พนักงานอัยการฟ้องถึงที่สุดแล้ว เป็นการกระทำกรรมเดียวกับที่โจทก์ฟ้องคดีนี้
ศาลชั้นต้นงดไต่สวนมูลฟ้อง วินิจฉัยว่าสิทธิ์นำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป พิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาข้อกฎหมายว่า โจทก์ฟ้องคดีก่อนพนักงานอัยการ ฟ้องคนละประเด็นและต่างข้อหากัน สิทธิ์นำคดีอาญามาฟ้องจึงยังไม่ระงับ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับกันว่า โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ฐานใช้อาวุธปืนยิงเด็กชายสุชินถึงแก่ความตายโดยเจตนาฆ่า คดีอยู่ในระหว่างไต่สวนมูลฟ้อง รุ่งขึ้นพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยว่าทำปืนลั่นโดยประมาท ถูกเด็กชายสุชินถึงแก่ความตาย จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาในวันเดียวกันนั้นให้ลงโทษจำคุกจำเลย ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำผิดของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องคดีนี้กับที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยนั้น แม้จะต่างข้อหากันก็เป็นการกระทำผิดกรรมเดียวกัน ศาลฟังข้อเท็จจริงไปแล้วว่าการกระทำของจำเลยเป็นการทำให้ปืนลั่นถูกผู้ตายโดยประมาทและพิพากษาลงโทษไป คดีถึงที่สุดแล้วจะรื้อฟื้นให้ศาลพิจารณาพิพากษาความผิดกรรมเดียวกันนั้นอีกเป็นการทำผิดครั้งเดียวลงโทษ ๒ หนหาได้ไม่ เพราะเมื่อศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องนั้นแล้ว สิทธิ์นำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๓๙(๔) โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าโจทก์ฟ้องคดีก่อนหรือหลังพนักงานอัยการ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๓๗/๒๕๐๑
พิพากษายืน