คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2832/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เดิม ท.กับจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกัน ถือได้ว่าต่างมีสิทธิครอบครองคนละครึ่ง เมื่อ ท.ตายสิทธิครอบครองในส่วนของ ท.ย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ว.ผู้เป็นบุตรแม้ว.จะมิได้เข้าครอบครองก็ตามก็ถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองแทนว.ตลอดมาการที่ส.ค.1มีชื่อท.ถือสิทธิครอบครองเพียงผู้เดียว ก็จะถือว่า ท.ตลอดทั้งว. ผู้สืบสิทธิทางมรดกมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแต่ผู้เดียวหาได้ไม่ เมื่อ ว. มีสิทธิครอบครองเพียงครึ่งหนึ่งแต่ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3ก.) สำหรับที่ดินพิพาท ทั้งแปลงเป็นของ ว. ผู้เดียวจึงไม่ชอบ การจดทะเบียนสิทธิใด ๆ ใน น.ส.3ก. ที่ทำขึ้นย่อมไม่มีผลในกฎหมาย แม้โจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทมาจาก ว. โดยจดทะเบียนใน น.ส.3ก. ก็ตามก็ไม่ทำให้ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยผู้ครอบครองที่ดินพิพาทนั้นอยู่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน น.ส.3 ก. โดยซื้อมาจากนายวัน จันเกิด จำเลยได้อาศัยอยู่ในที่ดินแปลงดังกล่าวโจทก์ประสงค์ที่จะสร้างตึกแถว แต่จำเลยไม่ยอมออกไปขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินตามฟ้อง ห้ามเกี่ยวข้องใด ๆอีกต่อไป และให้ชดใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยซึ่งรับมรดกจากบิดามารดา คือ นายจันและนางนาค จันเกิด และได้ครอบครองทำประโยชน์จนถึงปัจจุบัน นายวันไม่ใช่เจ้าของและไม่เคยครอบครองหรือเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท ไม่มีสิทธิให้เจ้าพนักงานที่ดินออกหนังสือ น.ส.3 ก. และไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขายให้โจทก์การซื้อขายไม่ผูกพันที่ดินและตัวจำเลย จำเลยปลูกสร้างบ้านเรือนในที่ดินมาประมาณ 50 ปีแล้ว เป็นการครอบครองทรัพย์สินของตนเองมิได้ละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหาว่า โจทก์หรือจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ปัญหานี้ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันและไม่ได้โต้เถียงกันฟังได้ว่า เดิมนายทองซึ่งเป็นบิดานายวันและจำเลยซึ่งเป็นน้องนายทองได้สร้างเรือนคนละหลังอยู่ในที่ดินพิพาท เมื่อประมาณ 14-15 ปีที่แล้วมานายทองถึงแก่กรรมบ้านเรือนของนายทองได้ผุพังไป ส่วนนายวันซึ่งอายุเพียง7 ปี ในตอนนั้นนายปั่นได้รับไปเลี้ยงและไม่ได้กลับเข้าไปอยู่ในที่พิพาทอีกเลย ต่อมานายวันทราบว่านายทองบิดาได้แจ้งการครอบครองที่ดินตามแบบ ส.ค.1 ไว้ จึงไปยื่นคำร้องต่อนายอำเภอหล่มสักให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้โดยอ้างว่าได้ครอบครองทำประโยชน์ต่อจากนายทองบิดาซึ่งนายบุญถม กินสี กำนัน ตำบลมุ่งคล้าอำเภอหล่มสัก ได้รับรองแนวเขต และรับรองว่านายวันได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา ทางราชการจึงได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ให้นายวัน นายวันได้ขายสิทธิครอบครองน.ส.3 ก. ดังกล่าวหรือที่ดินพิพาทให้โจทก์ จำเลยอยู่ในที่พิพาทตลอดมาตั้งแต่อายุ 20 ปี จนปัจจุบันอายุ 70 ปี ส่วนนายวันไม่เคยเข้าครอบครองพิเคราะห์แล้ว โจทก์เบิกความว่า ก่อนซื้อที่ดินพิพาท โจทก์ได้ไปพบจำเลยและสอบถามจำเลย จำเลยบอกว่าอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยนายทองโจทก์บอกว่าจะซื้อที่ดินแปลงนี้จำเลยก็ว่าแล้วแต่นายวันเพราะที่ดินเป็นของนายวัน จำเลยเบิกความเป็นพยานตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า จำเลยไม่ยอมให้ที่ดินพิพาทแก่นายวันบุตรนายทอง เพราะจำเลยไม่ชอบนายวันและเมื่อกำนันไปรังวัดที่ดินพิพาทเพื่อออก ส.ค.1 จำเลยไม่ได้คัดค้านการที่ออก ส.ค.1 เป็นชื่อของนายทองคนเดียว เพราะว่านายทองเป็นพี่ชายจำเลย และจำเลยคิดว่านายทองจะแบ่งที่ดินพิพาทให้จำเลยนายมั่น พรมพ้วย พยานจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงเบิกความว่าที่ดินพิพาทในคดีนี้ พยานไม่ทราบว่าเป็นของใครแน่นอนแต่ทราบว่า นายทองกับจำเลยอยู่ด้วยกันตลอดมานายทองอยู่บ้านเดียวกับจำเลยเป็นครอบครัวเดียวกัน คำเบิกความของพยานจำเลยดังกล่าวเจือสมคำเบิกความของโจทก์ เชื่อได้ว่า เดิมนายทองกับจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกัน จึงถือได้ว่าต่างมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทคนละครึ่งเมื่อนายทองตายสิทธิครอบครองในส่วนของนายทองย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่นายวันผู้เป็นบุตรและแม้นายวันจะมิได้เข้าครอบครองเลยก็ตาม ก็ถือได้ว่าจำเลยผู้ถือสิทธิครอบครองร่วมอยู่นั้นเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนนายวันตลอดมา อย่างไรก็ตามแม้ ส.ค.1 จะมีชื่อนายทองถือสิทธิครอบครองเพียงผู้เดียว ก็จะถือว่านายทองตลอดทั้งนายวันผู้สืบสิทธิทางมรดกมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแต่ผู้เดียวหาได้ไม่ เมื่อนายวันมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเพียงครึ่งหนึ่ง แต่ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) สำหรับที่ดินพิพาททั้งแปลงเป็นของนายวันแต่เพียงผู้เดียว จึงเป็นการไม่ชอบ การจดทะเบียนสิทธิใด ๆ ใน น.ส.3 ก. ที่ทำขึ้นย่อมไม่มีผลในกฎหมายแม้โจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทมาจากนายวัน และจดทะเบียนใน น.ส.3 ก. ก็ตาม ก็ไม่ทำให้ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยผู้ครอบครองที่ดินพิพาทนั้นอยู่ที่ศาลทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน

Share