แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2522 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ถูกปลดออกจากงานเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2521 อันเป็นเวลาก่อนที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ ใช้บังคับ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะนำพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯมาตรา 49 มาใช้บังคับแก่กรณีการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมของโจทก์ได้ แม้โจทก์จะกล่าวอ้างว่าการเลิกจ้างโจทก์ควรจะต้องนับตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2522 อันเป็นวันที่ประธานกรรมการบริษัทไอ บี เอ็ม ในสหรัฐอเมริกาแจ้งผลการพิจารณาขอความเป็นธรรมให้โจทก์ทราบก็ตาม แต่เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าโจทก์ได้อาศัยระเบียบข้อบังคับในการทำงานข้อใดที่ให้สิทธิแก่โจทก์ทำการร้องเรียนขอความเป็นธรรมตามธรรมดาอันจะทำให้เห็นว่า คำสั่งปลดโจทก์ออกจากงานของจำเลยยังไม่มีผลในวันที่ 7 ธันวาคม 2521 ซึ่งเป็นข้อสำคัญที่โจทก์จะต้องบรรยายในคำฟ้อง เมื่อโจทก์มิได้กล่าวไว้ก็ไม่มีเหตุที่จะแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีสิทธิที่จะขอให้ศาลแรงงานกลางนำมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ประกาศใช้ภายหลังคำสั่งปลดออกจากงานมาปรับกับกรณีของโจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำเมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๑๒ ต่อมาเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๒๑ จำเลยมีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากงานโดยอ้างว่า โจทก์กระทำผิดกฎและระเบียบของจำเลยซึ่งโจทก์เห็นว่าไม่เป็นธรรมเพราะโจทก์มิได้กระทำผิดดังกล่าวหา โจทก์ได้ร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อประธานกรรมการบริษัทจำเลยและประธานกรรมการบริษัทจำเลยซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่มลรัฐนิวยอร์คสหรัฐอเมริกา แต่ได้รับการยืนยันว่าการที่จำเลยปลดโจทก์ออกจากงานเป็นการถูกต้องแล้ว โจทก์เห็นว่าจำเลยไม่ให้ความเป็นธรรมแก่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมและอัตราเงินเดือนเดิมต่อไปนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยจริง โจทก์ฝ่าฝืนนโยบายของบริษัทจำเลยหลายครั้ง จำเลยเคยออกหนังสือเตือนให้โจทก์ทำการแก้ไขก่อนเลิกจ้างและจากผลการตรวจสอบต่อมาจำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยมีความยุ่งยากเกี่ยวกับการที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ในที่สุดโจทก์จำเลยได้ตกลงกันให้มีการเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๒๑ โดยจำเลยได้จ่ายค่าชดเชยและเงินอื่น ๆ ให้โจทก์รับไปแล้ว การเลิกจ้างของจำเลยเป็นไปตามข้อตกลงและเป็นการใช้ดุลพินิจโดยเป็นธรรม โจทก์นำคดีมาฟ้องหลังจากโจทก์ออกจากงานไปเป็นเวลา ๒ ปี เป็นการเกินกว่าสิทธิตามกฎหมาย การขอให้พิจารณาความเป็นธรรมจะต้องดำเนินการเสียภายในเวลา ๒ เดือนนับแต่พ้นจากตำแหน่งตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ มาตรา ๑๒๔ แต่โจทก์ไม่กระทำจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลแรงงานกลางสั่งงดสืบพยานแล้วฟังว่า โจทก์ฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ ซึ่งใช้บังคับเมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๒๒ ภายหลังจากที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้บังคับตามคำขอได้ แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นต่อสู้แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา ๓๑ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๔๒(๕) พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ ใช้บังคับเป็นกฎหมายเมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๒๒ ภายหลังจากที่จำเลยมีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากงานเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๒๑ แม้ตามฟ้องโจทก์จะบรรยายว่าจำเลยปลดโจทก์ออกจากงานโดยไม่เป็นธรรมซึ่งโจทก์ถือว่าจำเลยกระทำการอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ แต่โจทก์ก็หามีสิทธิที่จะนำพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้ให้มีผลย้อนหลังเป็นมูลฟ้องร้องคดีเพื่อให้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามความที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๙ ไม่ ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า หลังจากจำเลยมีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากงาน โจทก์ได้ร้องเรียนขอความเป็นธรรมไปยังประธานกรรมการบริษัทในสหรัฐอเมริกาตลอดมา ซึ่งประธานกรรมการได้แจ้งผลการพิจารณาให้โจทก์ทราบครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๒ อันเป็นเวลาหลังจากที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ ใช้บังคับแล้ว การนับเวลาการเลิกจ้างจึงต้องนับตั้งแต่วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๒ โจทก์จึงฟ้องคดีโดยอาศัยมาตรา ๔๙ ได้นั้น เห็นว่าตามคำบรรยายฟ้องโจทก์มิได้กล่าวไว้ ณ ที่ใดว่าการที่โจทก์ร้องเรียนขอความเป็นธรรมโจทก์ได้อาศัยระเบียบข้อบังคับในการทำงานใดให้สิทธิแก่โจทก์ทำการร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อไปได้ยิ่งกว่าการขอความเป็นธรรมตามธรรมดาอันจะทำให้เห็นว่า คำสั่งปลดโจทก์ออกจากงานของจำเลยยังไม่มีผลในวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๒๑ ข้อดังกล่าวนี้เป็นข้อสำคัญที่โจทก์จำเป็นต้องบรรยายไว้ในคำฟ้องเพราะเป็นสิทธิการฟ้องร้องคดีของโจทก์ หาใช่รายละเอียดที่จะนำสืบได้ในชั้นพิจารณาไม่ เมื่อโจทก์มิได้กล่าวไว้ก็ไม่มีเหตุใดที่จะให้เห็นว่าโจทก์มีสิทธิจะขอให้ศาลแรงงานกลางยกมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ประกาศใช้ภายหลังคำสั่งปลดออกจากงานของจำเลยมาใช้บังคับจำเลยให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานใหม่ได้
พิพากษายืน