คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2826/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ภายหลังจากโจทก์ จำเลย และว.ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลย และว. ยอมรับผิดร่วมกันชดใช้เงินค่าใช้จ่ายในการส่งคนงานไปทำงานต่างประเทศจำนวน 293,813 บาท ให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์จำเลยได้ตกลงกันใหม่ว่าจำเลยรับว่าได้กู้ยืมเงินโจทก์ 293,813 บาท และจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้เงินกู้ดังกล่าว ดังนี้ถือได้ว่าโจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาแปลงหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นหนี้เงินกู้และจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้เงินกู้ที่ปรากฏข้อความในหนังสือสัญญาจำนอง สัญญาจำนองจึงมีผลบังคับตามกฎหมาย การที่โจทก์จะรับชำระหนี้จำนองไว้บางส่วนตามหนังสือสัญญาชำระหนี้ซึ่งมีข้อความสงวนสิทธิในการจะฟ้องบังคับจำนองหากจำเลยชำระหนี้จำนองไม่ครบ ภายหลังจากที่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยแล้วก็ตาม ไม่ถือว่าโจทก์สละเจตนาที่จะบังคับจำนองกับจำเลยยังถือเป็นหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองอยู่ การบอกกล่าวบังคับจำนองชอบแล้ว แม้ในหนังสือสัญญาจำนองมีข้อความระบุว่าไม่มีดอกเบี้ยก็ตามแต่หนังสือสัญญาจำนองนี้เป็นทั้งสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาจำนองข้อความที่ว่าไม่มีดอกเบี้ยจึงหมายความว่าที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์293,813 บาท นั้นไม่ต้องเสียดอกเบี้ยและสัญญาจำนองก็ไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินแต่เมื่อจำเลยมิได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามกำหนดเวลาในหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนอง จำเลยย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 244

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงิน 182,871 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 163,813 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์หากไม่ชำระให้บังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่57087 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 146 ขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์และถ้าไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้จนครบด้วย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่เคยกู้เงินโจทก์ จำเลยจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 57087 ไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นการประกันหนี้ของนายวีระ พิมพ์ปรุไม่ได้ทำสัญญาแปลงหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นหนี้กู้ยืมเงินสัญญาจำนองเป็นโมฆะ โจทก์มิได้บอกกล่าวบังคับจำนองตามกฎหมายและไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยร้อยละ15 ต่อปี นายวีระ พิมพ์ปรุ ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้วโจทก์รับเงิน 130,000 บาท ไปจากจำเลยจึงเป็นการรับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้องและใช้เงิน 130,000 บาท คืนให้แก่จำเลยพร้อมทั้งดอกเบี้ย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ต้องคืนเงินและจำเลยไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 163,813 บาท พร้อมดอกเบี้ยหากไม่ชำระให้บังคับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาด ถ้าได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์ครบ คำขออื่นให้ยกและให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในปัญหาที่ว่าหนังสือสัญญาจำนองเอกสารหมายจ.4 มีผลบังคับหรือไม่นั้น จำเลยอ้างว่าเป็นโมฆะเพราะไม่มีมูลหนี้ผูกพันจำเลย เนื่องจากไม่มีการแปลงหนี้ใหม่ระหว่างโจทก์จำเลยและนายวีระไม่ได้ยินยอมในการที่จำเลยชำระหนี้แทน เห็นว่าแม้ในสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งสืบเนื่องมาจากข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยเกี่ยวกับเงินค่าใช้จ่ายของคนงานที่โจทก์มอบให้แก่จำเลย 293,813 บาท ระบุให้จำเลยจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 58087 (ที่ถูก 57087) แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ที่จำเลยและนายวีระเป็นหนี้โจทก์ก็ตาม แต่โจทก์เบิกความยืนยันว่า เมื่อทำสัญญาจำนองกันจริง ๆ โจทก์จำเลยและนายวีระได้ตกลงให้จำเลยเป็นผู้รับชำระหนี้ต่อโจทก์เพียงผู้เดียวเพื่อสะดวกในการติดต่อใช้หนี้ ซึ่งในเรื่องนี้ก็สอดคล้องกับข้อความที่ปรากฏในหนังสือสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.4 ที่ระบุว่า เป็นการจำนองเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินที่จำเลยกู้ยืมโจทก์ไป และให้ถือหนังสือสัญญาจำนองดังกล่าวเป็นสัญญากู้ยืมเงินด้วย นอกจากนี้นางจินตนาม่วงฮำ เจ้าหน้าที่ที่ดินผู้จดทะเบียนจำนองก็เบิกความยืนยันว่าได้จดทะเบียนจำนองตามหนังสือสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.4 เพื่อค้ำประกันหนี้เงินกู้ ก่อนจดทะเบียนได้สอบถามคู่กรณีได้ความว่ารับเงินเรียบร้อยแล้ว เป็นการสนับสนุนคำเบิกความของโจทก์ที่ว่าโจทก์จำเลยได้ตกลงแปลงหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.3 เป็นหนี้เงินกู้โดยจำเลยรับเป็นผู้กู้โจทก์จริงที่นายสุนทร พิทยากรประชาสามีจำเลยเบิกความว่าได้ทักท้วงเจ้าหน้าที่ที่ดินเรื่องสัญญาจำนองไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่จะจำนองเป็นประกันหนี้ของนายวีระ แต่เจ้าหน้าที่ที่ดินบอกว่าหากจะเปลี่ยนก็ต้องทำสัญญาใหม่เสียค่าธรรมเนียมใหม่ โจทก์จำเลยเห็นว่าเป็นการยุ่งยากและใกล้หมดเวลาปฏิบัติราชการแล้วจึงไม่ได้เปลี่ยนแปลงสัญญานั้น ก็เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ และขัดต่อเหตุผล เพราะนายสุนทรเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า หลังจากเจ้าหน้าที่ที่ดินพิมพ์ข้อความในสัญญาจำนองเสร็จแล้วโจทก์ จำเลย นายวีระ และนายสุนทรได้อ่านก่อนแล้ว ดังนี้หากข้อความในสัญญาจำนองไม่ถูกต้องก่อนจะมีการจดทะเบียนก็น่าจะให้เจ้าหน้าที่ที่ดินพิมพ์เสียใหม่ให้ถูกต้องซึ่งก็คงไม่เสียเวลามากนัก อีกประการหนึ่งข้อความต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.4 นี้ เห็นได้ว่าเจ้าหน้าที่ที่ดินจะต้องสอบถามรายละเอียดจากโจทก์จำเลยก่อนที่จะพิมพ์ต่อไปเพราะเจ้าหน้าที่ที่ดินน่าจะไม่รู้ข้อเท็จจริงและรายละเอียดต่าง ๆดังกล่าว จึงเป็นข้อสนับสนุนให้เห็นว่าโจทก์จำเลยมีเจตนาที่จะทำสัญญาจำนองกันตามข้อความที่ปรากฏในหนังสือสัญญาจำนองเอกสารหมายจ.4 นี้จริง พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า หลังจากโจทก์จำเลยและนายวีระทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว โจทก์จำเลยได้ตกลงกันใหม่เป็นว่าจำเลยรับว่าได้กู้ยืมเงินโจทก์ 293,813 บาท และจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 57087 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 146 เป็นประกันหนี้ดังกล่าว ซึ่งถือได้ว่าโจทก์จำเลยได้ตกลงทำสัญญาแปลงหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.3 เป็นหนี้เงินกู้และจำนองที่ดินและบ้านเป็นประกันหนี้เงินกู้ดังกล่าวตามที่ปรากฏข้อความในหนังสือสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.4 สัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.4 จึงมีผลบังคับตามกฎหมาย ส่วนที่จำเลยอ้างว่านายวีระไม่เคยให้ความยินยอมนั้นจำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ในปัญหาต่อไปที่ว่า โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบหรือไม่นั้น จำเลยฎีกาว่า หนังสือเอกสารหมาย จ.6 ไม่ใช่หนังสือบอกกล่าวบังคับจำนอง เพราะโจทก์ได้สละเจตนาจะบังคับจำนองโดยรับชำระหนี้จำนองรวม 130,000 บาท เห็นว่าแม้จะได้ความว่าหลังจากที่โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือเอกสารหมาย จ.6 ถึงจำเลยให้นำเงิน293,813 บาท ไปชำระภายในกำหนด 15 วัน หากไม่ชำระตามกำหนดจะดำเนินคดีบังคับจำนองตามกฎหมายแล้ว โจทก์โดยทนายโจทก์จะได้รับชำระหนี้จากนายสุนทร 3 ครั้ง รวมเป็นเงิน 130,000 บาทตามหนังสือสัญญาชำระหนี้เอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.10 ก็ตาม หนังสือสัญญาชำระหนี้ดังกล่าวก็ได้มีข้อความสงวนสิทธิในการจะฟ้องบังคับจำนองหากจำเลยชำระหนี้จำนองไม่ครบเช่นนี้การที่โจทก์รับชำระหนี้จำนองไว้บางส่วนตามหนังสือสัญญาชำระหนี้เอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.10จึงยังไม่ถือว่าโจทก์สละเจตนาที่จะบังคับจำนองกับจำเลยแต่อย่างใดหนังสือเอกสารหมาย จ.6 ยังเป็นหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองอยู่โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อสุดท้ายที่ว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยหรือไม่นั้น จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเพราะสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.4 ระบุว่าไม่มีดอกเบี้ย เห็นว่า แม้ในหนังสือสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.4 มีข้อความระบุว่าไม่มีดอกเบี้ยก็ตามแต่หนังสือสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.4 นี้ก็เป็นทั้งสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาจำนองดังนั้นข้อความที่ว่าไม่มีดอกเบี้ยจึงหมายความว่าที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 293,813 บาท นั้นไม่ต้องเสียดอกเบี้ย และสัญญาจำนองก็ไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงิน แต่เมื่อทนายโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยชำระหนี้ 293,813 บาท แก่โจทก์ภายในกำหนด 15 วันตามหนังสือเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งครบกำหนดชำระในวันที่ 15 เมษายน 2528และจำเลยมิได้ชำระตามกำหนดดังกล่าว จำเลยย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับถัดจากวันฟ้องนั้นเป็นผลดีแก่จำเลยแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share