คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2824/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีอาญาจำเลยย่อมมีสิทธิที่จะให้การอย่างใดหรือแม้จะไม่ให้การเลยก็ได้ เป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องนำสืบพยานก่อนให้เห็นว่าจำเลยเป็นกระทำความผิด จำเลยไม่จำต้องยกประเด็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การก็มีสิทธิที่จะนำสืบในประเด็นนั้น ๆ ได้และจำเลยมีอำนาจนำพยานเข้าสืบเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลยได้โดยไม่จำต้องซักค้านพยานโจทก์ ในเรื่องที่จำเลยจะนำพยานเข้าสืบต่อไปไว้เลย
ในความผิดฐานยักยอกนั้น สถานที่ที่จำเลยยืมทรัพย์ที่ยักยอกย่อมถือเป็นสถานที่เกิดเหตุในการกระทำผิดด้วย

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยโจทก์ฟ้องมีใจความว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2504 นางสฤษดิ์ได้ยกเครื่องประดับอันเป็นทรัพย์ส่วนตัวให้นางสาววิไลลักษณ์บุตรรวม 10 อย่าง คือ ห้อยคอฯลฯ แต่ระหว่างที่นางสาววิไลลักษณ์ยังเล่าเรียนอยู่ ให้นายนภาและนายธาดาเก็บรักษาไว้แทน ต่อมาเดือนตุลาคม 2506 เวลากลางวันจำเลยทั้งสามในคดีแรกได้ร่วมกันยืมเครื่องประดับดังกล่าวจากนางสฤษดิ์นายนภา และนายธาดาไปรวม 6 อย่าง คือ ห้อยคอ ฯลฯ และเดือนเมษายน2507 เวลากลางวันจำเลยในคดีหลังได้ร่วมกับจำเลยที่ 3 ในคดีแรกขอยืมจากนายนภาและนายธาดาไปอีก 4 อย่าง คือ จี้เพชร ฯลฯ ทรัพย์ทั้งหมดราคารวมกันประมาณ 80,000 บาท ครั้นต้นเดือนมีนาคม 2510 ผู้เสียหายได้ทวงถามของเหล่านี้ จำเลยปฏิเสธไม่ยอมคืนให้ โดยในระหว่างเดือนมีนาคม 2510 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้งสองสำนวนมีเจตนาทุจริตคิดยักยอกเอาทรัพย์ดังกล่าวไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัว ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์แล้ว เหตุเกิดที่ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมืองนครสวรรค์ฯ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 83 และให้จำเลยทั้งสองสำนวนคืนหรือใช้ราคาทรัพย์

จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายและปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิด

ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นายนภาและนายธาดาเข้าเป็นโจทก์ร่วม

ระหว่างสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นงดสืบพยานแล้วพิพากษายกฟ้องซึ่งต่อมาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ร่วมทั้งสองเป็นผู้เสียหายฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม ทั้งข้อความที่โจทก์ร่วมร้องทุกข์นั้นเป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมายพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่

ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า ทรัพย์พิพาทมีเพียง 7 อย่าง ซึ่งหลวงเจริญรัตนวิโรจน์ขายให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว พิพากษายกฟ้องทั้งสองสำนวน

โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์โดยมีคำรับรองของอธิบดีกรมอัยการ

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา โดยมีคำรับรองของอธิบดีกรมอัยการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4

ข้อกฎหมายที่โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาว่า จำเลยให้การปฏิเสธโดยมิได้ยกประเด็นใดขึ้นต่อสู้ จำเลยกลับนำสืบในประเด็นต่าง ๆและมิได้ถามข้อเท็จจริงเหล่านั้นไว้ในเวลาที่โจทก์นำพยานเข้าสืบซึ่งต่อมาโจทก์ได้คัดค้านไว้แล้ว ไม่ชอบที่ศาลจะรับฟังข้อเท็จจริงเหล่านั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าในคดีอาญาจำเลยย่อมมีสิทธิที่จะให้การอย่างใด หรือแม้จะไม่ให้การเลยก็ได้ เป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องนำสืบพยานก่อนให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด จำเลยไม่จำต้องยกประเด็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การก็มีสิทธิที่จะนำสืบในประเด็นนั้น ๆได้ และจำเลยมีอำนาจนำพยานเข้าสืบเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลยได้ โดยไม่จำต้องซักค้านพยานโจทก์ในเรื่องที่จำเลยจะนำพยานเข้าสืบต่อไปไว้เลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 172, 174 ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 862/2503 ระหว่างนายจันทร์ กลางสวัสดิ์ โจทก์ นายขุน อาพัดนอก กับพวก จำเลย ดังนี้ ศาลย่อมรับพิจารณาคำพยานจำเลยเหล่านั้นได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยทุกคนเป็นความผิดฐานยักยอก มิใช่ฐานฉ้อโกงดังที่จำเลยอ้าง และสถานที่ที่จำเลยยืมเกิดขึ้นที่อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ จึงถือเป็นสถานที่เกิดเหตุในการกระทำผิดฐานนี้ด้วย คำบรรยายฟ้องเกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุถูกต้องแล้ว

พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสี่คนมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352, 83 ให้รอการกำหนดโทษไว้ และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ในแต่ละสำนวนตามราคาที่คำนวณมา

Share