คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2823/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสารกรอกข้อความลงในเอกสาร ดูแลรักษาเอกสารเกี่ยวกับการเงินและบัญชี ควบคุมดูแลเงินและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเงินทุกประเภทของโรงเรียน พ. จำเลยได้กรอกข้อความและลงลายมือชื่อของข้าราชการหลายคนในสัญญารับรองการยืมเงินว่า บุคคลเหล่านั้นยืมเงินค่าวัสดุอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายในกิจการของโรงเรียนอันเป็นความเท็จ และปลอมลายมือชื่อของผู้อำนวยการ โรงเรียนกับพวกเป็นผู้อนุมัติให้ยืมเงิน อีกทั้งปลอมสัญญารับรองการยืมเงินของบุคคลดังกล่าวโดยเพิ่มเติมข้อความหรือแก้ไขตัวเลขให้สูงขึ้น แล้วเบียดบังเงินส่วนนั้นไปเป็นของตนโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 และ 147 แต่การที่จำเลยปลอมและใช้เอกสารปลอมก็โดยมีเจตนาที่จะใช้เป็นหลักฐานในการเบียดบังเงินเป็นของตนการที่จำเลยเบียดบังเงินแต่ละครั้งจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 147อันเป็นบทหนักที่สุดตามมาตรา 90 จำเลยกระทำความผิดรวม 36 กระทง เท่านั้นแต่การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำ ของจำเลยในความผิดตามมาตรา 147 และมาตรา 161 เป็นความผิดหลายกรรมและพิพากษาลงโทษจำเลย ตามมาตรา 147 รวม 36 กระทงกับมาตรา 161 รวม 36 กระทงนั้นไม่ถูกต้อง เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 27 กันยายน 2532เวลากลางวัน ถึงวันที่ 29 มกราคม 2533 เวลากลางวันจำเลยซึ่งรับราชการปฏิบัติหน้าที่ครูการเงินและบัญชี มีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในเอกสารดูแลรักษาเอกสารเกี่ยวกับการเงินและบัญชีควบคุมดูแลเงินและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเงินทุกประเภท จำเลยได้กรอกข้อความและลงลายมือชื่อของนางบุญเจือ ดิษฐ์ไชยวงศ์หรือดิษฐ์ไชยวงค์ และบุคคลอื่นอีกหลายคนในสัญญารับรองการยืมเงินว่าบุคคลเหล่านั้นยืมเงินค่าวัสดุอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายในกิจการของโรงเรียนพิจิตรพิทยาคมอันเป็นความเท็จ และปลอมลายมือชื่อของนายเรือง ปาเฉยผู้อำนวยการโรงเรียนกับพวกเป็นผู้อนุมัติให้ยืมเงิน ปลอมสัญญารับรองการยืมเงินของนางบุญเจือ และบุคคลอื่นดังกล่าวโดยเพิ่มเติมข้อความหรือแก้ไขตัวเลขให้สูงขึ้น แล้วเบียดบังเงินส่วนนั้นเป็นของตนโดยทุจริต ซึ่งจำเลยได้กระทำการปลอมเอกสารในคดีทั้งสองสำนวนรวม 72 ฉบับ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 91, 147, 157, 161 ริบเอกสารของกลางที่ใช้ในการกระทำความผิด และให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 582,167 บาทแก่โรงเรียนพิจิตรพิทยาคม จังหวัดพิจิตร กรมสามัญศึกษา
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 161 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 โดยลงโทษตามมาตรา 147 รวม 36 กระทง จำคุกกระทงละ 7 ปี ตามมาตรา 161 อีก 36 กระทงจำคุกกระทงละ 2 ปี เนื่องจากความผิดตามมาตรา 147 ซึ่งเป็นกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วจึงให้ลงโทษจำคุกทั้งสิ้น 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) ริบของกลาง ให้จำเลยคืนเงิน 582,167 บาท แก่โรงเรียนพิจิตรพิทยาคม
จำเลยอุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยรับราชการตำแหน่งหัวหน้างานการเงินของโรงเรียนพิจิตรพิทยาคม มีหน้าที่เบิกจ่ายเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณทุกเรื่อง ทำรายงานเกี่ยวกับการเงินและควบคุมดูแลเงินกับเอกสารอื่นที่เกี่ยวกับการเงินทุกประเภทในระหว่างที่จำเลยดำรงตำแหน่งดังกล่าว ปรากฏว่ามีผู้ทุจริตปลอมแปลงเอกสารสัญญารับรองการยืมเงินนอกงบประมาณ ซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของจำเลยรวม 72 ฉบับแล้วเบียดบังเงินไปจำนวนรวม 2,657,578 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องจริง ส่วนที่จำเลยนำสืบว่า ตนไม่ได้ปลอมเอกสารกับเบียดบังเงินของโรงเรียนนั้นคงมีแต่จำเลยปากเดียวเบิกความลอย ๆ ไม่มีพยานอื่นมาเบิกความสนับสนุนข้ออ้างของตนแต่อย่างใด เป็นพยานหลักฐานที่เลื่อนลอย ไม่มีเหตุผลให้รับฟังและไม่สามารถหักล้างหลักฐานของโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
อนึ่ง ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่า การที่จำเลยปลอมและใช้เอกสารปลอมก็โดยมีเจตนาที่จะใช้เป็นหลักฐานในการเบียดบังเงินเป็นของตน การที่จำเลยเบียดบังเงินแต่ละครั้งจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 อันเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 รวม 36 กระทง เท่านั้นที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยในความผิดตามมาตรา 147 และมาตรา 161 เป็นความผิดหลายกรรมและพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 147 รวม 36 กระทง กับมาตรา 161รวม 36 กระทงนั้นไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง และที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน582,167 บาท แก่โรงเรียนพิจิตรพิทยาคมนั้น ยังไม่ถูกต้องตามคำขอของโจทก์จึงเห็นสมควรแก้ไขให้สมบูรณ์ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147, 161 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำเลยเบียดบังเงินไปรวม 36 ครั้ง จึงเป็นความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 36 กระทง จำคุกกระทงละ 7 ปี เป็นโทษจำคุกรวม 252 ปี แต่เนื่องจากความผิดตามมาตรา 147 ระวางโทษจำคุกขึ้นสูงเกินกว่าสิบปีขึ้นไป เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงลงโทษจำคุกจำเลย 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) ริบของกลางให้จำเลยคืนเงิน 582,167 บาท แก่โรงเรียนพิจิตรพิทยาคมจังหวัดพิจิตร กรมสามัญศึกษา

Share