คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2822/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทและมีข้อสัญญาว่าจำเลยยอมให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทนับแต่วันทำสัญญา การที่โจทก์ไถหน้าดินของจำเลย ออกไปถมที่ดินของโจทก์เป็นการทำละเมิดต่อจำเลยตามฟ้องแย้งอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสัญญาจะซื้อจะขายและการที่จำเลยยอมให้โจทก์เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินถือว่าฟ้องแย้งของจำเลยเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2533จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ท 3996เนื้อที่ 5 ไร่ 1 งาน ในราคา 3,675,000 บาท กับโจทก์และโจทก์ได้วางมัดจำในวันทำสัญญาจำนวน 400,000 บาทส่วนที่เหลือจะชำระให้จำเลยทั้งหมดในวันที่18 มีนาคม 2534 ซึ่งเป็นวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในสัญญาระบุว่าจำเลยยินยอมให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวได้ และรับรองว่าที่ดินมีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะ หากจำเลยไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ได้พร้อมทางเข้าออกแล้วให้ถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญายอมให้โจทก์ฟ้องร้องบังคับคดีและชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 800,000 บาท ครั้นถึงวันนัดจำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์และหาทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้ อันถือเป็นสาระสำคัญของสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์จึงได้บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายแก่จำเลยให้จำเลยคืนเงินมัดจำจำนวน 400,000 บาทส่วนค่าเสียหายนั้น โจทก์ขอคิดเพียง 400,000 บาทรวมเป็นเงินที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์จำนวน 800,000 บาทขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 800,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่พูดหรือรับรองกับโจทก์เรื่องทางเข้าออก โจทก์เป็นฝ่ายให้เขียนคำรับรองดังกล่าวลงในสัญญาเอง หลังจากทำสัญญาแล้วโจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินทันทีโดยนำรถเข้าไปไถต้นอ้อยและหน้าดินลึกประมาณ 40 เซนติเมตร เข้าไปถมบ่อในที่ดินของบุตรชายโจทก์ซึ่งอยู่ติดกันและไม่ยอมรับโอนกรรมสิทธิ์ตามกำหนดโจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาทำให้จำเลยได้รับความเสียหายขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ชดใช้เงินในการที่ทำให้ไร่อ้อยของจำเลยได้รับความเสียหายจำนวน 40,628 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 39,160 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย ให้โจทก์หาดินที่มีสภาพเดียวกับที่ดินของจำเลยมาถมที่ดินของจำเลยให้สูงเท่าเดิมและใส่ปุ๋ยปรับสภาพที่ดินให้ใช้ทำการเกษตรได้ดังเดิมมิฉะนั้นให้โจทก์ใช้เงินเป็นค่าเสียหายจำนวน 372,275 บาทพร้อมดอกเบี้ยให้อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องวันกว่าจะชำระเสร็จและให้โจทก์ชำระค่าขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินเป็นเงินปีละ 13,260 บาท นับแต่วันที่ 18 มีนาคม 2534มีกำหนด 1 ปี
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ได้ไถหน้าดินของจำเลยลึก 40 เซนติเมตร จำเลยได้รับความเสียหายเกี่ยวกับไร่อ้อยอย่างสูงไม่เกิน 20,000 บาท โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทด้วยความยินยอมของจำเลย จำเลยไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดประโยชน์ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 270,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งจำเลย
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกมีว่าจำเลยมีสิทธิฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายในการที่โจทก์ไถหน้าดินของจำเลยออกไปถมที่ดินของโจทก์ได้หรือไม่เห็นว่า คดีนี้โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทและมีข้อสัญญาว่าจำเลยยอมให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทนับแต่ทำสัญญา แม้การที่โจทก์ไถหน้าดินของจำเลยออกไปถมที่ดินของโจทก์จะเป็นการทำละเมิดต่อจำเลยแต่ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากสัญญาจะซื้อจะขายและการที่จำเลยยอมให้โจทก์เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดิน ถือว่าฟ้องแย้งของจำเลยเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม และศาลชั้นต้นก็ได้รับฟ้องแย้งของจำเลยไว้แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าฟ้องแย้งไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 130,000 บาทแก่จำเลย พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share