คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2822/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายโดยจำเลยที่ 1 จับคอเสื้อและใช้แขนรัดคอของผู้เสียหาย แล้วถามว่าเอ็งงัดบ้านข้าใช่ไหม ผู้เสียหายปฏิเสธ จำเลยที่ 1 ขู่ผู้เสียหายให้รับสารภาพอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อผู้เสียหายไม่ยอมรับสารภาพ จำเลยที่ 1 ชักดาบปลายปืนยาวประมาณ 8 นิ้วฟุต ออกมาจี้หลังผู้เสียหายและขู่ให้รับสารภาพ ผู้เสียหายไม่ยอมรับสารภาพ จำเลยที่ 1 จึงสอดดาบปลายปืนเข้าไปในเสื้อของผู้เสียหายแล้วกรีดที่หลังและหน้าท้องของผู้เสียหายประมาณ 10 แห่ง กรีดเป็นรอยลึกและมีโลหิตไหล จำเลยที่ 2 ชักปืนออกมาจ่อที่ศีรษะของผู้เสียหายแล้วพูดว่า ถ้าไม่รับจะยิงให้ตาย หลังจากเกิดเหตุแล้ว 5 วัน แพทย์ตรวจพบรอยตกสะเก็ดที่เกิดจากของมีคมบาดที่ด้านหลังและที่หน้าเล็กน้อย บาดแผลหายภายใน 1 สัปดาห์ ดังนี้ถือได้ว่ากระทำให้เกิดอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 แล้ว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๕, ๘๓
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
นายสมหมายผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕, ๘๓ จำคุกคนละ ๑ ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานตำรวจได้ร่วมกันทำร้ายผู้เสียหาย โดยจำเลยที่ ๑จับคอเสื้อและใช้แขนรัดคอของผู้เสียหายแล้วถามว่า’เอ็งงัดบ้านข้าใช่ไหม’ ผู้เสียหายปฏิเสธ จำเลยที่ ๑ ขู่ผู้เสียหายให้รับสารภาพอยู่ประมาณ ๑ ชั่วโมง เมื่อผู้เสียหายไม่ยอมรับสารภาพจำเลยที่ ๑ จึงชักดาบปลายปืนยาวประมาณ ๘ นิ้วฟุต ออกมาจี้หลังผู้เสียหายและขู่ให้รับสารภาพ ผู้เสียหายไม่ยอมรับสารภาพ จำเลยที่ ๑ จึงสอดดาบปลายปืนเข้าไปในเสื้อของผู้เสียหายแล้วกรีดที่หลังและหน้าท้องของผู้เสียหายประมาณ ๑๐ แห่ง กรีดเป็นรอยลึกและมีโลหิตไหล จำเลยที่ ๒ชักอาวุธปืนออกมาจ่อที่ศีรษะของผู้เสียหายแล้วพูดว่าถ้าไม่รับจะยิงให้ตาย หลังจากเกิดเหตุแล้ว ๕ วัน พนักงานสอบสวนส่งผู้เสียหายไปให้แพทย์ตรวจชันสูตรบาดแผล แพทย์บันทึกในรายงานการตรวจชันสูตรบาดแผลของผู้เสียหายว่า พบรอยตกสะเก็ดที่เกิดจากของมีคมบาดที่ด้านหลังและที่หน้าเล็กน้อย บาดแผลหายภายใน ๑ สัปดาห์ ศาลฎีกาเห็นว่า พฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยประกอบด้วยลักษณะบาดแผลเช่นนี้ ถือได้ว่ากระทำให้เกิดอันตรายแก่กายของผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ แล้ว หาใช่เป็นความผิดตามมาตรา ๓๙๑ ดังจำเลยทั้งสองฎีกาไม่
พิพากษายืน.

Share