แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บทบัญญัติมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ มิได้บังคับเด็ดขาดว่าข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้มีผลผูกพันแต่เฉพาะลูกจ้างที่ลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้อง หรือมีส่วนในการเลือกผู้แทนเข้าร่วมเจรจาเท่านั้นดังนั้น เมื่อนายจ้างมีเจตนาให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับพิพาทมีผลผูกพันลูกจ้างเป็นการทั่วไป ลูกจ้างผู้ที่เข้ามาทำงานในภายหลังจากมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับดังกล่าวก็มีสิทธิได้รับประโยชน์จากข้อตกลงนั้นด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ต่อมาโจทก์ได้ลาออกจากงาน จำเลยไม่ยอมจ่ายเงินชดเชยให้โจทก์ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จึงขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินชดเชยจำนวน ๖,๑๘๐ บาทแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ขณะที่มีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับพิพาทโจทก์ยังมิได้ทำงานอยู่ ณ หน่วยงานที่มีการทำข้อตกลงนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามข้อตกลง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินชดเชยจำนวน ๖,๑๘๐ บาทแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๑๘ หาได้กำหนดว่าให้ข้อตกลงมีผลแต่เฉพาะบรรดาลูกจ้างที่ทำงานอยู่ ณ หน่วยงานท้ายบ้านในวันทำข้อตกลงเท่านั้นดังเช่นที่กำหนดไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับอื่นไม่ แสดงว่าจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างมุ่งประสงค์จะให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวมีผลผูกพันลูกจ้างในหน่วยงานท้ายบ้านเป็นการทั่วไปโดยมิได้เจาะจงแต่เฉพาะผู้ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานท้ายบ้านในวันทำข้อตกลงเท่านั้น ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าผู้แทนลูกจ้างที่เจรจาและลงนามในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับแรกเป็นตัวแทนลูกจ้างเฉพาะที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานท้ายบ้านในขณะที่ทำข้อตกลงซึ่งเป็นตัวการที่แท้จริงเท่านั้น โจทก์เข้ามาเป็นลูกจ้างจำเลยในภายหลัง ไม่อยู่ในฐานะตัวการที่จะรับผลผูกพันจากการกระทำของตัวแทนนั้นเห็นว่าบทบัญญัติ มาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มิได้บังคับโดยเด็ดขาดว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้นให้มีผลผูกพันแต่เฉพาะลูกจ้างที่ลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้อง หรือที่มีส่วนในการเลือกผู้แทนเข้าร่วมในการเจรจา โดยจะผูกพันลูกจ้างอื่นซึ่งนายจ้างประสงค์จะให้ได้รับประโยชน์จากข้อตกลงมิได้ ดังนั้น แม้โจทก์จะมิใช่ลูกจ้างที่ได้มีส่วนในการเลือกผู้แทนเข้าร่วมในการเจรจาข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๑๘ เมื่อจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างมีเจตนาให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับดังกล่าวมีผลผูกพันลูกจ้างในหน่วยงานท้ายบ้านเป็นการทั่วไปมิได้จำกัดแต่เฉพาะผู้ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานท้ายบ้านในวันทำข้อตกลงโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างที่เข้ามาทำงานในหน่วยงานท้ายบ้านในภายหลังก็ได้รับประโยชน์จากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวนั้นด้วย จึงมีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับดังกล่าว
พิพากษายืน