แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาเช่าซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572นั้น เป็นสัญญาเช่าอย่างหนึ่ง ผู้ให้เช่าย่อมมีหน้าที่ส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าให้ผู้เช่าได้ใช้ประโยชน์ตามสัญญา โจทก์ตกลงเช่าซื้อที่ดินเพื่อปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ขายพร้อมที่ดิน มิใช่เช่าซื้อมาเพื่อรับเงินค่าทดแทนการเวนคืนเมื่อจำเลยไม่สามารถส่งมอบที่ดินให้โจทก์ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ตามสัญญาเพราะที่ดินถูกเวนคืน การชำระหนี้ย่อมตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมิได้ จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ย่อมไม่มีสิทธิที่จะชำระหนี้ตอบแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 372 วรรคแรก โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ชำระไปแล้วคืนจากจำเลย
สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน ซึ่งคู่สัญญาต่างมีหนี้ที่จะต้องชำระตอบแทนกัน แม้จำเลยจะหลุดพ้นจากการชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 จำเลยก็ไม่มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ตอบแทนตามมาตรา 372วรรคแรก กรณีเช่นนี้ไม่มีบทกฎหมายใดให้สิทธิจำเลยที่จะได้รับชำระหนี้ฝ่ายเดียวโดยไม่ต้องชำระหนี้ตอบแทน
สัญญาเช่าซื้อนั้น ผู้เช่าซื้อจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 และในกรณีที่การชำระหนี้เป็นพ้นวิสัยตามมาตรา 219 แม้สัญญาไม่เลิกกัน ก็ย่อมระงับเพราะไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าซื้อที่ดินของจำเลยโฉนดเลขที่ 1555ร่วมเป็นเงิน 11,501,600 บาท โดยผ่อนชำระเป็นสามงวดในการทำสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวจำเลยทราบดีว่าโจทก์ซื้อที่ดินเพื่อปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ขายพร้อมที่ดินโจทก์ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยไปแล้ว 1,394,150 บาท พร้อมเช็ค 2 ฉบับโจทก์ขออนุญาตปลูกสร้างอาคารในที่ดินดังกล่าวต่อหมวดควบคุมอาคารฯหมวดควบคุมอาคารฯ ไม่ยอมอนุญาตให้โจทก์ปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ โดยอ้างว่าที่ดินอยู่ในแนวถนนโครงการของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โจทก์ไม่สามารถปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ในที่ดินได้หากโจทก์ชำระเงินให้จำเลยต่อไป จำเลยก็ไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่โจทก์ได้ การชำระหนี้จึงกลายเป็นพ้นวิสัยที่จำเลยจะชำระให้แก่โจทก์ได้ โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและขอเงินค่าเช่าซื้อกับเช็ค2 ฉบับ ที่ได้ชำระไปแล้วคืนแต่จำเลยไม่ยอม ขอให้ศาลบังคับ
จำเลยให้การว่า ได้ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ และได้รับชำระเงินค่าเช่าซื้อพร้อมด้วยเช็ค 2 ฉบับจริง ในขณะทำสัญญาจำเลยไม่ทราบว่ามีทางด่วนผ่านจำเลยหรือแม้แต่โจทก์ก็ไม่เคยคาดหมายว่าที่ดินที่ตกลงซื้อขายนั้นจะถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางด่วน โจทก์จึงตกอยู่ในฐานะต้องเสี่ยงเคราะห์กรรมเอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การเวนคืนที่ดินพิพาทไม่ทำให้การโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวเป็นพ้นวิสัย และการที่ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่มีพระราชกฤษฎีกาเวนคืน ไม่หมายความว่าที่ดินพิพาทติดภาระใด ๆ ซึ่งจะทำให้ติดขัดในการโอนตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 5โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินที่ชำระแล้วคืนแต่จำเลยต้องคืนเช็ค 2 ฉบับตามฟ้องให้โจทก์ พิพากษาให้จำเลยคืนเช็ค 2 ฉบับตามฟ้องให้แก่โจทก์
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,394,150 บาทแก่โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าอย่างหนึ่ง ดังนั้นจำเลยในฐานะผู้ให้เช่าย่อมมีหน้าที่ส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าให้โจทก์ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ตามสัญญาคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ตกลงเช่าซื้อที่ดินรายพิพาทจากจำเลยเพื่อปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ขายพร้อมที่ดิน แต่โจทก์ไม่สามารถเข้าปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ในที่ดินรายพิพาทเพื่อขายพร้อมที่ดินได้ เพราะที่ดินรายพิพาทอยู่ในเขตที่ดินที่จะถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางด่วน สายบางนา – ท่าเรือ ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตพระโขนงและเขตยานนาวากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2522 ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2520 แม้ขณะที่โจทก์จำเลยทำสัญญากันจะยังไม่มีกฎหมายกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางด่วนสายบางนา – ท่าเรือ ข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่าที่ดินรายพิพาทอยู่ในแนวถนนโครงการดังกล่าวอยู่ก่อนแล้วทางการจึงไม่ยอมอนุญาตให้โจทก์ปลูกสร้างอาคารอย่างใด ๆ แล้วต่อมาในระยะเวลาใกล้เคียงกันนั้นก็ได้มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนรวมทั้งที่ดินรายพิพาทด้วยจริงอยู่ที่ดินที่อยู่ในเขตที่เขตที่จะเวนคืนนั้น พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2482มาตรา 46 ตามที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัย ซึ่งต่อมาได้ถูกยกเลิกโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 และมีข้อความทำนองเดียวกันกำหนดไว้ในข้อ 69 มิได้ห้ามโอนกรรมสิทธิ์โดยเด็ดขาดโดยการโอนกรรมสิทธิ์อาจกระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย แต่ที่โจทก์ตกลงเช่าซื้อที่ดินรายพิพาทจากจำเลยก็เพื่อปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ขายพร้อมที่ดิน หาใช่ประสงค์จะเช่าซื้อที่ดินมาเพื่อรับเงินค่าทดแทนการเวนคืนไม่ เมื่อจำเลยไม่สามารถส่งมอบที่ดินรายพิพาทให้โจทก์ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ตามสัญญาเพราะที่ดินถูกเวนคืน การชำระหนี้ย่อมตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมิได้ จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ย่อมไม่มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ตามแทน ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 372 วรรคแรก โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเงินและเช็คที่ชำระไปแล้วคืนจากจำเลย
ที่จำเลยฎีกาว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้ จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินและเช็คให้โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน ซึ่งคู่สัญญาต่างมีหนี้ที่จะต้องชำระตอบแทนกันแม้จำเลยจะหลุดพ้นจากการชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 219 จำเลยก็ไม่มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ตอบแทนตามมาตรา 372 วรรคแรกในกรณีเช่นนี้ไม่มีบทกฎหมายใดให้สิทธิจำเลยที่จะได้รับชำระหนี้แต่ฝ่ายเดียวโดยไม่ต้องชำระหนี้ตอบแทน จำเลยจึงต้องคืนเงินและเช็คให้โจทก์
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญากับจำเลยทั้งโดยข้อสัญญาและข้อกฎหมายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 573 ผู้เช่าซื้อจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้และกรณีการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอันโทษลูกหนี้ไม่ได้ซึ่งลูกหนี้หลุดพ้นจากการชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 นั้น แม้สัญญาไม่เลิกก็ย่อมระงับเพราะไม่มีผลบังคับตามกฎหมายต่อไป
พิพากษายืน