คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2819/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยจ้าง โจทก์เป็นลูกจ้างประจำ โดยให้ทำงานที่โรงงานกระดาษบางปะอิน แล้วจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์แม้จำเลยให้การในตอนต้นว่า จำเลยไม่เคยว่าจ้างโจทก์ ไม่มีนิติสัมพันธ์ทางการจ้าง หรือสัญญาจ้างกับโจทก์ แต่จำเลยได้ให้การเป็นข้อต่อมาว่า โจทก์ทุกคนถูกโรงงานกระดาษบางปะอินเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2531 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างเพียงวันที่ 21 มกราคม 2531 หลังจากนั้นโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างอีก ที่โรงงานกระดาษบางปะอินจ่ายค่าจ้างงวดเดือนมกราคม 2531จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2531 เป็นจำนวนเกินกว่าที่มีสิทธิได้รับจึงฟ้องแย้งเรียกค่าจ้างที่จ่ายเกินจากโจทก์ตามคำให้การดังกล่าวย่อมเห็นได้ชัดว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ จึงมีผลเป็นการยอมรับอยู่ในตัวว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยและจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2531 ตามฟ้อง ทั้งจำเลยยังฟ้องแย้งเรียกค่าจ้างที่อ้างว่าได้จ่ายเกินจากโจทก์อีกด้วย จึงไม่มีประเด็นว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยหรือไม่ จำเลยจ่ายค่าครองชีพให้แก่โจทก์มีจำนวนแน่นอน เป็นการประจำทุกเดือนเพื่อตอบแทนการทำงานเช่นเดียวกับค่าจ้างค่าครองชีพจึงเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง จำเลยรู้ดีอยู่ว่าโจทก์ทุกคนมีสิทธิได้รับค่าจ้างเพียงถึงวันที่ 21 มกราคม 2531 เท่านั้น การที่จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์หลังจากวันดังกล่าวจนถึงวันที่ 31 เดือนเดียวกัน จึงเป็นการจ่ายตามอำเภอใจโดยไม่ปรากฏเหตุที่จะทำให้สำคัญผิดแต่ประการใดจำเลยไม่มีสิทธิเรียกเงินคืน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทุกคนเป็นลูกจ้างประจำ ให้ทำงานที่โรงงานกระดาษบางปะอิน ปรากฏวันเข้าทำงาน ตำแหน่งหน้าที่ค่าจ้างอัตราสุดท้ายและค่าครองชีพของโจทก์แต่ละคนตามบัญชีท้ายฟ้อง ต่อมาเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2531 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุได้โอนกิจการขายให้แก่เอกชน จำเลยได้จ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์โดยมิได้นำเงินค่าครองชีพซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างมารวมคำนวณในการจ่ายเงินบำเหน็จและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ ขอให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในส่วนที่ขาดให้โจทก์แต่ละคน ตามบัญชีรายละเอียดท้ายฟ้อง
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่เคยว่าจ้างโจทก์ไม่ว่าด้วยลายลักษณ์อักษรหรือวาจา จำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ทางการจ้างหรือสัญญาจ้างกับโจทก์ หากศาลฟังว่าจำเลยต้องรับผิดในสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับโรงงานกระดาษบางปะอิน จำเลยขอต่อสู้ว่าโรงงานกระดาษบางปะอิได้จ่ายเงินบำเหน็จ และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ค่าครองชีพไม่ใช่ค่าจ้างโจทก์ไม่มีสิทธินำค่าครองชีพมาคำนวณเป็นเงินบำเหน็จ จำเลยไม่ต้องรับผิดในเงินบำเหน็จ และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอีก โจทก์ทุกคนถูกโรงงานกระดาษบางปะอินเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2531 แต่โรงงานกระดาษบางปะอินจ่ายค่าจ้างงวดเดือนมกราคม 2531 จนถึงวันที่ 31 มกราคม2531 ทำให้โจทก์ได้รับค่าจ้างเกินไป ขอให้ยกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์แต่ละคนคืนค่าจ้างที่ได้รับเกินไปดังปรากฏตามคำขอท้ายฟ้องแย้งพร้อมดอกเบี้ย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โรงงานกระดาษบางปะอินได้จ่ายค่าจ้างงวดเดือนมกราคม 2531 จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2531 จริง แต่เป็นการจ่ายเพื่อชำระหนี้โดยที่โรงงานกระดาษบางปะอินรู้อยู่แล้วว่าไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ดังนั้นทั้งจำเลยและโรงงานกระดาษบางปะอิน จึงหามีสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างที่จ่ายเกินไปนั้นคืนจากโจทก์ไม่
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ค่าครองชีพเป็นค่าจ้างที่จะต้องนำมารวมเพื่อเป็นฐานคำนวณเงินบำเหน็จและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ในช่วงที่โจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้าง และไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างตามอำเภอใจเหมือนหนึ่ว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ จึงเรียกคืนจากโจทก์ไม่ได้
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยให้การว่าจำเลยไม่เคยว่าจ้างโจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยไม่ได้ จำเลยมิได้แถลงรับว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย ประเด็นดังกล่าวจึงไม่ยุติที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยจึงขัดต่อกฎหมาย พิเคราะห์แล้ว โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยตกลงจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำ โดยให้ทำงานประจำที่โรงงานกระดาษบางปะอินปรากฏวันเข้าทำงาน ตำแหน่งหน้าที่ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายและค่าครองชีตามบัญชีท้ายคำฟ้อง แล้วจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์แม้จำเลยให้การในตอนต้นว่า จำเลยไม่เคยว่าจ้างโจทก์ไม่ว่าด้วยลายลักษณ์อักษรหรือวาจา จำเลยจึงไม่มีนิติสัมพันธ์ทางการจ้างหรือสัญญาจ้างกับโจทก์แต่ต่อมาจำเลยได้ให้การไว้เป็นข้อ 3 ว่า โจทก์ทุกคนถูกโรงงานกระดาษบางปะอินเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2531 ฉะนั้นอัตราค่าจ้างของโจทก์ในเดือนมกราคม 2531 โจทก์มีสิทธิได้รับเพียงวันที่ 21มกราคม 2531 หลังจากนั้นโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างอีก ที่โรงงานกระดาษบางปะอินจ่ายค่าจ้างงวดเดือนมกราคม 2531 จนถึงวันที่ 31มกราคม 2531 เป็นจำนวนเกินกว่าที่มีสิทธิได้รับ จึงขอฟ้องแย้งและมีคำขอเรียกค่าจ้างที่เกินจากโจทก์ ตามคำให้การดังกล่าวย่อมเห็นได้ชัดว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ จึงย่อมมีผลเป็นการยอมรับอยู่ในตัวว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยและจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2531 ดังโจทก์ฟ้อง ทั้งจำเลยยังฟ้องแย้งเรียกค่าจ้างที่จำเลยอ้างว่าได้จ่ายเกินจากโจทก์อีกด้วย จึงไม่มีประเด็นว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยหรือไม่ ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วฟังว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยชอบแล้ว
เรื่องค่าครองชีพ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยได้จ่ายค่าครองชีพให้แก่โจทก์ทุกคนมีจำนวนแน่นอน เป็นการประจำทุกเดือนเพื่อตอบแทนการทำงานเช่นเดียวกับค่าจ้าง ค่าครองชีพจึงเป็นค่าจ้างตามกฎหมายและระเบียบดังกล่าว จำเลยจะต้องนำมารวมเป็นค่าจ้างเพื่อเป็นฐานคำนวณเงินบำเหน็จและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งหมดด้วย
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ตามคำฟ้อง คำให้การ ฟ้องแย้ง และคำแถลยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อศาลว่า จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เกินความเป็นจริงเพราะจ่ายผิดพลาดหรือสำคัญผิดในข้อเท็จจริง ที่ศาลแรงงานกลางงดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยจ่ายเงินให้โจทก์ตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระจึงไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏว่าจำเลยได้ให้การไว้ชัดแจ้งในคำให้การข้อ 3 ว่าโจทก์ทุกคนถูกเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2531 ในเดือนดังกล่าวโจทก์จึงมีสิทธิรับค่าจ้างได้เพียงถึงวันที่ 21 หลังจากนั้นไม่มีสิทธิได้รับ ฉะนั้ที่โรงงานกระดาษบางปะอินจ่ายค่าจ้างให้โจทก์จนถึงวันที่ 31 มกราคม2531 โจทก์จึงได้รับค่าจ้างเกินไป เห็นว่าตามคำให้การดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยรู้ดีอยู่ว่าโจทก์ทุกคนมีสิทธิได้รับค่าจ้างเพียงถึงวันที่ 21 มกราคม 2531 เท่านั้น ที่จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์หลังจากวันดังกล่าวจนถึงวันที่ 31 เดือนเดียวกัน จึงเป็นการจ่ายตามอำเภอใจโดยไม่ปรากฏเหตุที่จะทำให้สำคัญผิดแต่ประการใด ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งงดสืบพยาน และวินิจฉัยดังกล่าวจึงชอบแล้ว
พิพากษายืน.

Share